“พ่อขุนรามพล” คือใคร หาคำตอบได้ที่นี่

สันนิษฐานในชั้นต้นว่า พ่อขุนรามพลอาจเป็นองค์เดียวกันกับพระยาราม อนุชาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) (โปรดดู ศิลาจารึกหลักที่ 11) และพ่อขุนศรี อาจเป็นพระยางั่วนำถุมก็เป็นได้ ทั้งนี้คงต้องพิจารณาจากรายละเอียดที่อาจอ่านได้เพิ่มเติมในโอกาสข้างหน้า http://winne.ws/n13378

1.6 พัน ผู้เข้าชม
“พ่อขุนรามพล” คือใคร หาคำตอบได้ที่นี่

วันที่ 17 มกราคม เป็น “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” โดยนับเอาวันที่ “เจ้าฟ้าพระ” (คือรัชกาลที่สี่) ได้พบสิลาจารึกสุโขทัยหลักที่หนึ่งระหว่า’ที่ทรงธุดงค์ไปสุโขทัย
ชื่อ “พ่อขุนรามคำแหง” นั้น คนไทยได้ยินคุ้นหู ว่าทรงเป็นกษัตริย์สุโขทัย ทรงประดิษฐือักษรไทย
แต่คนไทยไม่ค่อยรู้กันหรอกว่า มีชื่อ “พ่อขุนราม ฯ” หลายชื่อ
คำว่า “ราม” ในพระนาม พ่อขุนรามคำแหงนั้น มิได้หมายถึงพระราม – เทพเจ้าของชาวภารตะ
แต่ในภาษาไทยโบราณ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในภาษาล้านนา นั้น “ราม” ออกเสียงว่า “ฮาม” แปลว่าขนาดกลางๆ หรือหมายถึงลูกคนกลาง ส่วนในภาษาลาวนั้น ราม (ฮาม) หมายถึงวัยรุ่น เช่น วัวราม , (ต้น) รังราม
“รามคำแหง” มิได้หมายความว่า พระรามที่กล้าหาญ แต่หมายถึง “เจ้าองค์กลางผู้กล้า”
เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7” ขึ้น ปรากฏพระนาม “พ่อขุนรามพล” อยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 285 พ่อขุนรามพลเป็นใคร จนบัดนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะศิลาจารึกหลักนั้นลบเลือนมาก สามารถอ่านออกได้เพียงน้อยนิด จึงไม่อาจสรุปได้

