ประเพณีวิ่งควาย!!! งานประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชลบุรี

ประเพณีวิ่งวัววิ่งควาย เป็นเรื่องที่แฝงไว้ด้วยสามัคคีธรรม บรรพชนของเราเป็นห่วงประเพณีนี้จะสูญหายในเร็ววัน เพราะคนจะไม่เห็นคุณค่าของวัวควาย http://winne.ws/n12623

5.7 พัน ผู้เข้าชม
ประเพณีวิ่งควาย!!! งานประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชลบุรี

        ประวัติประเพณีวิ่งควาย ของจังหวัดชลบุรี เป็นประเพณีประจำจังหวัดเลยก็ว่าได้ เพราะว่าจังหวัดชลบุรีจะมีชื่อเสียงทางด้านแข่งควาย ซึ่งประชาชนที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีก็ต่างพาควายของตัวเองมาวิ่งแข่งกัน เป็นสีสันของจังหวัดนี้เลยครับ

       ประเพณีที่เป็นของท้องถิ่นจังหวัดชลบุรีโดยแท้  หรือจะเรียกว่าเป็น “ของดีเมืองชล” ที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสมไว้ให้ เป็นอมตะสมบัติของชาวชลบุรีได้แก่

        ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีที่มีมาแต่บรรพกาลจนไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีมาแต่สมัยใด และใครเป็นผู้ริเริ่มเป็นประเพณีที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน  เป็นประเพณีที่ปฏิบัติในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ซึ่งเป็นวันใกล้สิ้นฤดูฝนจะย่างเข้าฤดูหนาว เป็นฤดูกาลที่การไถหว่านได้เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นเวลาข้าวกล้าในนา พืชพันธุ์ธัญญาหารในไร่กำลังตกดอกออกรวง  เป็นฤดูที่ชาวไร่ชาวนากำลังมองเห็นผลจากแรงกายของตน 

        ตลอดจนแรงสัตว์ที่ได้ใช้ทำงานกำลังจะให้ผลอยู่รำไร  ความสุขและความหวังกำลังรออยู่เบื้องหน้าอย่างน่าภาคภูมิใจ อีกไม่ช้าก็จะเก็บเกี่ยวข้าวกล้าในนา  ตลอดจนพืชผลต่างๆที่ได้ไถหว่านไว้  จึงมาคำนึงถึงสัตว์ เช่น  วัวควายที่ได้ไถนาเป็นเวลาหลายเดือน ควรจะได้มีส่วนได้รับความสุขตามสภาพบ้าง 

       จึงต่างตกแต่งวัวควายของตนให้สวยงาม  เป็นการทำขวัญควาย แล้วก็นำควายเข้าเมืองเพื่อพบปะกับบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย  ไม่ว่าจะอยู่สารทิศใดก็จะมีโอกาสพบปะสังสรรค์กันในวันนั้น คนที่ไม่รู้จักกันก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสารทุกข์สุขดิบ  มีการเลี้ยงดูกันอย่างสนุกสนาน 

       ตลอดจนมีการประกวดความสมบูรณ์ของวัวและควาย  วันนั้นเป็นวันของผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ  มาสันนิบาตพบปะกันจริงๆ เหตุที่เลือกเอาวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระทุกคนจะต้องหยุดงานไปวัด วันพระนั้นโบราณหยุดงานไปวัดกันจริงๆ แม้กระทั่งวัวควายก็ไม่ยอมให้ใช้งานวันพระ  โดยเฉพาะต่อไปวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็เป็นวันออกพรรษา 

        การนำควายมาวิ่งอวดประกวดกันในเมืองวันนั้นขามาก็เอาควายมาเทียมเกวียนบรรทุกกล้วย มะพร้าว ใบตอง ยอดมะพร้าวมาขาย เพื่อคนในเมืองจะได้ซื้อไปห่อข้าวต้มหางทำบุญตักบาตร วันเทโวโรหนะ วันออกพรรษา ขากลับได้มีโอกาสซื้อของไปทำบุญเลี้ยงพระตามวัดวาอารามใกล้เคียงในวันพระ  และวันออกพรรษาคนโบราณของเรา เป็นคนที่หนักในความกตัญญูกตเวทิตา และมีความเมตตาธรรมสูง  เห็นวัวควายเหล่านั้นทำงานให้กับตน  เป็นสัตว์ที่มีคุณแก่ชีวิตตนไม่ยอมฆ่าสัตว์เหล่านั้นเป็นอาหาร ไม่รับประทานเนื้อวัว ควาย เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ 

       ประเพณีวิ่งวัววิ่งควายไม่ใช่เรื่องไร้สาระเหลวไหล เป็นเรื่องที่แฝงไว้ด้วยสามัคคีธรรม  บรรพชนของเราเป็นห่วงประเพณีนี้จะสูญหายในเร็ววัน  เพราะคนจะไม่เห็นคุณค่าของวัวควาย 

