ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

ห้ามมิให้บุคคลใด ยกอายุความ ขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง http://winne.ws/n12700

924 ผู้เข้าชม
ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา ได้หรือไม่ ?

         หรือ?? จะมีการยุบวัดพระธรรมกายให้ได้ โดยการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และได้รับภาพ “อนุสาวรีย์กลางถนน” ที่ถนน (ตามภาพ) หลังวัดพระธรรมกาย จึงต้องเขียนต่อ.. (ภาพที่ได้ มาจากในโพสต์ก่อน รวมทั้งข้อความในภาพ)

         เพราะภาพข้างล่างนี้ ก็ทำให้คนเห็น มึนกันไปทั่ว..! จะเป็นวงเวียนเพื่อให้รถวิ่งวน ก็ไม่ใช่ ? จะเป็นเครื่องแสดงเขตก็ไม่เชิง เพราะคงไม่มีใครสร้างถนนเข้าไปในเขต หรือแสดงแนวเขตกันกลางถนนแบบนี้.. คงต้อง “งง” กันต่อไป.. (ชาวบ้านช่วยแจ้งตำรวจ ประกาศหาเจ้าของ ก็จะดี)         

อนุสาวรีย์กลางถนน

ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

เปรียบเทียบการทำบุญในวันพระในสมัยก่อน แต่ละคนทำกับข้าวไปอย่างเดียว แต่เวลากินข้าว หลังทำบุญเสร็จ จะมีคนโน้นคนนี้ เอากับข้าวที่เขาทำมาให้ แลกกันไปแลกกันมา อย่างนี้ เลยมีกับข้าวหลายอย่างกินกัน.. บางคนไม่แบ่งอื่นบ้าง ก็ไม่ได้..

         เมื่อกล่าวถึงการทำบุญ ในสมัยก่อน เคยเห็นภาพพุทธประวัติ และภาพพระมาลัยโปรดสัตว์ ติดไว้ตามศาลาวัด ที่จำแม่นภาพหนึ่ง คือ ภาพคนต่อสู้กันด้วยอาวุธ และมีภาพพระและคนนั่งสมาธิ อยู่ตามถ้ำและสถานที่ต่างๆ ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนวาดไว้ (บางท่านบอกว่า เหม เวชกร) ใครทราบก็บอกด้วย (ถ้าเอาภาพมาได้ก็จะดี) เพราะมีอะไรหลายอย่างในภาพนั้น ที่เป็นไปตรงกับในปัจจุบัน..

ในโพสต์นี้ ขอเรียนว่า วัดมี ๓ ส่วน คือ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และคน..

      เรื่องคนสำคัญ เปลี่ยนแปรได้ จึงขอยกไปกล่าวโดยเฉพาะ..จะกล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างและที่ดินก่อน เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ชัดเจนกว่า..

       สิ่งปลูกสร้าง รื้อได้ ซ่อมได้ จัดเป็นครุภัณฑ์ รวมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ในวัด ที่เป็นครุภัณฑ์ เจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์ในวัด จะยกให้ใครไม่ได้ ผิดพระวินัย จะต้องทำผาติกรรม จึงจะถูกต้อง.. !

       ผาติกรรม คือ การแลกเปลี่ยนกัน มีหลักคือ ของที่จะนำมาแลกเปลี่ยน จะต้องมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า ของวัด.. ปัจจุบัน โดยมากจะใช้เงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เพราะสะดวก.. คนไม่เข้าใจ จึงคิดว่าขายของวัด นั่นแหละ เขาเรียกว่า ผาติกรรม..

หลวงพ่อ เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ท่านได้ย้ำในที่ประชุมมหาเถรสมาคม จำได้ชัด ๒ ประการ คือ

        ๑. คำกล่าวที่ว่า “สร้างวัดกันเยอะแยะ บางวัดไม่มีพระอยู่..” ท่านกล่าวสรุปว่า ชาวบ้านเป็นผู้ขอสร้างและตั้งวัด ไม่ใช่พระ.. วัดไหนร้าง ที่วัดก็เป็นสมบัติของ พระพุทธศาสนา เอามาให้ชาวบ้านเช่าพักอาศัยอยู่ หรือทำมาหากิน ในราคาถูกๆ .. ถ้ามีการบูรณะมาใหม่ ก็ขอยกเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาได้..

