ทำไม "เทอร์มินอล21 โคราช" จึงกลายเป็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ?

การทำธุรกิจที่เริ่มด้วยใจที่เป็นผู้ให้ และนึกถึงผู้อื่น อยากให้ทุกฝ่ายประสบความสำเร็จ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่จะทำให้ทั้ง เจ้าของธุรกิจ คู่ค้า และลูกค้า มีชัยชนะไปด้วยกัน http://winne.ws/n12039

2.7 พัน ผู้เข้าชม
ทำไม "เทอร์มินอล21 โคราช" จึงกลายเป็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ?

 สรกล อดุลยานนท์  เขียนถึงปรากฏการณ์ของ"เทอร์มินอล 21"ที่โคราช ไว้อย่างน่าสนใจ ในคอลัมน์ Market-think ของเว็บไซต์ของประชาชาติธุรกิจ ว่า


นาทีนี้ทั้ง "เซ็นทรัล" และ "เดอะมอลล์" คงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ บ้างแล้ว

หลังจาก "เทอร์มินอล 21" เปิดตัวที่โคราช

เพราะกลายเป็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ที่ไม่ได้จำกัดวงแค่เพียงในตัวจังหวัดนครราชสีมา

แต่เป็นปรากฏการณ์ที่คนจับตามองทั่วประเทศ

ตอนที่ "เทอร์มินอล21" เปิดตัวครั้งแรกใน กทม. ครั้งนั้นก็ฮือฮามาก

เป็นกระแส "ฮอตฮิต" ในแวดวงโซเชียลมีเดีย

ระดับใครไม่ได้ไป...เอาต์

ทั้งที่เปิดตัวช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

การแจ้งเกิดครั้งแรกในเมืองกรุงยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

แต่การเปิดสาขาใหม่ที่โคราชแล้วยังฮือฮาอีก

แบบนี้ไม่ธรรมดาแล้ว

ต้องมีอะไรบางอย่างผิดปกติ

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ตัวเจ้าของ "เทอร์มินอล21" ครับ

"อนันต์ อัศวโภคิน" แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ประการแรก เขามี "เงิน"

ประการที่สอง เขาเป็นนักพัฒนาที่ดินที่เก๋าที่สุดในวงการ

คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ทุกคน "ใจถึง"

"ช็อปปิ้งมอลล์"
 ก็คือการพัฒนาที่ดินรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ประการสุดท้าย ที่น่าสนใจที่สุด คือ "อนันต์" ไม่ใช่คนที่มาจากวงการค้าปลีก

เขามาจากอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม

มีประสบการณ์ค้าปลีกอยู่บ้างจาก "โฮมโปร" และ "แฟชั่นไอส์แลนด์"

แต่ไม่ใช่คนเก่าแก่ในวงการนี้

การที่ไม่เคยอยู่ในสังเวียนนี้ ทำให้เขาไม่ติดกับ "กรอบความคิด" เดิม ๆ ของธุรกิจค้าปลีก

"เทอร์มินอล 21" จึงสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ตั้งแต่ "ห้องน้ำ" ที่ใช้สุขภัณฑ์สุดหรู

ศูนย์อาหารที่อร่อยและถูกมาก เพราะคุณอนันต์ไม่เก็บค่าเช่า

ต้องการดูดคนให้เข้ามาทานอาหารที่นี่

สร้าง "ทราฟฟิก" ให้ร้านค้า

"เทอร์มินอล 21" ที่โคราชก็เช่นกัน เขาไม่เก็บค่าเช่าร้านค้าในเดือนแรก

เป็นการดูแล "คู่ค้า" ที่มาร่วมเป็นร่วมตายกับเขา

หลักคิดง่าย ๆ ก็คือ "ร้านค้า" ต้องรอดก่อน

"เทอร์มินอล 21" จึงจะรอด

"อนันต์" คิดถึง "ร้านค้า" เหมือนกับ "ลูกค้า" ที่มาซื้อบ้าน

จุดเด่นของ "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" คือ บริการหลังการขาย

สร้างความประทับใจ เพื่อให้ลูกค้าบอกต่อ

เพราะการตลาดแบบ "บอกต่อ" เป็นการตลาดที่มีพลังที่สุด

หรืออีกวิธีคิดหนึ่งที่วงการค้าปลีกตะลึง

นั่นคือ กลยุทธ์การตีฝ่าวงล้อมของ 2 ยักษ์ค้าปลีก

ศูนย์การค้าในเมืองไทยจะมีรายใหม่แจ้งเกิดยาก เพราะจะถูกบล็อกจากรายเก่า

ระดับที่ถ้าไปเปิดร้านกับรายใหม่ ก็หมดสิทธิ์เปิดร้านใหม่กับรายเก่า

แต่บางที "ปัญหา" ก็กลายเป็น "โอกาส"

สาขาแรกที่อโศก คุณอนันต์จึงต้องปรับแผนใหม่ไปดึงร้านเล็ก ๆ จากสวนจตุจักร งาน Big ฯลฯ

ไปโคราชก็มี "ฟู้ดแลนด์" เป็นพันธมิตร

เขาสร้าง "คู่ค้า" ใหม่ ๆ ขึ้นมา

และที่สำคัญที่สุด คือ กลยุทธ์การดึงร้านแบรนด์ใหญ่ ๆ จากเมืองนอกมาลงที่ "เทอร์มินอล 21"

ไม่ใช่แค่คิดค่าเช่าราคาถูก

แต่ให้ยิ่งกว่านั้น

วิธีคิดเรื่องนี้ง่ายมากเลยครับ

เขาคิดว่าร้านแบรนด์ใหญ่ๆนี้เป็น "แม่เหล็ก" ตัวหนึ่ง

เหมือนจัดอีเวนต์ให้คนเข้าห้าง

จัดอีเวนต์เพื่อดึงลูกค้าเข้าห้างต้องเสียตังค์

ก็คิดแบบเดียวกันแค่นั้นเอง

โครงการลงทุนไปตั้งหลายพันล้าน เสียค่าจัดอีเวนต์แค่10 ล้าน

จะเสียดายทำไม

ที่สำคัญเป็น "อีเวนต์" ทุกวันด้วย

ปรากฏการณ์ "เทอร์มินอล 21" ครั้งนี้เป็นบทเรียนทางการตลาดที่สำคัญ

การรับมือกับ "คู่แข่ง" ที่อยู่ในสนามเดียวกันไม่ยาก

เพราะคุ้นมือและคิดไม่แตกต่างกัน

แต่ถ้าเผชิญหน้ากับคู่แข่งจากอีกธุรกิจหนึ่งซึ่งไม่ติดกับ "กรอบเดิม"

เขาจะเปิดกลยุทธ์ใหม่ที่เรานึกไม่ถึง

ต้องระวังให้ดี



ขอขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483593332

แชร์