เผยข้อมูล7สนช. ขาดประชุมสนช. บ่อยจนอาจสิ้นสมาชิกภาพ พบพล.อ.ปรีชา -ผู้นำเหล่าทัพ เป็น1ใน7

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิก สนช. : รับเงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนจากการเป็นสมาชิกสนช. (ประมาณ 113,560 บาท ต่อเดือน) http://winne.ws/n13300

1.1 พัน ผู้เข้าชม
เผยข้อมูล7สนช. ขาดประชุมสนช. บ่อยจนอาจสิ้นสมาชิกภาพ พบพล.อ.ปรีชา -ผู้นำเหล่าทัพ เป็น1ใน7

เปิดข้อมูล พล.อ.ปรีชา-ผู้นำเหล่าทัพ ขาดประชุมสนช. บ่อยจนอาจสิ้นสมาชิกภาพ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิก สนช. ระบุว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. เว้นแต่ ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา แต่เมื่อขอข้อมูลการยื่นใบลากลับพบว่า “ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ”

ทั้งนี้ บทลงโทษเกี่ยวกับการขาดประชุมของสมาชิกสนช. ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ถ้าสมาชิก “ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช. สิ้นสุดลง และยังมี กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82. ว่า “สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง 

กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม … มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ…” หรือ หมายความว่า “ในรอบระยะเวลา 90 วัน” ถ้าสมาชิก สนช.คนใด “ไม่มาลงมติเกินกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลานั้น จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสนช. อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกมาลงมติไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ได้ลาประชุมไว้แล้ว ก็จะไม่ส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ

โดยไอลอร์ ระบุว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจของไอลอว์ โดยการเลือกรอบระยะเวลา 2 รอบ (180 วัน) ของปี 2559 และค้นหาจำนวนการแสดงตนเพื่อลงมติของสมาชิกสนช. จำนวน 8 คน ว่า มารายงานตัวเพื่อลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมดหรือไม่ 

พบว่า สมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ทำการสำรวจ มาลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติในแต่ละรอบ อันได้แก่ พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา, สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพลเรือเอกณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ

รอบวันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 มีนาคม 2559 มีการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมด คือ 84 ครั้ง พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ มาลงมติ 55 ครั้ง, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ มาลงมติ 81 ครั้ง, ดิสทัต โหตระกิตย์ มาลงมติ 4 ครั้ง, สุพันธุ์ มงคลสุธี มาลงมติ 57 ครั้ง, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา มาลงมติ 5 ครั้ง

รอบวันที่ 1 เมษายน 2559 – 29 มิถุนายน 2559 มีการลงมติทั้งหมด 203 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมด คือ 68 ครั้ง พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ ไม่มาลงมติเลย, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา มาลงมติ 1 ครั้ง, พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง มาลงมติ 63 ครั้ง และพลเรือเอกณะ อารีนิจ มาลงมติ 1 ครั้ง

จากการสำรวจทำให้พบจุดร่วมของสมาชิกส่วนใหญ่ที่ขาดประชุมบ่อย ๆ ว่า มักจะเป็นสมาชิก สนช. ซึ่งทำงานควบตำแหน่งหรือยังมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำอยู่ด้วย แต่ทว่า สมาชิกเหล่านี้ ยังคงได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดทั้งสองทาง นั้นคือ เงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนจากการเป็นสมาชิกสนช. (ประมาณ 113,560 บาท ต่อเดือน โดยไม่รวมเบี้ยประชุมกรรมาธิการ และอื่นๆ) โดยจากการได้ลองโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอดูบันทึกการลาประชุมของ สมาชิก สนช. แต่ละท่าน โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว แจ้งว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ขอเป็นความลับของทางราชการ พร้อมยืนยันว่า สนช. ทุกท่านยื่นใบลาให้ทางสภาทุกครั้ง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.matichon.co.th/news/462681    วันที่ 16 ก.พ. 2560

แชร์