        ๒. เรื่องการผาติกรรม /แลกเปลี่ยนที่ดินวัด กับที่ดินชาวบ้าน .. ให้นึกถึงคุณภาพด้วย ไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียว.. เช่น ที่ดินวัดในเขต จังหวัดนนทบุรี ๑๐๐ ตารางวา ๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๑๐ ล้าน จะแลกกับที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ๕ ไร่ ๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐.- บาท รวม ๕๐๐,๐๐๐ บาท ..

อย่างนี้ ไม่ได้ เพราะคุณภาพต่างกัน.. (จะขอเอามากล่าวต่างหากต่อไป ถ้ามีโอกาส)

       ที่ดิน จัดเป็นครุภัณฑ์ของวัด เช่นกัน มีทั้งวินัย และ พรบ. สงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดไว้ ดังนี้

มาตรา ๓๔ การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง

         การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้อง และได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

         ห้ามมิให้บุคคลใด ยกอายุความ ขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง

มาตรา ๓๕ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สิน ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบ แห่งการบังคับคดี

ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

ความหมายตาม พ.ร.บ.

        ๑.) ตาม ม. ๓๔ วัดจะโอนที่ดินให้เอกชน จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ยกเว้นโอนให้ส่วนราชการ ฯ ให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกา กระบวนการทั้งหมด เรียกว่า เวนคืน ใช้เวลาเป็นปีขึ้นไป จึงจะเสร็จ บางที ทำถนนไปแล้ว ยังไม่เสร็จกระบวนการก็มี

วรรคสาม ที่ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใด…” หมายถึง การครอบครองปรปักษ์ ก็ใช้ไม่ได้กับที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง

         การครอบครองปรปักษ์ อธิบายง่าย ๆ ตามประสาชาวบ้านว่า คือ การสร้างหรือทำการใด ๆ ในที่ของผู้อื่น โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่า หรือไม่มีคัดค้านการครอบครองนั้นแต่อย่างใด เมื่อครบสิบปีขึ้นไป ผู้ครอบครองสามารถนำไปออก เอกสารสิทธิ์เป็นของตัวเองได้ เรียกว่า ครอบครองปรปักษ์

         (ตรงนี้ ต้องศึกษากฎหมายให้ดี ผมสรุปให้เห็นง่ายๆ เท่านั้น มีเงื่อนไข และข้อกำหนดอื่นอีกเยอะมาก ถ้าจะดี อย่าไปทำอย่างนี้เลย จะดีกว่า.. ขอแนะนำ เพราะมันเป็นการโกงเขา แม้จะถูกกฎหมาย)

ดังนั้น ใครอยู่ในที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ครบ ๑๐ ปี แล้ว จะเอาไปออกเอกสารสิทธิ์ เป็นชื่อตัวเองไม่ได้ ผิดกฎหมาย ตามมาตรา ๓๔ วรรคสาม

       ๒.) หรือ ใครเช่าที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง แล้วเอาไปค้ำประกันกับธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือบุคคลใด หากชำระหนี้ไม่ได้ ธนาคารฯ เป็นต้น ก็จะยึดที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ที่นำไปค้ำประกันนั้นไม่ได้ ตามมาตรา ๓๕

สรุปง่ายว่า จะยึดวัดต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย อย่างถูกกฎหมาย นั้น.. ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ

ยกเว้น ที่เรียกว่าว่าวัดนั้น เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?

         บางแห่ง สร้างเรียบร้อยทุกอย่าง แต่ยังไม่ได้ขอสร้างวัดเลย ก็มี จึงไม่จัดเป็นวัดในพระพุทธศาสนา..

        ตรงนี้ อาจสวนกระแสกับชาวบ้าน ที่เมื่อเห็นมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเป็นกุฏิ ศาลา มีพระอยู่ ก็เรียกว่า “วัด” กันแล้ว คงต้องอาศัยท่านช่วยอธิบาย แนะนำ ให้พระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย..

