โรงเรียน "มัธยมป่ากลาง" ใช้โยธวาทิต-อังกฤษพัฒนาเยาวชน

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล โรงเรียนจึงมุ่งเน้นถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ แต่การที่น.ร.จะมีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ครูมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะครูคือต้นแบบที่ดีของผู้เรียน http://winne.ws/n10617

1.4 พัน ผู้เข้าชม
โรงเรียน "มัธยมป่ากลาง" ใช้โยธวาทิต-อังกฤษพัฒนาเยาวชน

          สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ "สมศ." จัดกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมสถานศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน โชว์โรงเรียนตัวอย่าง เสริมทักษะให้นักเรียนมีความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ ทั้งยังมีการใช้กิจกรรมบำบัดแก้ไขปัญหาเด็กเกเร ด้วยวิชาลูกเสือและวงโยธวาทิต พร้อมกันนั้น สมศ.จัดสัมมนาให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่อำเภอปัวและอำเภอใกล้เคียง เพื่อนำผลการประเมินไปใช้วางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา

          เบื้องต้น "ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ "สมศ." กล่าวว่า ตัวบ่งชี้มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาของไทย นอกจากพิจารณาทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์แล้ว ตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งของการวัดคือทักษะด้านภาษาอังกฤษ

          จากข้อมูลผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตปีล่าสุด เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ยภาษาอังกฤษเพียง 23.44 จากคะแนนเต็ม 100 ติดอันดับ 2 รั้งท้ายประเทศในอาเซียน และเมื่อเปรียบเทียบในระดับโลกจากข้อมูล EF English Proficiency Index ปี 2015 พบว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยอยู่ลำดับที่ 62 ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Very Low Efficiency หรือระดับต่ำมาก ขณะที่สิงคโปร์ลำดับที่ 12 มาเลเซีย 14 ซึ่งได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มระดับสูง

          "จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเพื่อประเมินคุณภาพภายนอกรอบ3 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในปีที่ผ่านมา สมศ.พบว่าโรงเรียนมัธยมป่ากลางเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของสถานศึกษา ที่ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนที่ห่างไกลและมีผู้เรียนชาวไทยภูเขาที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ แต่มีความสามารถในการเสริมความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน อีกทั้งเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีการใช้กิจกรรมบำบัด ด้วยการนำวิชาลูกเสือและวงโยธวาทิตเข้ามาแก้ไขปัญหานักเรียนขาดระเบียบวินัยได้สำเร็จ"

          "ศ.ดร.ชาญณรงค์"แนะนำด้วยว่า สถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งยังสร้างให้นักเรียนมีคุณลักษณะเด็กไทยปี 2559  คือ "เก่ง ดี งาม" ที่ผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ทดสอบความรู้ความสามารถในระดับชาติ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีคุณธรรมจริยธรรม และมีกิริยามารยาทที่เหมาะสมตามกาลเทศะ

          ทั้งนี้ การที่เยาวชนจะมีลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าวได้ ต้องมีการนำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา สรุปได้ 4 ข้อ ดังนี้

          หนึ่ง ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 8 ขั้นตอนของการประกันคุณภาพภายใน ตามขั้นตอน PDCA (Plan-Do-Check-Act) และจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาเกิดผลตามที่คาดหวัง

          สอง นำผลการประเมินมาปรับปรุงและวางแผนการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

         สาม จัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดแทรกกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เพิ่มการปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้ครูมีการบันทึกหลังการสอน เพื่อนำไปใช้ในการปรับแผนการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อ ๆ ไป

          สี่ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สถานศึกษาควรรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบ เปิดรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน การปรับปรุงพัฒนา และให้ข้อเสนอแนะต่อสถานศึกษา

          ขณะที่ "นิคม พลทิพย์" ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมป่ากลาง กล่าวว่า บุคลากรและนักเรียนของโรงเรียนมีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วยคนเมือง ม้ง ลั๊วะ เมี่ยน และไทลื้อ แต่ละชาติพันธุ์มีภาษาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง ความหลากหลายดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการที่จะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ

