ทนายวัด(ใจ) ย้ำ! หลวงพ่อธัมมชโย ผิดข้อหา ฟอกเงินและรับของโจรจริงหรือ ?

ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดรับของโจรนั้น เป็นความผิดคนละข้อหากันนะครับ ไม่ใช่ข้อหาเดียวกัน นอกจากจะคนละข้อหาแล้ว ยังเป็นคนละตัวบทกฎหมายกันด้วยครับ http://winne.ws/n12364

1.0 พัน ผู้เข้าชม
ทนายวัด(ใจ) ย้ำ! หลวงพ่อธัมมชโย ผิดข้อหา ฟอกเงินและรับของโจรจริงหรือ ?

         ตั้งแต่เรียนจบนิติศาสตร์ในชั้นปริญญาตรีเป็นต้นมา ผมเองก็ทำมาหากินด้วยอาชีพทนายความมากว่า 10 ปี ว่าความมาก็มาก เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ว่าความไป กินไป และก็เที่ยวไป สนุกกับการทำอาชีพทนายความนะครับ  แต่พอได้มาเขียนบทความเกี่ยวกับความรู้ทางกฎหมาย ก็ขอบอกเลยนะครับว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกันที่มานั่งเขียนบทความทางกฎหมาย  

         การเขียนบทความทางกฎหมายแท้จริงแล้วไม่ง่ายเลย ต้องค้นหาความรู้ทางกฎหมายเพิ่มเติมค่อนข้างมาก  แต่ก็ทำให้ผมค้นพบความเป็นจริงอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเขียนบทความนะ

“เขียนด่าคนอื่น โคตรง่าย เขียนให้ความรู้คนอื่น ถึงจะยาก แต่ก็พอทำได้”

         กลับมาที่หัวข้อที่จะมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ดีกว่าครับ  เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมาย ไม่เที่ยงธรรม พุทธศาสนิกชนจึงต้องออกมาถามหา  ชาวบ้านตาสีตาสา ไม่รู้กฎหมาย จึงต้องให้ทนาย มาอธิบายความผิดในข้อหาฟอกเงิน และรับของโจร

         ก่อนอื่นเลย ทุกท่านต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดรับของโจรนั้น  เป็นความผิดคนละข้อหากันนะครับ  ไม่ใช่ข้อหาเดียวกัน  นอกจากจะคนละข้อหาแล้ว ยังเป็นคนละตัวบทกฎหมายกันด้วยครับ  ซึ่งในบทความเดียวคงไม่สามารถที่จะบรรยายได้ทั้งหมด  คงต้องติดตามตามอ่านกันหลายๆ บาทความนะครับ

          ความผิดในข้อหาฟอกเงิน  มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ  “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542”

ความผิดในข้อหารับของโจร มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ “ประมวลกฎหมายอาญา”

       สำหรับบทความนี้คงจะขอเล่าสู่กันฟังเฉพาะความผิดในข้อหาฟอกเงินเพียงอย่างเดียวก่อนนะครับ เพราะมาเนื้อหาเยอะมากๆๆๆๆๆ  ซึ่งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้น เราต้องเข้าใจให้แจ่มแจ้งเสียก่อนนะครับ คือ

          1. เงินที่ได้มานั้น ต้องมาจากการกระทำความผิด (พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3)

          2. เอาเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ไปทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผิดกฎหมายฟอกเงิน (พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5)

 การฟอกเงิน ถ้าให้เขียนเป็นภาษาบ้าน ๆ อ่านแล้วเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “การนำเงินทุจริต ไปใช้หรือไปเก็บไว้”

          ตามกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน ถ้าเงินที่ได้มาเป็นเงินที่ได้มาอย่างสุจริต คงไม่มีทางที่จะกลายเป็นการฟอกเงินได้ครับ  นั่นหมายความว่า “ถ้าเงินที่ได้มานั้น เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ผู้ที่รับเงินต่อไปก็ไม่มีความผิด”

แต่มีคำถามว่า แล้วเงินที่เป็นความผิดนั้นเป็นอย่างไร ?  แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเงินนั้นเป็นเงินผิดกฎหมาย ?

ลองกลับมาดูที่ ข้อ 1. ที่ผมเขียนไว้ข้างต้นนะครับ ผมอ้างตัวบทกฎหมายไว้ ว่า ..เงินที่ผิดกฎหมายมีอะไรบ้าง สามารถดูได้จาก ..

