จบชีวิตวัย90ปี ‘ฟิเดล คาสโตร’ผู้นำปฏิวัติคิวบา ฮีโร่โลกคอมมิวนิสต์

ประธานาธิบดีราอูล คาสโตรแห่งคิวบา ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่นในประเทศคิวบาว่า ฟิเดล คาสโตร รัฐบุรุษผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติของคิวบาเสียชีวิตลงแล้ว ขณะมีอายุได้ 90 ปี http://winne.ws/n10689

1.9 พัน ผู้เข้าชม
จบชีวิตวัย90ปี ‘ฟิเดล คาสโตร’ผู้นำปฏิวัติคิวบา ฮีโร่โลกคอมมิวนิสต์

สำนักข่าวเอเอฟพี รอยเตอร์และบีบีซีรายงานว่า ประธานาธิบดีราอูล คาสโตรแห่งคิวบา ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่นในประเทศคิวบาว่า ฟิเดล คาสโตร รัฐบุรุษผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติของคิวบาเสียชีวิตลงแล้ว ขณะมีอายุได้ 90 ปี


“ผู้บัญชาการสูงสุดของการปฏิวัติคิวบา ฟิเดล คาสโตร เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเวลา 22.29 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 10.29 น. ตามเวลาไทย)” ราอูล คาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา ซึ่งเป็นน้องชายของฟิเดล คาสโตร ประกาศผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 ย่างเข้าวันที่ 26 พฤศจิกายน (ตรงกับ 12.00 น.วันเดียวกันในไทย) โดยไม่ได้ระบุถึงสาเหตุของการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ประธานาธิบดีราอูล คาสโตร น้องชายที่รับช่วงต่ออำนาจจากฟิเดลตั้งแต่เมื่อปี 2549 เปิดเผยว่า ศพของฟิเดลจะได้รับการประกอบพิธีเผาทันทีในช่วงเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของฟิเดล คาสโตร

รัฐบาลคิวบาประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 9 วันระหว่าวันที่ 26 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม และระบุว่าอัฐิของฟิเดล คาสโตรจะถูกนำไปฝังในพิธีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคมที่เมืองซานติอาโก

จบชีวิตวัย90ปี ‘ฟิเดล คาสโตร’ผู้นำปฏิวัติคิวบา ฮีโร่โลกคอมมิวนิสต์ฟิเดล คาสโตรกับมีฮาอิล กอร์บาชอฟ / (FILES) / AFP PHOTO / ROBERT SULLIVAN AND –

บรรดาผู้นำโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของคาสโตร โดยมีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตยกย่องคาสโตรว่าเป็นสัญลักษณ์ของสังคมนิยมที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศเกาะเล็กๆ ของตน และเสริมว่า คาสโตรจะได้รับการจดจำในฐานะนักการเมืองผู้โดดเด่นที่สามารถทิ้งร่องรอยของสิ่งที่ตนเองสร้างไว้ได้อย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกแถลงการณ์ผ่านทำเนียบประธานาธิบดีเครมลินยกย่องคาสโตรว่า เป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่สร้างคิวบาที่เสรีและมีอิสรภาพจนกลายเป็นสมาชิกที่สำคัญของประชาคมนานาชาติ และเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนในหลายประเทศ

ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลาที่เป็นพันธมิตรยาวนานของคิวบา ระบุว่า คาสโตรเป็นแรงบันดาลใจและจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในเวเนซุเอลา ขณะที่ประธานาธิบดีราฟาเอล โกเรอาของเอกวาดอร์ระบุว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่ได้จากเราไปแล้ว ฟิเดลเสียชีวิตแล้วแต่คิวบาจงเจริญ และละตินอเมริกาจงเจิญ

ขณะที่สื่อของทางการเวียดนามสดุดีคาสโตรโดยระบุว่า ฟิเดล คาสโตรเป็นสหายที่ยิ่งใหญ่ เป็นมิตรและเป็นพี่น้องที่สนิทสนมของเวียดนาม ด้านประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ผู้นำจีน ชาติมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันกล่าวเชิดชูอดีตผู้นำคิวบาว่า จีนได้สูญเสียสหายที่ดีและมิตรแท้ไป “สหายคาสโตรจะอยู่ในใจของเราไปตลอดกาล”

ประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมาของแอฟริกาใต้ กล่าวขอบคุณความช่วยเหลือของคาสโตรในการช่วยยุติการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ของฝรั่งเศสระบุว่า ฟิเดล คาสโตร ถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 20 เป็นศูนย์รวมการปฏิวัติทั้งในแง่ของความหวังและความผิดหวังที่ตามมาในเวลาต่อมา

ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนญา นีเอโตของเม็กซิโกทวีตข้อความว่า “ผมเสียใจต่อการจากไปของฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติคิวบาและเป็นสัญลักษณ์ของศตวรรษที่ 20”
ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติที่สร้างรัฐคอมมิวนิสต์ติดหน้าประตูบ้านของสหรัฐอเมริกา ปกครองคิวบาโดยใช้ส่วนผสมระหว่างบารมีและความแน่วแน่มาตลอด 49 ปี ด้วยระบบพรรคการเมืองเดียว ก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2549 เนื่องจากประสบปัญหาด้านสุขภาพป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ที่ทำให้เขาเกือบเสียชีวิต และส่งมอบอำนาจให้ราอูลน้องชายรับช่วงต่ออย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีต่อมา

จบชีวิตวัย90ปี ‘ฟิเดล คาสโตร’ผู้นำปฏิวัติคิวบา ฮีโร่โลกคอมมิวนิสต์ชาวคิวบาที่ลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐแสดงความยินดีเมื่อทราบข่าว / AFP PHOTO / RHONA WISE

ชาวคิวบาในกรุงฮาวานาแสดงความเศร้าโศกเสียใจที่ได้รับทราบข่าว ขณะที่ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้อพยพชาวคิวบาซึ่งลี้ภัยจากการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์มาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งถึงกับเฉลิมฉลองแสดงความดีใจด้วยการขับรถยนต์ออกมาบีบแตรตามท้องถนน หรือไม่ก็นำอุปกรณ์เครื่องครัวเช่นหม้อ กะทะ ตะหลิวมาเคาะเป็นจังหวะพร้อมโห่ร้องแสดงความยินดี

ฟิเดล คาสโตร เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2469 ในเมืองบิรานทางตะวันออกของประเทศคิวบา เป็นลูกของผู้อพยพชาวสเปนที่ต่อมามีฐานะร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของที่ดิน

ด้วยความเกรี้ยวกราดต่อสภาพสังคมและการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการของนายพลฟุลเคนซิโอ บาติสตา ฟิเดล คาสโตรได้เริ่มต้นการปฏิวัติคิวบาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2496 ตัวการบุกโจมตีค่ายทหารมอนกาดาในเมืองซานติอาโก ทางตะวันออกของประเทศแต่ล้มเหลว

“ประวัติศาสตร์จะยกโทษให้ผม” คาสโตรประกาศขณะเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ก่อนที่จะถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก 15 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2498 หรือเพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้น นับเป็นการอภัยโทษที่ตามมาหลอกหลอนนายพลบาติสตาในเวลาต่อมา

คาสโตรลี้ภัยมาอยู่ที่เม็กซิโกและเตรียมพร้อมในการระดมกองกำลังปฏิวัติเล็กๆ เพื่อต่อสู้กับนายพลบาติสตา ในจำนวนนี้มีเอร์เนสโต “เช” เกวารา ผู้ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นคู่หูร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ของคาสโตรมาโดยตลอด

ในเดือนธันวาคม 2499 คาสโตรและกองกำลังปฏิวัติผู้ติดตามอีก 81 คนที่รวมเอากลุ่มคนหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันนั่งเรือยอชต์ชื่อ “แกรนมา” ที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างมากมายังคิวบา แต่ถูกกองทัพรัฐบาลซุ่มโจมตีเมื่อเรือเทียบท่าที่ฝั่งตะวันออกของคิวบาและหนีรอดมาได้เพียง 12 คนเท่านั้น ซึ่งรวมถึงฟิเดล ราอูลน้องชาย และเกวารา

ฟิเดลและผู้ติดตามที่เหลือหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารของเทือกเขาเซียร์รามาเอสตรา รวบรวมกองกำลังนักรบปฏิวัติได้หลายพันคน และสามารถโค่นล้มนายพลบาติสตาลงได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2502 ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีกว่าเท่านั้น

คาสโตร นักกฎหมายที่นับถือนิกายพระเยซูอิต 1 ในนิกายย่อยของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก เริ่มต้นปกครองคิวบาและเปลี่ยนแปลงสังคมของคิวบาไปสู่การเป็นสังคมสมภาคนิยมหรือยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน รัฐบาลของเขาพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนยากจนที่สุดและระดับการรู้หนังสือให้เทียบเท่ากับประเทศร่ำรวย และขจัดอิทธิพลของกลุ่มมาเฟียออกไปจนหมด แต่คาสโตรยอมรับความเห็นต่างน้อยมาก โดยการสั่งจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐและผูกขาดสื่อทั้งหมด

ฝ่ายต่อต้านคาสโตรตราหน้าเขาว่าเป็นเผด็จการและมีหลายแสนคนหลบหนีออกจากประเทศ มีจำนวนมากไปตั้งรกรากอยู่ที่รัฐฟลอริดา ในสหรัฐ และส่วนหนึ่งมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของสหรัฐที่มีต่อคิวบารวมถึงมีการฝึกฝนและวางแผนลอบสังหารคาสโตรด้วย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