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงชื่อ “พ่อขุนรามพล” นี้ก็ไม่ได้บอกว่าคือผู้ใด ท่านเพียงแต่อธิบายความหมายอันแท้จริงของคำว่า “ราม” (ฮาม) ท่านเล่าไว้ดังนี้
“...ในนิตยสาร(ศิลปวัฒนธรรม)ประจำเดือนมกราคมนั้น ในเรื่องคำให้การของบรรณาธิการเกี่ยวกับพระนามพระเจ้าแผ่นดินในสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏขึ้นว่ามีพระนามใหม่อีกพระนามคือพระนาม “พ่อขุนรามพล”
ในศิลาจารึกหลักที่ 285 มีข้อความว่า “พ่อขุนรามพล เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาไลยสุโขทัย”
“พ่อขุนรามพลได้เมืองศรีสัชนาไลยคืนโสดเขาพี่น้อง”
พระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์ที่คนไทยรู้จักมากที่สุดและมีพระนามแพร่หลายมากที่สุดก็คือ พระเจ้ารามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย
พระนามของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชนี้ ในจารึกต่างๆ เรียกว่าพ่อขุนรามคำแหงบ้าง พ่อขุนรามราชบ้าง หรือพระยารามราช
ผมไม่สนว่าพ่อขุนรามพล พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ปรากฏขึ้นใหม่นี้จะเป็นใคร หรือมีพระราชประวัติความเป็นมาอย่างไร ขอยกไว้ให้ท่านนักโบราณคดีและท่านนักวิชาการได้ศึกษาวินิจฉัยต่อไป
แต่ผมสนใจที่พระนามาภิไธย คือคำว่า ราม ที่ปรากฏอยู่ในนั้น
นักวิชาการบางท่านดูเหมือนจะเข้าใจว่าคำว่ารามในที่นี้หมายถึงพระรามอวตาร ซึ่งคนไทยสนใจและนับถืออยู่มากถึงกับมาตั้งสร้อยพระนามาภิไธยของพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาว่าสมเด็จพระรามาธิบดี และคำว่ารามนี้ยังปรากฏนำพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแห่งไทยต่อมาเรื่อยๆ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก้ได้ประกาศให้พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์นี้เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง ลงมาจนถึงรัชกาลที่หก
แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังถือคำว่า รามหรือรามาธิบดีเป็นพระนามาภิไธยของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สะพานพระรามเก้า และถนนพระรามเก้า เป็นต้น
แต่ว่าในจารึกเมืองสุโขทัยนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่พูดถึงพุทธรูปอันใหญ่และพระพุทธรูปอันราม
ภาษาที่ใช้ในจารึกหลักที่หนึ่งของพระเจ้ารามคำแหงนั้น รู้สึกว่ามีภาษาเหนือ คือ “คำเมือง” ปะปนอยู่มากมายหลายคำ เกือบจะเรียกได้ว่าคนที่พูดภาษาเหนือเป็น อ่านสิลาจารึกนี้แล้ว ค่อนข้างจะเข้าใจได้มากกว่าคนที่อยู่ในภาคกลางหรือภาคอื่นๆ ในประเทศไทย
ผมเข้าใจว่าวิธีการออกเสียงภาษาไทยในเมืองสุโขทัยสมัยนั้น ก็คงออกแบบภาษาไทยในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัว ร นั้นจะออกเสียงเป็นตัว ฮ เช่น รักว่าฮัก ร้ายว่าฮ้าย หรือเรือนว่าเฮือน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น คำว่าพระพุทธรูปอันใหญ่ พระพุทธรูปอันราม ในหลักศิลาจารึกก็จะต้องอ่านออกเสียงว่า พระพุทธรูปอันใหญ่และพระพุทธรูปอันฮาม
คำว่าฮามนั้นในภาษาไทยภาคเหนือแปลว่า อย่างกลาง หรือ มีขนาดปานกลาง หรือ ลูกชายคนกลาง ก็ได้
สมเด็จพระเจ้ารามคำแหงมหาราชนั้นมิใช่พระราชโอรสองค์โตของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่เป็นพระราชโอรสองค์กลางถัดจากพ่อขุนบาลเมืองลงมา
แต่แรกก็คงเรียกกันแต่เพียงว่า เจ้าฮาม หมายถึงเจ้าองค์กลางเท่านั้น อย่างที่เราเรียกพระองค์ชายกลางในปัจจุบันนี้
เมื่อสมเด็จพระราชบิดาจะขนานพระนามให้สมกับความกล้าหาญของพระองค์ในสนามรบ จึงได้ขนานพระนามขึ้นเติมสร้อยว่า คำแหง แปลว่า เจ้าองค์กลางผู้กล้า หรือ ผู้คำแหง มิใช่รามของแขกคือพระรามอวตารเป็นแน่นอน หากเข้าใจดังนี้แล้ว พ่อขุนรามพลจะเป็นท่านผู้ใดก็ตาม แต่จะต้องเป็นพระราชโอรสองค์กลางของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้นพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง” (“ซอยสวนพลู” ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2536)
.................................

จารึกหลักที่ 285 ที่ปรากฏพระนาม “พ่อขุนรามพล” นี้ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรท่านให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ว่า
จารึกพ่อขุนรามพล
พิจารณาจากข้อความจารึกแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล เดิมเคยอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครย้ายมาไว้ที่ระเบียงคต องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่เมื่อใด เดิมนายประสาร บุญประคอง ได้เคยทำแผ่นสำเนาจารึกหลักนี้ไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และได้ขึ้นทะเบียนวัตถุไว้ เลขที่ นฐ. 12 แต่สำเนาจารึกเลือนลางมาก ในครั้งนั้นนายประเสริฐ ณ นคร ได้อ่านในชั้นต้นแล้วได้ความแต่เพียงว่าเป็นจารึกตัวอักษรสมัยสุโขทัย และเป็นเรื่องการทำบุญ ครั้นเมื่อ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำริที่จะจัดพิมพ์ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ดร. ประเสริฐ ณ นคร จึงได้เสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบและได้พยายามอ่านข้อความจากสำเนาจารึกอีกครั้งหนึ่ง และพบว่ามีคำ พ่อขุนรามพล อยู่เป็นที่สนใจเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้นายเทิม มีเต็ม ไปอ่านตัวอักษรจารึกที่หลักศิลาจริง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม และ วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2534 ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบการถ่ายอักษรจารึกและการอ่านทั้งจากหลักศิลาจริง แผ่นสำเนากดทับ และภาพถ่ายประกอบกัน ข้อความจารึกที่นำมาลงพิมพ์ข้างท้ายนี้ เป็นผลมาจากการอภิปราย และความเห็นชอบตรงกันของผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกทั้งสองท่าน เมื่อตรวจสอบตามบัญชีศิลาจารึกต่างๆ ในภาคผนวกของ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (พิมพ์ พ.ศ. 2467 และ พิมพ์ พ.ศ. 2521) นายเทิม มีเต็ม และ ศาสตราจารย์ ดร. 