        ชาวบ้านเขาไม่สนใจหรอกว่า จะเป็นพระจริงพระปลอม เป็นวัดหรือไม่ เมื่อห่มผ้าเหลืองถือบาตรมา เขาก็ทำบุญใส่บาตรกันแล้ว..

ชาวบ้านได้บุญ แต่ผู้รับอาจได้บาปแทน.. กรรมใครกรรมมัน..-

ส่วนการที่หน่วยงานต่าง ๆ เอาป้ายไปแปะตามสถานที่ต่างๆ ใน/นอกวัดพระธรรมกาย โดยประกาศว่า เป็นของกลาง นั้น คงต้องดูเป็นกรณีไป..

       ถ้าไปทำในพื้นที่วัด ๑๙๖ ไร่ ที่สร้างมาก่อนที่จะมีเรื่องสหกรณ์คลองจั่น.. หรือสร้างด้วยเงิน ที่ไม่ใช่เงินที่รับมาจากสหกรณ์ฯ.. รับรองว่า “ไม่มีทางยึดได้” ที่กล่าวว่า ไม่ได้รับอนุญาตจากโยธาธิการและผังเมือง.. ขอเรียนว่า โยธาธิการและผังเมืองเขามาตรวจได้เพียงว่า แข็งแรงมั่นคงหรือเปล่า ใช้ได้หรือไม่ อันตรายหรือเปล่า เท่านั้น.. ไม่ใช่มาตรวจว่า ได้รับอนุญาตหรือไม่ ?

ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

การประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ผมยังมองไม่ออกเลยว่า จะทำอย่างไร น้ำก็ไม่ท่วม.. อาคารก็ไม่ถล่ม.. มันก็ประกาศไม่ได้ ต้องวิดน้ำใส่วัดพระธรรมกายจนท่วม หรือเอาระเบิดมาลง แล้วประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ..

เออ พอรับฟังได้..! แต่ก็ยังยุบวัดไม่ได้อยู่ดี..!

      เพราะยังมี ข้อกำหนดในการยุบวัด คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕๕ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการยุบเลิกวัด ข้อ ๙ - ๑๐ กำกับไว้อีกว่า 
(ทราบว่า มีการแก้ไขใหม่ กำลังประกาศใช้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวดนี้)

ข้อ ๙ วัดใดมีเหตุอันควรยุบเลิก เพราะสภาพเสื่อมโทรม หรือมีเหตุอื่น อันไม่สมควรจะเป็นวัดต่อไป เมื่อเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอ พิจารณาเห็นสมควรยุบเลิกวัดนั้น ให้รายงานเจ้าคณะจังหวัด พร้อมด้วยบัญชีรายละเอียดทรัพย์สิน ของวัดที่จะยุบเลิกนั้น

ให้นำความในข้อ ๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การพิจารณา การปรึกษา และการรายงาน ขอยุบเลิกวัดโดยอนุโลม

         เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบัน แก้เป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุกแห่ง.. ที่คงไว้เพื่อมิให้สับสนเรื่องเวลา) จะได้ประกาศยุบเลิกวัด ในราชกิจจานุเบกษาตามแบบ ว. ๔ ท้ายกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๑๐ วัดใดร้างพระภิกษุไม่อาศัย เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรยุบเลิกวัดนั้น ให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนาเสนอมหาเถรสมาคมและให้นำความในข้อ ๙ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        นี่แหละคือข้อกำหนดที่จะยุบวัดได้.. ไม่ใช่ว่า จู่ๆ ก็จะมาปักป้ายยึดเป็นของกลาง กันเลย.. แบบนี้ อาจโดนสวนกลับ หลายคดี.. ในยุคนี้ ที่เล่นงานกันด้วย “คดี” ..!

        ยิ่งถ้าไปปักป้ายของกลางที่โบสถ์ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะบริเวณโบสถ์ หรือพระอุโบสถ (สำหรับวัดกลวง) นั้น เป็นเขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้เป็นเขตเฉพาะ แยกออกจากเขตบ้านหรือเมือง ที่เรียกกันว่า “วิสุงคามสีมา” นั่นเอง หน่วยงานไหนไปปักป้ายของกลางที่โบสถ์ไว้ ก็ย่องไปเอาออกซะเถอะ จะได้ไม่เสียค่าโง่..

