ทำอย่างไร ? จะไม่เกิดภาวะ "พ่อแม่รังแกฉัน"

พ่อแม่ทุกคนล้วนปรารถนาอยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นคนที่มีความสุขด้วยกันทุกคน นั่นหมายความว่าพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีจึงจะสอนให้ลูกเป็นคนดีได้มิใช่หรือ และนั่นก็หมายถึงพ่อแม่ก็ได้มีโอกาสฝึกฝนให้ตนเองเป็นคนดี http://winne.ws/n13135

2.4 พัน ผู้เข้าชม

 พ่อแม่ทุกคนล้วนปรารถนาอยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นคนที่มีความสุขด้วยกันทุกคน นั่นหมายความว่าพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีจึงจะสอนให้ลูกเป็นคนดีได้มิใช่หรือ และนั่นก็หมายถึงพ่อแม่ก็ได้มีโอกาสฝึกฝนให้ตนเองเป็นคนดี นำเอาธรรมะมาน้อมนำชีวิต เพื่อที่จะได้เป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกนั่นเอง

พ่อแม่ คือ ตัวอย่างและแบบอย่างที่ดีของลูก ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ และนำมาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากับตัวเองก่อนแล้วจึงนำไปถ่ายทอดและอบรมสั่งสอนลูกได้ พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ถูกทางถูกวิธีอย่างมีปัญญา เมื่อพ่อแม่เข้าใจและปฏิบัติดี จะทำให้ลูกเรียนรู้แบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ได้ง่าย 

แต่ถ้าพ่อแม่ชอบใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล หรือทำตัวอย่างที่ไม่ดีก็เท่ากับเป็นการสอนลูกที่ผิดวิธี เช่น แม่โกรธที่ลูกไม่เชื่อฟังแล้วโกรธเกรี้ยวลูก ดุด่าหรือถึงขั้นตีลูก ก็เท่ากับเป็นการสอนทางตรงให้ลูกได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ใช้อารมณ์ มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เขาก็เรียนรู้วิธีการต่างๆ เหล่านั้น และมีความเสี่ยงที่จะทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นกับคนอื่นต่อไป

ทำอย่างไร ? จะไม่เกิดภาวะ "พ่อแม่รังแกฉัน"ขอบคุณภาพจาก yaklai

ปัจจุบันปัญหาเรื่องการอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีมีอุปสรรคอย่างมากต่อสภาพครอบครัวและปัญหาทางสังคม เพราะรูปแบบของครอบครัวในยุคนี้เปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และมีลักษณะแยกส่วนเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่มีลูกน้อยลง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ทำงานนอกบ้าน ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก บางครอบครัวก็รู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ 

ก็เลยตอบสนองลูกด้วยการตามใจ หรือใช้เงินซื้อวัตถุให้ลูก เพราะไม่มีเวลาให้ลูก ก็เลยไม่มีคนที่อบรมสั่งสอน ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่นับวันจะทวีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นอุปสรรคในการปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดีอย่างถูกวิธี

ทำอย่างไร ? จะไม่เกิดภาวะ "พ่อแม่รังแกฉัน"ขอบคุณภาพจาก MaeRakLuke.com

พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กุมารแพทย์ผู้ที่ใช้เวลาว่างปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมะมานานกว่า 30 ปี เคยกล่าวถึงเรื่องธรรมะกับการเลี้ยงลูกได้อย่างน่าสนใจว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูก และดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีสติ และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยได้ 

ในเด็กเล็กจะมีการเรียนรู้ได้จากเสียง การสัมผัส กิริยาท่าทาง สิ่งที่พ่อแม่แสดงออก ถ้าลูกเห็นพ่อแม่ในแต่ละวัน มีอารมณ์โวยวายใส่กัน ลูกก็จะเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อยๆ แม้ยังฟังไม่ออก แต่เห็นท่าทางก็เป็นการสอนโดยการกระทำไปแล้ว แม้คำพูดที่บอกลูกให้ทำแต่สิ่งที่ดีก็ตาม พ่อแม่จึงต้องรู้จักฝึกจิตใจ ทำความรู้สึกตัว ให้มีสติ การมีสติสัมปชัญญะ ตรงกับปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สอนไม่ให้ประมาท