ในช่วงแรกภายใต้การปกครองคิวบาของคาสโตรซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความตึงเครียดของสงครามเย็นพุ่งสูงถึงขีดสุด คาสโตรนำคิวบาเข้าเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตซึ่งปกป้องคุ้มครองและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของคิวบามาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ โดยโซเวียตให้เงินช่วยเหลือคิวบาปีละ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงอาวุธปืน

แต่นั่นเป็นการจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์มิสไซล์คิวบาปี 2499 ที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตอ่าวหมู เมื่อสหรัฐค้นพบว่ามีขีปนาวุธของโซเวียตติดตั้งอยู่ที่คิวบา คาสโตรที่เชื่อว่าสหรัฐกำลังวางแผนที่จะบุกคิวบาได้เรียกร้องให้โซเวียตยิงนิวเคลียร์ใส่สหรัฐ แต่โชคดีที่นีกีตา ครุชชอฟ ประธานาธิบดีโซเวียตในขณะนั้นกับประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ของสหรัฐเห็นพ้องกันว่า โซเวียตจะถอนการติดตั้งมิสไซล์ออกไปแลกกับคำมั่นสัญญาของสหรัฐว่าจะไม่รุกรานคิวบา นอกจากนี้ สหรัฐยังตกลงที่จะยอมถอนการติดตั้งขีปนาวุธของตนในตุรกีออกไปอย่างลับๆ ด้วย

ในปี 2505 สหรัฐบังคับใช้การปิดล้อมทางการค้าเต็มรูปแบบต่อคิวบาซึ่งคาสโตรโทษว่าเป็นสาเหตุสำคัญในความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจของคิวบา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาสโตรได้แผ่ขยายอิทธิพลด้วยการส่งกำลังหารคิวบาเข้าร่วมสงครามในพื้นที่ห่างไกลซึ่งรวมถึงทหาร 350,000 นายในแอฟริกา โดยทหารคิวบาให้การสนับสนุนอย่างสำคัญต่อรัฐบาลปีกซ้ายในแองโกลา ช่วยเหลือในสงครามประกาศเอกราชของนามิเบีย และช่วยยุติการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

นอกจากนี้ คาสโตรยังสร้างมิตรด้วยการส่งหมอชาวคิวบาหลายหมื่นคนไปช่วยเหลือให้การรักษาคนยากจนในต่างประเทศและนำคนหนุ่มจากประเทศกำลังพัฒนามาเรียนแพทย์ในคิวบา ผู้นำแนวคิดฝ่ายซ้ายของละตินอเมริกาจำนวนมากหลายรุ่นต่างชื่นชมนโยบายสังคมนิยมของคาสโตร รวมถึงการท้าทายอำนาจสหรัฐที่หน้าประตูบ้าน ห่างจากรัฐฟลอริดาเพียงแค่ 145 กิโลเมตรเท่านั้น

คาสโตรเอ่ยอ้างว่าเขาสามารถรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารตนเองของสหรัฐมาแล้วหลายร้อยครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มีสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) อยู่เบื้องหลังด้วย
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 คิวบาที่ถูกโดดเดี่ยวตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงที่กินเวลานานหลายปี และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ช่วงเวลาพิเศษ” คาสโตรได้ใช้มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจเบื้องต้นหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เศรษฐกิจคิวบาดีขึ้นเมื่อ ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ผู้นำสังคมนิยมเวเนซุเอลาที่เคารพยกย่องคาสโตรว่าเป็นฮีโร ยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยน้ำมันราคาถูก รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจถดถอยในเวเนซุเอลานับตั้งแต่ชาเวซถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2556 ทำให้เวเนซุเอลาต้องลดระดับความช่วยเหลือที่ให้กับคิวบาลง

สำหรับชาวคิวบาส่วนใหญ่แล้ว ฟิเดล คาสโตร ถือเป็นบุคคลสำคัญที่พบเห็นได้และอยู่ในทุกแง่มมุมมาตลอดชีวิต หลายคนยังคงรักเขาและมีความศรัทธาในอนาคตของคอมมิวนิสต์ ขณะที่อีกหลายคนที่แม้จะละทิ้งความเชื่อทางการเมืองแบบของคาสโตรไปแล้วก็ยังมองเขาอย่างเคารพยกย่อง ขณะที่มีอีกส่วนหนึ่งที่มองว่าคาสโตรเป็นเผด็จการที่ทำลายประเทศคิวบา


ขอบคุณ, http://www.matichon.co.th/news/373961

แชร์