          "ในฐานะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลทางโรงเรียนจึงมุ่งเน้นถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ แต่การที่ผู้เรียนจะมีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ครูผู้สอนมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะผู้สอนคือต้นแบบที่ดีของผู้เรียน ทั้งยังเป็นผู้ส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านภาษาให้กับผู้เรียน ครูผู้สอนของเราต้องมีความสามารถ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา"

        ดังนั้นเราจึงมีโครงการพัฒนาความรู้วิชาภาษาอังกฤษให้กับครูในสถานศึกษาก่อน ด้วยการส่งไปอบรมเพิ่มเติมให้เกิดความเชี่ยวชาญ และหาครูภาษาอังกฤษชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารของตัวเองกับบุคคลในพื้นที่หรือประเทศเดียวกัน

        นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากในคาบเรียนโดยให้ผู้เรียนสนทนากันเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนนักเรียนและครู เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเคยชินในการใช้ภาษา จนสามารถทำให้สามารถคว้ารางวัลวิชาการระดับเขตต่าง ๆ มาได้มากมาย อาทิ รองชนะเลิศการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษแบบไม่ได้เตรียมมาก่อน (Impromptu Speech) และรองชนะเลิศการแข่งขันเล่านิทานภาษาอังกฤษ

          "จิรายุ จันทร์เพ็ง" ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง และครูดีเด่นระดับประเทศปี 2556 กล่าวเสริมว่าตนมาเริ่มสอนที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ปี 2547 พบว่านักเรียนบางส่วนมีปัญหาทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้งในโรงเรียน จึงหาวิธีแก้ไขด้วยการสร้างวินัยให้เด็ก ๆ เพราะเมื่อมีวินัยแล้วจะส่งผลให้การพัฒนาด้านอื่น ๆ สำเร็จตามมา

          "เราให้ความสำคัญกับการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากขั้นที่ 1 วิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อระบุปัญหา ขั้นที่ 2 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 3 ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา ขั้นที่ 4 พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียน ขั้นที่ 5 นำวิธีการที่ได้ไปใช้แก้ปัญหา และขั้นที่ 6 สรุปผลการพัฒนาและรายงาน"

         "พร้อมทั้งนำวิชาลูกเสือและวงโยธวาทิตมาให้นักเรียนฝึกซ้อมเล่าเรียน เพราะเป็นวิชาที่สามารถพัฒนาระเบียบวินัย และเป็นการทำให้ผู้เรียนที่มีปัญหาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้เรียนเลิกพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ จนหมดสิ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นโครงการลูกเสือของโรงเรียนใน จ.น่านยังไม่เด่นชัดเท่าในปัจจุบัน"

        นอกจากฝึกซ้อมเล่าเรียนวิชาวงโยธวาทิต เรายังสนับสนุนให้นักเรียนเข้าประกวดวงโยธวาทิตเพื่อแสดงศักยภาพและแสดงจุดเด่นของความเป็นชาติพันธุ์ ด้วยการให้นักเรียนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าเป็นชุดการแสดงวงโยธวาทิต ที่สร้างความแตกต่างและเกิดความภาคภูมิใจ จนได้รับรางวัลเหรียญเงินการประกวดวงโยธวาทิตนักเรียนนักศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน 3 ปีซ้อน ในปี 2549-2551

         "ความสำเร็จจากการนำวิชาลูกเสือและวงโยธวาทิตเข้ามาแก้ไขปัญหา ทำให้ผมได้รับรางวัลครูดีเด่นของคุรุสภา เพราะเป็นผลงานดีเด่นเชิงประจักษ์ที่สามารถแตะต้องได้ และจากการมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำให้ปัญหาการโดดเรียนและทะเลาะวิวาท และปัญหายาเสพติดหมดไปจากโรงเรียนมัธยมป่ากลาง"

          นับว่าการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพนักเรียนของโรงเรียนมัธยมป่ากลางที่มาจากแนวคิด "คุณภาพศิษย์สะท้อนคุณภาพครู" ตามแนวคิดหลักตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ของ สมศ.ในการส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://campus.sanook.com/1380835/

แชร์