ประเสริฐ ณ นคร ทั้งสองมีความเห็นว่า จารึกพ่อขุนรามพล น่าจะตรงกับจารึกจากอำเภอวังไม้ขร จังหวัดสวรรคโลก ซึ่งในบัญชีอยู่ในลำดับที่ 94 (ในเวลานั้น) ซึ่งเข้าใจว่าพบที่วัดมหาธาตุ เมืองเชลียง และมีจารึกอยู่ 3 ด้าน ด้านละ 60 บรรทัดเช่นกัน จารึกจากอำเภอวังไม้ขรหลักนี้ มีหลักฐานว่านำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ แต่เมื่อสอบถามดู ภัณฑารักษ์ก็ไม่ทราบและมีหลักฐานว่า ย้ายไปอยู่ ณ ที่ใดแล้ว ดังนั้นจึงใคร่สันนิษฐานว่า จารึกหลักวังไม้ขร หรือ จารึกพ่อขุนรามพล อาจจะถูกขนย้ายลงมาพร้อมกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ ภายหลังเมื่อย้ายพระร่วงโรจนฤทธิ์ไปประดิษฐานที่องค์พระปฐมเจดีย์ จารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกขนย้ายไปด้วยก็เป็นได้ ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกย้ายจากระเบียงคตด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เข้ามาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากจารึกนี้ทั้ง 4 ด้านที่มีคำจารึกอยู่นั้น อยู่ในสภาพที่ตัวอักษรเลือนหายไปมาก จึงทำให้อ่านได้เพียงด้านเดียว จึงได้ข้อมูลที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้ทำให้สันนิษฐานในชั้นต้นว่า พ่อขุนรามพลอาจเป็นองค์เดียวกันกับพระยาราม อนุชาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) (โปรดดู ศิลาจารึกหลักที่ 11) และพ่อขุนศรี อาจเป็นพระยางั่วนำถุมก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์อาจหมายถึงกษัตริย์คู่อื่นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้คงต้องพิจารณาจากรายละเอียดที่อาจอ่านได้เพิ่มเติมในโอกาสข้างหน้า เนื้อความเท่าที่อ่านได้กล่าวถึงประวัติของกษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่งพระนามว่า “พ่อขุนรามพล” ด้วยข้อความที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงสันนิษฐานได้คร่าวๆ เพียงว่า ในปีระกา พ.ศ. 1888 พ่อขุนรามพลคงได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยมาก่อน ต่อมามีพ่อขุนอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า พ่อขุนศรี อาจมาร่วมครองเมืองด้วย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีสวรรคต เมืองจึงตกเป็นของพ่อขุนรามพลเพียงผู้เดียว พ่อขุนรามพลน่าจะมีพี่หรือน้องชายอีก
จารึกพ่อขุนรามพล ควรมีอายุก่อนหรือใกล้กับ พ.ศ. 1900 ทั้งนี้เนื่องจาก
(1) คำว่า “พ่อขุน” ซึ่งใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยก่อนปี พ.ศ. 1900
(2) สุโขทัยได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พรญา (พระยา)” เรียกกษัตริย์แทนตั้งแต่ จารึกหลักที่ 3 พ.ศ. 1900
(3) “จารึกพ่อขุนรามพล” ไม่ได้ใช้ “ไม้หันอากาศ” ซึ่งเริ่มใช้ระหว่าง พ.ศ. 1902 – 1904 และ ยังใช้ตัวอักษร “ธ” และ “ฃ” เป็นรูปที่ใช้อยู่ก่อน พ.ศ. 1935
(อ้างอิง “ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย” ของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

แชร์