ป่าภาคใต้เหลือ 23% สาเหตุใหญ่น้ำป่าทะลักท่วมพื้นที่รุนแรง

การเหลือพื้นที่ป่าเมื่อเปรียบเทียบขนาดเนื้อที่ของจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดเพียง 23.99% จากที่เคยมีสภาพเป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ถือว่าเหลือพื้นที่ป่าไม้น้อยมาก http://winne.ws/n12159

1.1 พัน ผู้เข้าชม

ป่าภาคใต้เหลือ 23% สาเหตุใหญ่น้ำป่าทะลักท่วมพื้นที่รุนแรง

           กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ พื้นที่ป่าภาคใต้เปลี่ยนสภาพเหลือแค่ 23% ของเนื้อที่ ซึ่งเป็นเพราะสภาพพื้นที่เปลี่ยนเป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันส่งผลทำให้ความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงมาก ด้านกรมป่าไม้เตรียมเขียนระเบียบห้ามปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูงชัน

           รายงานข่าวจากกรมป่าไม้ ระบุว่า สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปสถิติพื้นที่ป่าไม้ปี 2558 ทำให้เห็นว่า ภาคใต้ของไทยทั้ง 14 จังหวัด มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 46 ล้าน 1 แสน ไร่ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ป่าเหลือเพียง 11 ล้านไร่ หรือ 23.99% ของเนื้อที่ทั้งหมด ลดลงจากช่วง 7 ปีที่แล้วที่มีพื้นที่ป่าเหลือ 26.44% ของเนื้อที่ทั้งหมดโดยพื้นที่ป่าที่ลดลงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้ความรุนแรงของน้ำท่วมในขณะนี้เพิ่มขึ้น

           จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเนื้อที่จังหวัด คือ จ.ระนอง มีเนื้อที่ 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าถึง 1 ล้านไร่ คิดเป็น 53.18% ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเหลือน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อที่จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ซึ่งมีเนื้อที่จังหวัด 1.2 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ป่า 6.3 หมื่นไร่ หรือเพียง 5.14%

            ซึ่งการเหลือพื้นที่ป่าเมื่อเปรียบเทียบขนาดเนื้อที่ของจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดเพียง 23.99% จากที่เคยมีสภาพเป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ถือว่าเหลือพื้นที่ป่าไม้น้อยมาก

เตรียมออกระเบียบห้ามปลูกยางในเขตป่า

            ชลธิศ สุรัสวดี นายอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ในอนาคตจะไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพารา ในพื้นที่สูงชันที่อยู่ในเขตป่าไม้ แต่จะต้องปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นแซมเข้าไปด้วย ทำในลักษณะสวนผสม ระหว่างยางพารากับไม้ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดหน้าดิน เพราะยางพาราที่ปลูกในปัจจุบัน ไม่มีรากแก้วคอยยึดเกาะดิน ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะอยู่ในร่างการแก้ไขที่ดินทำกินในเขตพื้นที่ป่า 30 มิ.ย. 2541 โดยกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาระบบนิเวศเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่า และให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนได้

ที่มา:     NOW26.TV     >     พิกัดข่าวเช้า       /       วันที่ 11 มกราคม  2560

แชร์