เด็กเล็กช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงทองที่สมองของลูกพัฒนามากที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อลูกโตขึ้น สามารถสอนได้ด้วยเหตุและผล แต่เมื่อลูกไม่ทำ ไม่น่ารัก พ่อแม่ควรไต่ถามลูกถึงสาเหตุ คุยกับลูกด้วยอารมณ์ที่ไม่โกรธ คุยให้รู้เรื่องเข้าใจกัน พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก เช่น เด็กเล็กร้องไห้ บอกถึงอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดูแลให้ถูกวิธี และเรียนรู้ที่จะอดทน ควบคุมอารมณ์เป็น เช่น อารมณ์ตกใจ ตื่นกลัว อารมณ์โกรธ และต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด หาข้อมูลเพื่อเลี้ยงลูกตามวัย รักเขาในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น แต่พ่อแม่คอยแนะนำให้ถูกทาง

การฝึกธรรมะในการเลี้ยงลูก คือ การรู้สึกตัว รู้สึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อมีปัญหากลับมาดูความรู้สึกที่ใจตนเอง คอยสอดส่องใจตัวเอง เพื่อแก้ไข พ่อแม่ต้องเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์ เรียนรู้ในความอดทน ในการสอนลูก ต้องสอนลูกด้วยไม่อารมณ์ที่โกรธหรือขัดใจ ต้องสอนด้วยความรู้สึกที่ลูกอยากรับฟัง

       พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า คนทั่วไปคิดว่าชีวิตเราที่ได้ดี มีสุขทุกวันนี้ เพราะคิดว่าเราเป็นผู้ทำ ที่จริงแล้วเป็นผลของกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูก ตอนลูกเล็กๆ เราจับเขาวางตามใจเรา เลี้ยงแบบที่เราชอบ เมื่อลูกโตขึ้นเราจะจับเขาวางเลี้ยงเขาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะลูกมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง พ่อแม่ต้องเรียนรู้สถานะ ความต้องการ การกระทำที่เปลี่ยนไปของลูกอยู่ตลอดเวลา

       เมื่อมีลูกแล้วไม่ใช่ให้เขาแต่วัตถุ เราต้องให้เวลา ในเวลาที่เขาอยากได้ หรือลูกคุยกับเพื่อนนาน แม่อยากรู้ เลยแอบฟังลูกคุย แบบนี้ถือเป็นเรื่องก้าวก่าย หรือบังคับให้ลูกบอก เพราะคิดว่า ลูกเป็นของเรา พ่อแม่ต้องรู้ทุกอย่างของลูก บางครั้งลูกอยากมีความลับก็ได้ หรือเวลาลูกเล็กๆ หยิบของสกปรกเข้าปาก เรารีบคว้าออกทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของลูก แม้จะบอกทีหลังแต่ลูกก็โกรธไปแล้ว จะเห็นว่า ทั้งที่มีเจตนาที่ดีก็ตาม แต่วิธีการที่แสดงนั้นผิด

       พ่อแม่มักคิดว่า ลูกเป็นสมบัติของตน จึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งคิดว่าดีที่สุด เช่น ในการคบเพื่อน พ่อแม่สนใจไต่ถามเรื่องเพื่อนลูกได้ แต่ไม่ใช่วิจารณ์หรือตำหนิในส่วนไม่ดีของเพื่อนลูกโดยที่ลูกยังรับไม่ได้

       ที่สำคัญ ควรรู้ว่าสถานะของพ่อแม่เป็นเพียงที่ปรึกษาและรับฟัง แต่เรื่องตัดสินใจเป็นของลูก นี่ก็เป็นการฝึกจิตของพ่อแม่ให้รู้ฐานะและมีความอดทนไม่ก้าวก่ายการตัดสินใจของลูก

       ชีวิตครอบครัว คือ การอยู่ร่วมกัน ธรรมะจึงเป็นหัวใจของครอบครัว ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุข สงบ สันติ การเลี้ยงลูก สอนลูกก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มที่พ่อแม่ฝึกสติให้รู้เท่าทัน ฝึกใจให้ร่มเย็น ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีงามด้วยใจที่รู้ ตื่น เบิกบาน 

       พ่อแม่ที่มีธรรมะ มีศีลธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนดี มีคุณธรรมและมีความสุขอย่างแน่นอน และความที่เป็นคนดีก็จะแบ่งปันไปถึงผู้อื่น และทำให้สังคมดีขึ้นด้วย

       ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องอยากค่ะ จริงๆ มีคำแนะนำอยู่ข้อเดียว คือพ่อแม่ต้องมีธรรมะและปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น

ขอขอบคุณบทความดีดีจากคอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก โดยสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน       

http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9570000000164

แชร์