ดันสมุนไพรรางจืดเป็นสมุนไพรสู่ตลาดโลก “ราชาแห่งการถอนพิษ”

เป็นสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปเลือกใช้เพื่อใช้ แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว ฯลฯ ยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกลการจะนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ http://winne.ws/n13425

1.3 พัน ผู้เข้าชม
ดันสมุนไพรรางจืดเป็นสมุนไพรสู่ตลาดโลก “ราชาแห่งการถอนพิษ”

       กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลกผลักดัน"รางจืด"เป็นสมุนไพรตัวแรกเปิดตัวสู่ตลาดโลกและเปิดโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ดันครัวไทยสู่ครัวโลกให้เป็นรูปธรรม

       สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติเปิดบ้านโชว์ความพร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลกในโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ด อินโนโพลิส พร้อมลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ผลักดันให้ "รางจืด" เป็นสมุนไพรตัวแรกให้ตลาดโลกเป็นที่รู้จัก สมุนไพรไทยต้องมีที่ยืนในตลาดโลก พร้อมกันนี้ ขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารกับ 17 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เปิดที่ทำการโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ด อินโนโพลิส ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นรูปธรรมในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลกได้

        การเปิดบ้านฟู้ด อินโนโพลิส ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นในการทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารและสมุนไพร ที่สำคัญการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพบุคลากรคนไทย ภายในศูนย์ฟู้ด อินโนโพลิสแห่งนี้จะแบ่งพื้นที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามหลักฐานสากล โดยมีทีมวิจัยและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ทันสมัยสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทางภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้

ลักษณะของรางจืด

       รางจืด หรือ ว่านรางจืด ชื่อสามัญ Laurel clockvine, Blue trumphet vine                ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia Lindl จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด เป็นต้น

        ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง     มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ       แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของประเทศไทยทั่วทุกภาค เจริญเติบโตได้เร็วมาก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถาในการปักชำ

        ใบรางจืด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบ

        ดอกรางจืด ลักษณะของดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น         5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน

        สมุนไพรรางจืด “ราชาแห่งการถอนพิษ” เป็นสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปเลือกใช้เพื่อใช้แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว ฯลฯ ยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล การจะนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่แถวบ้าน เราก็สามารถใช้ใบรางจืดที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป หรือใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ในขนาดปริมาณเท่านิ้วชี้มาใช้เพื่อรักษาบรรเทาอาการของพิษเฉพาะหน้าไปก่อน ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยานั้นก็ได้แก่ ใบ ราก และเถาสด

       ในปัจจุบันผู้คนได้รับสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 45% โดยสารพิษเหล่านี้ร่างกายต่างก็ไม่ต้องการ เพราะเมื่อเกิดการสะสมเข้าไปในร่างกายในปริมาณมากและต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ขึ้นมาได้ในอนาคต อย่างเช่น โรคมะเร็ง ซึ่งแน่นอนว่าอัตราการเกิดโรคของคนในยุคปัจจุบันนี้ก็ได้เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งสมุนไพรรางจืดนี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณในการช่วยขับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ในอนาคตนั่นเอง

แชร์