กรมศิลป์ชี้เสมาโบราณที่กาฬสินธุ์อยู่ในยุคสมัยทวารวดี

นักโบราณคดี กรมศิลปากร ชี้ใบเสมาพบใหม่บ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 12-16 คาดอายุราว 1000-1200 ปี เป็นใบเสมาหินทรายกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ ราชการขอความร่วมมืออย่าลูบ ทาแป้ง ปิดทอง หวั่นทำให้โบราณวัตถุได้รับความเสียหาย http://winne.ws/n12262

675 ผู้เข้าชม
กรมศิลป์ชี้เสมาโบราณที่กาฬสินธุ์อยู่ในยุคสมัยทวารวดี

 

       จากกรณีที่ชาวบ้านได้พบใบเสมาหินทรายที่บริเวณแปลงนาของนางทิพันธ์ วันชูพริ้ง และได้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดชัยศรีบ้านเล้า หมู่ที่ 6 บ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของชาวบ้านที่สลับเปลี่ยนมาเฝ้าดูเพื่อป้องกันมิจฉาชีพเข้ามาขโมย และประชาชนที่ทราบข่าวได้เดินทางมากราบไหว้จำนวนมาก ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

       ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (13 ม.ค.) นายสัมฤทธิ์ กิตติโชค สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย และ น.ส.สุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 จ.ร้อยเอ็ด พร้อมคณะ เดินทางไปยังวัดชัยศรีบ้านเล้า หมู่ที่ 6 บ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อตรวจสอบใบเสมาหินทรายโบราณที่พบใหม่ 1 ชิ้น และที่พบก่อนหน้าที่นี้อีก 3 ชิ้น โดยใบเสมาหินทรายทั้งหมดได้ขุดพบในบริเวณเดียวกันก่อนจะนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดชัยศรีบ้านเล้า ก่อนลงพื้นที่สำรวจจุดขุดค้นพบที่แปลงนานางทิพันธ์ วันชูพริ้ง และที่บริเวณดอนอารักษ์ หรือดอนปู่ตาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเล้า โดยมีธวัธชัย ศรีขัดเค้า กำนันตำบลหลักเมือง นายวัฒนา นาสมหมาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านเล้า และชาวบ้านจำนวนมากนำสำรวจ

       

      

กรมศิลป์ชี้เสมาโบราณที่กาฬสินธุ์อยู่ในยุคสมัยทวารวดี

 น.ส.สุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดี กล่าวว่า สำหรับใบเสมาหินทรายที่พบใหม่ล่าสุดมีภาพจำหลักน่าจะเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ รูปทรงขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายสีแดงสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือราว 1,000-1,200 ปี ใกล้เคียงกับที่พบในพื้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจจุดค้นพบได้ทราบว่าก่อนหน้านี้บริเวณแปลงนาของนางทิพันธ์ได้พบมาก่อน 2 ชิ้น เป็นใบเสมาหินทรายเช่นเดียวกันแต่ไม่มีภาพจำหลัก ลักษณะที่พบใบเสมา วางราบกับพื้นและในบริเวณคาดว่าน่าจะมีในใต้ดินอยู่อีก

       นอกจากนี้ยังพบว่า มีใบเสมาขนาดใหญ่สูงเกือบ 2 เมตร อีก 1 ชิ้น โดยชาวบ้านระบุว่าพบในเขตดอนอารักษ์ หรือดอนปู่ตาของบ้านเล้า ห่างจากจุดที่พบใหม่ประมาณ 1 กม.เท่านั้น

       “พื้นที่ที่พบใบเสมาโบราณ สันนิษฐานว่าในอดีตเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกกำหนดเขตแดนด้วยหลักใบเสมาโบราณ เป็นคติความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา โดยที่พบในเขตบ้านเล้า ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จะมีทั้งไม่มีลวดลายและมีภาพจำหลัก ใบใหญ่ที่สุดทราบว่าพบตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาก็พบเป็นเศษของใบเสมาหินทรายที่ไม่สมบูรณ์นัก กระทั่งในเดือน ต.ค. 2558 พบใบเสมาหินทราย 2 ชิ้น และมาพบอีก 1 ชิ้น ในบริเวณเดียวกัน โดยชาวบ้านได้นำมาตั้งไว้หน้าศาลาการเปรียญวัด และสร้างศาลาหลังเล็กป้องกันแดดลมและฝน ส่วนใบที่พบใหม่ตั้งอยู่กลางแจ้งที่จะต้องฝากให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษา แต่ทั้งนี้ก็จะส่งข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่วนพิพิธภัณฑ์ก็จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเป็นสมบัติของชาติและแผ่นดิน จากนี้ก็จะฝากให้ชาวบ้านเล้าได้ช่วยกันดูแลรักษาต่อไป” นักโบราณคดีกล่าว

      นายสัมฤทธิ์ กิตติโชค สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย โดยทางชาวบ้านได้จัดตั้งเต็นท์รองรับประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้ เป็นการอำนวยความสะดวก และหลังจากการพูดคุยกับนักโบราณคดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปในเรื่องของการรักษาวัตถุโบราณ ในอนาคตคงจะต้องสร้างอาคารครอบบริเวณลานพระประธานพระพุทธมิ่งมงคลมหาโชคชัย แบบถาวร และนำใบเสมาที่เก็บรักษาไว้ในวัดชัยศรีบ้านเล้าทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน โดยหวังให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ดูแลทรัพย์อันมีค่าได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

       ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางมากราบไหว้บูชาใบเสมาโบราณ ส่วนนี้ต้องขอร้องให้งดการลูบ ทาแป้ง ปิดทอง และการสรงน้ำเนื่องจากจะเป็นการทำลายวัตถุโบราณที่เป็นหินทรายที่กร่อนง่ายเสียหายได้ 


ขอบคุณ, http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000004224

แชร์