        ฉะนั้นในปีใดที่ไม่มีการวิ่งวัววิ่งควาย  ปีนั้นวัวควายจะเป็นโรคระบาดตายกันมากผิดกว่าปกติ  เพราะวิญญาณของบรรพชนของเรายังห่วงประเพณีอันดีงามนี้อยู่  จึงบันดาลให้เกิดอาเพศภัยพิบัติต่างๆ ควายที่เจ็บป่วยระหว่างปีเจ้าของควายก็บนบานให้หายแล้ว  จะนำมาวิ่งเพื่อรักษาประเพณีปีละมากๆ

       สิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งสำหรับประเพณีวิ่งควายของชาวชลบุรีก็คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คือพระยาวิเศษฤาไชย ได้จัดวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี มีหลักฐานปรากฏในพระราชกิจรายวัน กรมราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ ขอคัดมาเป็นหลักฐาน

       วัน  ๗ฯ๑๒  ร.ศ.๑๓๑ เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ที่ท่าหน้าตำหนักกรมขุนมรุพงษ์ พระราชทาน พระแสงสำหรับมณฑลแก่พระสุนทรพิพิธ แล้วเสด็จลงเรือจะเสด็จเมืองชลบุรี พอผ่านโรงทหาร กองทหารโห่ร้องถวายไชยมงคลล่องลงมาตามลำน้ำ  เวลาเที่ยงถึงปากน้ำบางปะกง  เสด็จขึ้นประทับบนศาลาการเปรียญ วัดบางปะกง มีเจ้าคณะมณฑลและเจ้าอธิการวัดนี้มาคอยรับเสด็จ และมีราษฎรมาคอยเฝ้าเป็นอันมากโปรดให้ราษฎรเฝ้าราษฎรนำปลาและน้ำปลามาถวาย โปรดพระราชทานเงินทุกราย และพระราชทานเสมาเงิน จ.ป.ร. แก่เด็กลูกหลานของราษฎรที่มาเฝ้านั้นทั้งหญิงและชายแล้วประทับเสวย ณ ที่นั้น เวลาบ่าย ๒ โมง ๔๕ นาที  เสด็จประทับลงเรือยนต์พระสงฆ์ในวัดนี้สวดชยันโต

       เวลา  ๓  โมง ๔๕ นาที เรือพระที่นั่งเทียบสะพานท่าน้ำเมืองชลบุรี  พระยาวิเศษฤาไชยและข้าราชการเมืองนั้นมาคอยรับเสด็จเสด็จขึ้นประทับตำหนักกรมขุนมรุพงษ์ที่เมืองชลบุรีนั้น

       เวลาบ่าย  ๔  โมง  เสด็จที่ว่าการเมืองกองเสือป่าและลูกเสือ  นักเรียนชายหญิงตั้งแถวรับเสด็จที่สนามหญ้าหน้าที่ว่าการ ทหารเรือชายทะเลทั้งข้างขวา ข้างซ้ายตำรวจภูธร เมื่อประทับบนที่ว่าการแล้วพระยาวิเศษฤาไชย นำฝ่ายพลเรือนเฝ้าเรียงตัวหลวงมริดราบ นำทหารเรือ ทหารบกตำรวจภูธรเฝ้า พระยาวิเศษฤาไชยนำพ่อค้าไทย,จีน          เฝ้าประทับทอดพระเนตรแข่งกระบือ แลแห่ผ้าป่า ซึ่งพ่อค้าพลเมืองได้จัดให้มีขึ้น

       ประทับเสวยเครื่องว่าง ณ ที่นั้นแล้วเสด็จกลับยังที่ประทับแรม โปรดให้เลื่อนกำหนดวันที่จะเสด็จกลับไปอีก ๒ วัน

         จากพระราชกิจประจำวันนี้ จะเห็นได้ชัดว่าประเพณีวิ่งควายได้มีมาแล้วแต่อดีต และเป็นประเพณีที่แปลกกว่าจังหวัดอื่น  จึงได้เตรียมการจัดถวายทอดพระเนตรเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งไม่ตรงกับประเพณีวิ่งควาย

      ประเพณีวิ่งควายปัจจุบันในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ อำเภอบ้านบึงจัดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตลาดหนองเขิน ตำบลหนองชาก อำเภอบ้านบึง จัดวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดกลางดอน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จัดวิ่งควายวันทอดกฐินประจำปีของวัด  ถึงแม้เกษตรกร จะนำควายเหล็กมาใช้ไถที่หรือทำงานด้านเกษตรเป็นจักรกลเครื่องผ่อนแรง แต่ก็ปรากฏว่าการวิ่งควายของแต่ละหน่วยงานที่จัดขึ้นนั้น จำนวนควายไม่ลดน้อยถอยลง ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการรักษาประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว  หากร่วมแรงร่วมใจตั้งใจทำงานนี้อย่างจริงจัง  ยังเป็นการดึงชนต่างถิ่นได้มาชมประเพณีวิ่งควาย อันเป็นประเพณีที่มีจังหวัดเดียวในเมืองไทยอีกด้วย

แชร์