สธ.เตือนเฝ้าระวัง โรค‘มือเท้าปาก’ เด็กป่วยเฉียด7พัน

สธ. กำชับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมกราคมที่ผ่านมา พบเด็กเล็กป่วยเพิ่มมากขึ้น เพราะอยู่ในสถานที่ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันมาก เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ย้ำล้างมือ และหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เป็นประจำ http://winne.ws/n13382

546 ผู้เข้าชม
สธ.เตือนเฝ้าระวัง  โรค‘มือเท้าปาก’  เด็กป่วยเฉียด7พัน

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบเด็กเล็กป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนมากอยู่ในสถานที่ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันมาก เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล จึงได้ขอความร่วมมือในการตรวจคัดกรองเด็กตอนเช้าทุกวัน โดยให้เด็กล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เป็นประจำ

นพ.โสภณ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้หากพบเด็กป่วยโรคนี้ขอให้แยกออกจากเด็กปกติ แล้วแจ้งผู้ปกครองให้รักษาตัวจนกว่าจะหาย และหากพบเด็กป่วยหลายคนในชั้นเรียนเดียวกัน ควรพิจารณาปิดห้องเรียน หรือหากมีเด็กป่วยหลายๆ ห้อง ควรพิจารณาปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาด แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันที อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วย 6,790 รายทั่วประเทศ ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากจะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การติดต่อของโรคจะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูกน้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จามรดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน จะเริ่มแสดงอาการป่วย ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ ที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และปาก หาเป็นตุ่มแผลในปากบริเวณรอบๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาก็จะแตกเป็นแผลมีหลุมตื้นๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่รับประทานอาหารเพราะเจ็บปาก โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

“วิธีที่ดีที่สุดซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากโรคมือ เท้า ปาก คือรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่สาธารณะ โดยโรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เพื่อลดไข้เป็นระยะๆ ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็นเพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก ทั้งนี้ ประชาชนที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.โสภณ กล่าว

ขอบคุณ, http://www.naewna.com/local/257178

แชร์