ทนายวัด(ใจ) ย้ำ! หลวงพ่อธัมมชโย ผิดข้อหา ฟอกเงินและรับของโจรจริงหรือ ?แหล่งภาพจาก Sites - Google

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3  ซึ่งระบุไว้ 21 ความผิด ดังต่อไปนี้ครับ

          1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 

          ​​2. ความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือการค้าประเวณี หรือค้ามนุษย์​

          3. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่)

          4. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอก ฉ้อโกง ประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

          5. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  

          ​6. ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชกที่กระทำโดยอั้งยี่หรือซ่องโจร

          7. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร 

​          8. ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย 

          ​9. ความผิดเกี่ยวกับการพนัน

          10. ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

         11. ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

          12. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

          13. ความผิดเกี่ยวกับการค้า ที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

          14. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเงินตรา เอกสาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทาง​

         15. ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ​16. ความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายชีวิตและร่างกาย เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน

           17. ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์

          18. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก เป็นปกติธุระ

          19. ความผิดเกี่ยวกับโจรสลัด​​

          20. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

          21. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน กระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้า

          เป็นยังไงกันบ้างครับ  อ่านแล้วรู้สึกเยอะมั้ย! ซึ่งทั้ง 21 ข้อนี้ เรียกว่า ความผิดมูลฐานนะครับ  คนที่ได้เงินมาจากการกระทำความเหล่านี้  ยังไม่ถือว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน

          การกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น  จะเป็นได้ก็ต่อเมื่อนำเงินจาก 21 ความผิดข้างต้น ไปทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผิดกฎหมายฟอกเงิน ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5

          แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจในมาตรา 5  ผมอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่าน ลองดูความผิดทั้ง 21 ข้อนะครับ  จะเห็นว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยฯ ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความผิดทั้ง 21 ความผิดนั้นเลย

          ถ้าให้ผมยกตัวอย่างในความผิดที่ 4 “ความผิดเกี่ยวกับการยักยอก ฉ้อโกง ประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน”  ข้อนี้ยิ่งไม่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อธัมมชโยฯ เลยนะครับ  เพราะว่าหลวงพ่อธัมมชโยฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นแม้แต่น้อย  

           หรือ จะเป็นความผิดที่ 10-11 “ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า”  ความผิดนี้ยิ่งไม่ใช่อีกแน่นอน เพราะว่า “มีแต่คนทำบุญ  ไม่เห็นมีโจรสักคน”       

ทนายวัด(ใจ) ย้ำ! หลวงพ่อธัมมชโย ผิดข้อหา ฟอกเงินและรับของโจรจริงหรือ ?

ที่สำคัญที่สุดนะครับ สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยฯ ได้มานั้น ไม่มีลักษณะเป็นการค้าแม้แต่น้อย แต่เป็นไปเพื่อการศาสนาทั้งสิ้น

           ดังนั้น  ความผิดต่าง ๆ ที่พนักงานสอบสวน หรือ DSI ถวายมาให้หลวงพ่อธัมมชโยฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนะครับ  ระวังกันไว้ให้ดีๆ เพราะเป็นถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแท้ ๆ แต่กลับกระทำผิดกฎหมายเสียเอง  กระบวนการกฎหมายจะวิ่งเข้าหาตัวเองนะครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่ดินที่ตับแตกตายใน DSI คดีนี้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ครับ เงียบเข้ากลีบเมฆกันเลยทีเดียว

          เขียนมาซะเยอะนะครับ  แต่ยังไม่หมดเรื่องการฟอกเงินเลย  เกรงว่าจะเยอะจนเกินไปแล้วจะไม่มีใครอ่าน  ก็ขอเก็บไว้ครั้งต่อไปนะครับ  ขอให้เพิ่มสมาชิกมาติดตามอ่านกันด้วย  แต่ก่อนจะจากกันไป ผมลูกพระธัมฯ หลานคุณยายฯ ขออาราธนาคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยฯ มาตอกย้ำซ้ำเดิม กันซะหน่อย เพื่อกระตุกจิตใจพี่น้องสาธุชนทุกท่านที่กำลังตกอยู่ภายใต้ “อกุศโลบาย” การสร้างความแตกแยกในหมู่เรา

“พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว”

ทนายวัด (ใจ)

17 มกราคม 2560

อำนาจแห่งยศฐา vs อำนาจแห่งศรัทธา ปกป้องพระพุทธศาสนา  ชาวพุทธรักสงบ และสันติ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟสบุ๊ค.คอม

แชร์