         ในสมัยก่อน ผู้ร้ายหนีตำรวจ วิ่งเข้าไปในโบสถ์ ตำรวจยังไม่สามารถเข้าไปจับได้ จะต้องขออนุญาตสงฆ์ก่อน.. จึงจะเข้าไปจับได้..

สมัยปัจจุบัน ในยุค 4g และ wifi กระทั่งตู้บริจาคในโบสถ์ ยังถูกพวกหัวขโมย ยกไปหน้าตาเฉย..

       มีเรื่องที่ต้องติงนิด คือ ในเพจลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย บางท่านเรียกอาคารที่สร้างเพื่อเก็บ พระไตรปิฎก ว่า “โบสถ์พระไตรปิฎก” ขอเรียนว่า ใช้คำยังไม่ถูกต้อง ..

ควรเป็น “วิหาร หรือ อาคาร” เพราะตามวินัย กำหนดให้วัดหนึ่งมีโบสถ์ได้แห่งเดียว เพื่อทำสังฆกรรม เช่น บวชพระ สวด/ฟังปาติโมกข์ กรานกฐิน ฯลฯ ซึ่งต้องทำในโบสถ์เท่านั้น ส่วนวิหารหรืออาคาร ไม่จำกัดไว้.. แต่ถ้าวัดใดใช้ ก็ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกให้เหมาะสมด้วย..

      ส่วนตัวบุคคลในวัด ก็ว่ากันไปตามหน้าที่.. เจ้าอาวาสก็โดนมากหน่อย ในฐานะผู้ปกครองวัด และเป็นเจ้าพนักงาน และ รก. ก็โดนหางเลข ด้วยคดีประหลาด ตามที่กล่าวไว้แล้ว..

     ลูกศิษย์อาจไปเชิญกินเนสต์บุ๊กมาบันทึกว่า คดีของท่านทั้ง ๒ เป็นคดีมากลำดับที่เท่าไรของโลก.. น่าจะดีเหมือนกัน !

ได้หรือไม่ ? ยุบ & ยึด วัดพระธรรมกายและวัดในพระพุทธศาสนา

ก่อนจบ ขอเล่าให้อ่านนิด..

       มีเรื่องที่คนเชื่อว่า เป็นเพราะปาฏิหารย์ หรือคาถาอาคม ของพระหรือพวกฤาษี ที่ทำ คือ นั่งในกระทะที่มีน้ำเดือด และมีน้ำมันอยู่ แล้วชาวบ้านก็ต่างพากันซื้อนำมันไปใช้กัน..

วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ หรืออิทธิฤทธิ์ใด ๆ !

       เพราะเขาเอาน้ำรองข้างล่าง เอาน้ำมันไว้ข้างบน น้ำกับน้ำมันเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ อยู่คนละชั้น น้ำข้างล่างเดือด แต่น้ำมันจะไม่ร้อนใด ๆ คนจึงนั่งในน้ำมันได้ ถ้าน้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ จะร้อนไปหมด สุกแน่ ๆ .. เขาเอาหลักวิทยาศาสตร์มาเล่นกลให้เราดู..

       ลองทำเองก็ได้.. เทน้ำลงในหม้อ แล้วเอาน้ำมันพืชเทตามลงไป ต้มให้น้ำเดือด แล้วเอาผักหรือสิ่งที่สุกได้ จุ่มที่น้ำมัน (ไม่ใช่จุ่มน้ำเดือด) จะไม่เกิดอะไรกับผัก.. แต่ถ้าจุ่มไปที่น้ำเดือด ผักจะสุก..

เล่าไว้เป็นความรู้ .. เขาเอาคลิปมาให้ผมดู ผมจึงเขียนอธิบาย ครับ..

เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง.. กฎหมายอย่างเดียว ปวดหัว..

เรียบเรียงโดย พิศาฬเมธ แช่มโสภา ป.ธ.๙ 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1682410528725430&id=100008694968507

แชร์