"ผู้ชนะสิบทิศ".. นวนิยายปลอมพงศาวดารพม่าที่อิงเรื่องจริงเพียง 8 บรรทัด

โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) ได้ประพันธ์ "ผู้ชนะสิบทิศ" ขึ้นด้วยลีลาและชั้นเชิงอย่างเยี่ยมยอดด้วยความ ละเมียดละไม มีเสน่ห์โดยอาศัยเค้าเรื่องจากพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด ใช้เวลาเขียนถึง 8 ปี http://winne.ws/n11168

1.0 หมื่น ผู้เข้าชม
"ผู้ชนะสิบทิศ".. นวนิยายปลอมพงศาวดารพม่าที่อิงเรื่องจริงเพียง 8 บรรทัดภาพจาก google.com

         " ผู้ชนะสิบทิศ" เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ งานประพันธ์ชิ้นเอกของ โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ)  กล่าวถึงเรื่องราวของนักรบผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" นั่นคือ พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี นวนิยายได้รับความนิยมมากและดัดแปลงเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์ และ ภาพยนตร์ หลายครั้ง ตลอดจน ละครวิทยุ รวมถึงมีการประพันธ์เพลง ผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้วย

            พิจารณาจากเนื้อหาแล้ว โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ)  อ้างอิงจากพงศาวดารพม่า ที่เรียบเรียงโดยสมเด็จฯกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในเรื่องเหตุการณ์หลักค่อนข้างตรง ตัวละครจำนวนมากก็มีตัวตนกันทั้งนั้น  ทั้งพระเจ้านรบดีเมืองแปร สการะวุตพี สอพินยา โสหันพวา 

          เหตุการณ์ต่างๆอย่างศึกตีเมืองแปร เมืองหงสาวดี เมาะตะก็อิงตามพงศาวดารฉบับนี้ตรงๆ ซึ่งดูแล้ว ประวัติศาสตร์พม่าหลักๆที่ยาขอบเอามาอ้างอิงในนิยายน่าจะเป็นแค่ส่วนประวัติชาติกำเนิดของจะเด็ดเท่านั้น

          นิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ 3 เมืองใหญ่ ที่ โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) นำมาถูกผูกเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่การเมือง การรบ ความแค้นและความรัก อันประกอบด้วย 

           "ตองอู"   "แปร" และ  "หงสาวดี" อันเป็นเมืองมอญ มีพระเจ้าสการะวุตพี เป็นกษัตริย์ มีมเหสี ซึ่งต่อมาก็เป็นหนึ่งในภริยาของจะเด็ดในชื่อตละแม่มินบู 

             ทั้ง 3 เมืองรบกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง และผู้ชนะสุดท้ายคือ"จะเด็ด" หรือ"บุเรงนอง" ขุนพลเอกของ"พระเจ้าตะเบงชะเวตี้" แห่งตองอู 

"ผู้ชนะสิบทิศ".. นวนิยายปลอมพงศาวดารพม่าที่อิงเรื่องจริงเพียง 8 บรรทัดภาพจาก teenee.com

          โดยในประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) กษัตริย์พม่าพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์ตองอู อาจจะเป็นกษัตริย์พม่าองค์ที่คนไทยหรือชาวต่างชาติรู้จักดีที่สุด ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2059 ก่อนพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ 1 เดือน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามเดิมของพระองค์ออกเสียงว่า "จะเต็ด" แปลว่า "เจ้าปลวกไต่" ("จะ"หมายถึงปลวก "เต็ด"หมายถึง ไต่ หรือ ป่ายปีน) ขณะที่ในนิยาย "ผู้ชนะสิบทิศ" ถูก"ยาขอบ"ตั้งชื่อว่า"จะเด็ด"

          อีกหลักฐานระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ "เชงเยทุต" ซึ่งแปลว่า "เจ้ายอดผู้กล้า" ("เชง"เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ "เย"หมายความว่า กล้าหาญ และ "ทุต"แปลได้หลากหลาย รวมทั้งแปลว่า ยอด)

          ใน"ผู้ชนะสิบทิศ" จะเด็ดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ประวัติศาสตร์พม่าระบุว่าพระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์(บ้าง) เพราะเป็นบุตรชายของ"เมงเยสีหตู" ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และเป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้เคารพ เพราะมี 2 สถานะ คือหนึ่งเป็นพระอาจารย์ และอีกสถานะคือนเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เพราะบุตรีของเมงเยสีหตู ก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้(ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของบุเรงนอง)

          ที่เกี่ยวเนื่องต่อก็คือ พระพี่นางของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งในนิยายเรื่อง"ผู้ชนะสิบทิศ"ก็คือ"ตละแม่จันทรา"

          พระนามของพระเจ้าบุเรงนอง ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า "บาเยนอง" ซึ่งแปลว่า "พระเชษฐาธิราช" และมีพระนามเต็มว่า "บาเยนองจอเดงนรธา" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "บุเรงนองกะยอดินนรธา") แปลว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภิหาร" โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพี กษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์

          พระนามต่างๆของบุเรงนองก็มีอีกมาก เช่น "เซงพะยูเชง" แปลว่า "พระเจ้าช้างเผือก" หรือ "ตะละพะเนียเธอเจาะ" แปลว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม "บราจินโนโค่" (Braginoco)

          ในประวัติศาสตร์พม่า พระเจ้าบุเรงนอง เป็น 1 ใน 3 กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของพม่า ถือเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิรวดีจนถึงแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่างๆมากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี ล้านช้าง ไทยใหญ่ เขมร ญวน อยุธยา เชียงใหม่ เป็นต้น

          อีกหนึ่งเรื่องที่ประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ คือพระเจ้าบุเรงนองเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจ เพราะสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญๆของประเทศราชต่างๆเข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ประกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระนเรศวรมาหราชและพระพี่นางนั่นเอง

          "บุเรงนอง"เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2094 ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พร้อมสร้างพระราชวังของพระองค์ที่กรุงหงสาวดี ชื่อ"กัมโพชธานี" (Kamboza Thadi Palace) ซึ่งเป็นพระราชวังใหญ่โตมาก

          พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2124 ด้วยพระโรคชรา และความยิ่งใหญ่ของพระองค์ จึงมีพระราชอนุสาวรีย์มากมายหลายแห่งในพม่า 

          เพราะชีวประวัติที่น่าสนใจ รวมทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าที่เกิดขึ้นในยุคนั้นสนุก ทำให้"ยาขอบ"เกิดแรงบันดาลใจให้เขียนนิยายขึ้นมาในชื่อ"ผู้ชนะสิบทิศ" ด้วยการเสริมแต่งเรื่องให้"จะเด็ด"เก่งเกินจริง...จนเป็นพระเอกในฝันของผู้อ่านยุคนั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก oknation.nationtv.tv และ wikipedia.org

แชร์