เตรียมพร้อมหรือยัง!!!..Disruptive Technology ทรัพย์สินทางปัญญายุค 4.0

"Disruptive Technology" หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาระบบดิจิทัลต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ชาญฉลาดสามารถทำงานแทนคนได้ http://winne.ws/n12908

1.1 พัน ผู้เข้าชม
เตรียมพร้อมหรือยัง!!!..Disruptive Technology ทรัพย์สินทางปัญญายุค 4.0

กระแส "Disruptive Technology" หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาระบบดิจิทัลต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ชาญฉลาดสามารถทำงานแทนคนได้ การพัฒนาแนวคิดคอมพิวเตอร์เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ Internet of Things (IoT) หรือการทำงานร่วมกันของเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก (Cloud) จำนวนข้อมูลที่มหาศาล (Big Data) เป็นต้น ส่งผลให้มี "ทรัพย์สินทางปัญญา" เพิ่มขึ้น และนำไปสู่ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบใหม่ สร้างความท้าทายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อย

ล่าสุดในการสัมมนาวิชาการหัวข้อ "ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กับการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0" ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีไฮไลต์สำคัญที่พูดถึงบทบาทของศาล ภายใต้ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 "Disruptive Technology"

นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ศาลต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับคดีรูปแบบใหม่ ๆ ที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีในภาวะที่โลกกำลังก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นยุคที่มีการสร้างนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ และมั่นใจว่ากฎหมายต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ขณะเดียวกันศาลทรัพย์สินทางปัญญา ก็ยังคงต้องรักษาบทบาทของศาลในการส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้นด้วย

ดึงโมเดลจากญี่ปุ่น-สหรัฐ

นายโคอิชิ มาซุชิตะ (Koichi Masuchita) ผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานงานต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรญี่ปุ่น (JPO) กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 จะทำให้มีจำนวนข้อมูลเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 2 ปี เพราะการพัฒนานวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (New Business Model) ดังนั้น ในญี่ปุ่นจึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อหารือถึงแนวทางการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การวางระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และการเชื่อมโยงข้อมูลมากขึ้น รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิ์ระหว่างผู้ถือสิทธิ์ และผู้ใช้สิทธิ์ รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

ด้าน นายปีเตอร์ เอ็น. ฟาวเลอร์ (Peter N. Fowler) ตัวแทนภูมิภาคอาเซียน สำนักงานเครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรสหรัฐ กล่าวว่า ปีก่อนทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หารือถึงการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนา AI และหุ่นยนต์ โดยมีประเด็นถกเถียงกันว่าจะให้สิทธิตามกฎหมายกับอัตลักษณ์ที่ไม่ใช่มนุษย์ได้หรือไม่ เช่น บุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ควรมีสิทธิเท่ากับหุ่นยนต์หรือไม่ แล้วควรจะกำหนดขอบเขตของสิทธิอย่างไร หรือควรมีมนุษย์เท่านั้นที่ได้รับสิทธิ และจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร การจดสิทธิบัตรพันธุกรรมควรจะทำได้แล้วหรือไม่

"ในยุค 4.0 สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนที่คิดว่าจะลงทุน ต้องได้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่จะลงทุน และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ ๆ จะเริ่มขัดแย้งกับการที่จะต้องปกป้องสิทธิผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะชั่งน้ำหนักอย่างไร"

ส.อ.ท.ชี้ไทยยังอยู่ที่ไทยแลนด์ 2.5


นายเจน นำชัยศิริ 
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมในประเทศพบว่า ส่วนใหญ่ 70% ของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0-2.5 คือ มีการพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมระดับหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำระบบดิจิทัลมาใช้จริงจังมีเพียง 30% และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของบริษัทลูกในไทยได้

"ธุรกิจไทยส่วนหนึ่งที่ยังไม่พร้อมจะลงทุนสร้างนวัตกรรมเอง อาจจะเน้นลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปก่อน เมื่อกระแสการค้ามีการเปลี่ยนแปลง New Normal ไทยมีจำนวนแรงงานลดลง เข้าสู่ยุคที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงควรมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจัง จะมีส่วนช่วยทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี"

สุดท้ายแม้ว่าในเวทีนี้จะไม่ได้ข้อยุติว่า ไทยต้องปรับตัวอย่างไรในกระแส "Disruptive Technology" แต่ได้จุดประกายให้ทุกฝ่ายตื่นตัวเกิดเรื่องการสร้างสรรค์ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายุค 4.0 ได้

แชร์