รักลูกให้ตี ได้ดีจริงหรือ?

“การตีเด็กอาจเป็นเพียงการระบายอารมณ์ของผู้ตี ทำไมไม่ลองเปลี่ยนความคิดว่า ที่เขาเป็นอย่างนี้เพราะวัยและพัฒนาการของเขา ที่สมองกำลังเติบโต อาจคิดไม่ทันตามคำพูดห้าม-อย่า ฯลฯ http://winne.ws/n11519

972 ผู้เข้าชม
รักลูกให้ตี ได้ดีจริงหรือ?

       การสั่งสอนหรือลงโทษลูกด้วยการตี หรือดุด่าว่ากล่าว ในศตวรรษที่ 21 ถูกผิดอย่างไรทั้งในแง่หลักกฎหมายและจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กได้มาไขคำตอบในงานประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่?) พ.ศ. ? จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมเอเชีย      เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

       เริ่มที่ในแง่กฎหมาย นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ รองประธานอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เล่าว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบัน มาตรา 1567 วงเล็บ 2 ระบุให้ผู้ปกครองสามารถทำโทษบุตรได้ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แต่ที่ผ่านมาพบถูกแปลความหมายผิด คือผู้ปกครองสามารถเฆี่ยนตีลูกได้ จริงๆ อย่างนี้ถือเป็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งหากมีคดีความฟ้องร้องขึ้นมาในชั้นศาล อาจเสียสิทธิการดูแลบุตร ฉะนั้นครั้งนี้จึงต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน โดยเพิ่มในส่วนการทำโทษตามสมควร ที่ไม่ใช้วิธีเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายจิตใจ หรือวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน

       ทว่าในวงเสวนากลับแสดงความเป็นห่วงถึงทัศนคติความเชื่อเดิมๆ ที่อาจต้องใช้เวลาก้าวตาม หรืออาจไม่ก้าวตามเลย อย่างประเทศเยอรมนีที่ปรับปรุงกฎหมายตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ห้ามลงโทษบุตรด้วยการตี มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ผ่านมา 16 ปี ผลสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนเยอรมนี ร้อยละ 80 ยังถูกผู้ปกครองลงโทษด้วยการตบหัว ขณะที่ประเทศออสเตรียที่ปรับปรุงกฎหมายห้ามลงโทษบุตรด้วยการตีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 หรือผ่านไปกว่า 30 ปี ผู้ปกครองออสเตรียร้อยละ 70 ก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด เชื่อว่าสามารถตีได้ถ้าเหมาะสม จึงจำเป็นรู้จักจิตวิทยาเด็ก เพื่อเข้าใจว่าการถูกตีได้ดีจริงหรือไม่

      ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ได้ศึกษาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2554-2559 พบว่าเด็กไทยร้อยละ 80 ในเวลา 20 นาที จะได้ยินคำพูดเชิงลบ เช่น ห้าม ไม่ อย่า หยุด ประชด ล้อเลียน อย่างน้อย 7 ครั้ง และมากสุด 47 ครั้ง โดยจากการศึกษาพบว่าการต่อว่า การทำร้ายจิตใจ และทำร้ายร่างกาย ล้วนมีผลต่อพัฒนาสมองเด็ก เช่น ความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และประสบการณ์ที่ไม่ดี จะทำให้เขาเป็นเด็กเห็นแก่ตัว โทษคนอื่น และโกหก นอกจากนี้จะพบว่าเด็กเหล่านี้จะมีพฤติกรรม เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่เป็น ก่อพฤติกรรมที่ไม่คาดหวัง เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทะเลาะวิวาท ติดยาเสพติด

      “การตีเด็กอาจเป็นเพียงการระบายอารมณ์ของผู้ตี ทำไมไม่ลองเปลี่ยนความคิดว่า ที่เขาเป็นอย่างนี้เพราะวัยและพัฒนาการของเขา ที่สมองกำลังเติบโต อาจคิดไม่ทันตามคำพูดห้าม-อย่า เช่น ตะโกนอย่าวิ่ง เด็กรู้จักแต่คำว่าวิ่ง เขาก็จะวิ่ง การตะโกนยังทำให้เด็กกลัว ทำลายความมั่นใจ และรู้สึกไม่สนุก ลองเปลี่ยนเป็นกระซิบว่าเดินช้าๆ หรือเปลี่ยนจากสั่งให้เด็กเลือกแทนการสั่ง เช่น ให้เลือกว่าวันนี้จะให้พ่อหรือแม่อาบน้ำให้ เด็กก็จะเลือกแม้จะอาบทั้งดิ้นๆ ซึ่งการกระตุ้นแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เขาเป็นเด็กที่กล้าตัดสินใจ ไม่ลังเล ส่วนการลงโทษที่จะไม่ส่งผลกระทบทั้งด้านจิตใจและร่างกายนั้น ให้เลือกวิธีตัดค่าขนม ไม่ให้ดูโทรทัศน์ ไม่ให้ออกจากบ้าน ในขณะที่ให้เขากินอิ่มนอนหลับ ให้ความอบอุ่นความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเหมือนเดิม” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าว

       ภายในงานได้นำเคล็ดลับการเลี้ยงเด็กอย่างเข้าใจตาม 101 เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก เช่น เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ต้องชมเชย ขอบคุณ กอด, เสนอทางเลือกที่ยอมรับได้ ให้เด็กตัดสินใจเลือก, บอกสิ่งที่ต้องการให้เด็กทำ เมื่อทำเสร็จก็ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการ, มองตา พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลเพื่อทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นเป็นมิตร และให้ลองกระซิบหรือใช้เสียงเบาๆ เมื่อต้องการเรียกความสนใจจากเด็ก เขาสงสัยละว่าพ่อแม่คุยอะไรกัน แต่ทั้งนี้ ใช่ว่าพ่อแม่จะตามใจลูก เพราะใจดีได้แต่ต้องไม่ใจอ่อน เช่น เรื่องการบ้าน ที่จากเดิมบอกว่าการบ้านไม่เสร็จไม่ต้องไปเล่น เปลี่ยนเป็นหากไม่ทำการบ้าน ก็แสดงว่าเลือกที่จะไม่เล่น ซึ่งพ่อแม่จะต้องใจแข็งเพื่อสร้างวินัยให้เขา

แชร์