วันสตรีสากล.. รำลึกนักสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

“วันสตรีสากล” วันที่ประเทศต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงบทบาทของ “ผู้หญิง” ในฐานะ “พลังทางสังคม” มีบทบาทในการ “สร้างสรรค์” ขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย http://winne.ws/n13832

748 ผู้เข้าชม
วันสตรีสากล.. รำลึกนักสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

“8 มีนาคม” ของทุกปี ตรงกับ “วันสตรีสากล” วันที่ประเทศต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงบทบาทของ “ผู้หญิง” ในฐานะ “พลังทางสังคม” มีบทบาทในการ “สร้างสรรค์” ขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย
แต่กว่าจะกลายมาเป็นวันสำคัญนี้ได้ ต้องย้อนไปเมื่อ “ร้อยกว่าปีก่อน” วันที่มีการต่อสู้ถึงขั้น...

นองเลือด!!!

วันที่ 8 มี.ค. 2400 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (New York, USA) ยุคสมัยนั้นไม่ว่าที่ใดในโลก “ชายเป็นใหญ่” ยังเป็นค่านิยมกระแสหลัก แม้กระทั่งโลกตะวันตกที่ดูจะเจริญกว่าที่อื่นก็ตาม ในวันดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสตรีในโรงงานทอผ้า ชุมนุมประท้วงในโรงงาน เรียกร้อง“ค่าจ้าง-สวัสดิการ” ที่มีความ “เสมอภาค” ระหว่างแรงงานหญิงกับแรงงานชาย ทว่าบทสรุปของเหตุการณ์วันนั้น “มือมืด” ลอบวางเพลิงเผาโรงงานดังกล่าว ส่งผลให้ผู้หญิงที่ร่วมการประท้วง “สังเวยชีวิต” ในกองเพลิงไปถึง...

119 ศพ!!!

แม้จะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่นั่นคือ “หมุดแรก” ที่แรงงานหญิงกลุ่มหนึ่งปักทิ้งไว้ให้รุ่นต่อๆ มา ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิที่พึงได้ในฐานะ “มนุษย์” อย่างเท่าเทียม เช่น วันที่ 8 มี.ค. 2450 หรือ “50 ปีให้หลัง” มีการประท้วงใหญ่อีกครั้งที่นครชิคาโก หลังต้องทนทำงานวันละ 16-17 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มีสวัสดิการ ที่สำคัญ “หากตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกทันที” จึงเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน แม้การประท้วงหนนี้หลายคนจะถูกจับกุม แต่ก็ได้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ”ไปสู่ผู้หญิงทั่วโลก

กระทั่ง 3 ปีต่อมา วันที่ 8 มี.ค.2453 ตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในที่ประชุมได้ข้อสรุปรับรองหลัก “สาม 8”คือใน 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง ผู้ใช้แรงงานจะทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังกำหนดให้งานแบบเดียวกัน แรงงานชายและหญิงต้องได้ค่าจ้างเท่ากัน มีการกำหนดสวัสดิการคุ้มครองแรงงานหญิงและเด็ก จึงอาจถือได้ว่า “คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน” ที่ดีขึ้นตามลำดับ ผู้หญิงมีส่วนร่วมอยู่ไม่น้อยในการ...

วางรากฐาน!!!

จากประเด็นแรงงาน บทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ทั้งสิทธิความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชาย หรือหญิงและชายกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) รวมไปถึงประเด็นสิทธิชุมชน การปกป้องพื้นที่ทำกินจากโครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานมอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อ 6 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ณ รร.แอมบาสซาเดอร์ ซ.สุขุมวิท 11
กรุงเทพฯ

ซึ่งผู้ได้รับรางวัลก็มีทั้งในนามกลุ่มและบุคคล อาทิกรณี “สดๆ ร้อนๆ” ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2560 อย่าง “ประท้วงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ภาพมวลชนชาว จ.กระบี่ เดินทางไกลมา “ปักหลัก” หน้าทำเนียบรัฐบาล กทม. จนรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องสั่ง “ชะลอ” โครงการออกไปก่อน และให้ไปจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EIA, EHIA) มาใหม่ ทั้งนี้ตลอดการชุมนุมมี “ผู้หญิง” เข้าร่วมด้วยอยู่ไม่น้อย

แกนนำสตรีเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ รายหนึ่ง ที่มาร่วมงานรับรางวัลครั้งนี้ เปิดเผยว่า ทั้ง 3 ครั้งของการทำ EIA, EHIA ฝ่ายคัดค้านถ่านหินถูก “กีดกัน” ตลอดเวลา อาทิ ให้เวลาแสดงความคิดเห็นน้อยกว่าฝ่ายสนับสนุน หรือแม้แต่มีการนำกำลังตำรวจและทหารมา “ล้อม” ด้านหน้าสถานที่ประชุม เพื่อไม่ให้ฝ่ายคัดค้านเข้าถึง ทำให้ตัดสินใจเดินทางมายัง กทม. ดังกล่าว

“กระบี่เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อนคนกระบี่ได้บทเรียนอะไรบ้าง? ชาวบ้านอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า 2 กิโลเมตร ตอนนั้นคนกระบี่ไม่มีข้อมูล จึงไม่ได้คัดค้าน แต่พอโรงไฟฟ้าปิดไป ก็ได้สร้างมรดกที่เจ็บปวดให้คนในพื้นที่ ใน 1 หมู่บ้านมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 7 ราย หอบหืดนี่ยกหมู่บ้าน แล้ววันนี้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับไปอยู่ที่กระบี่อีก” ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ระบุ

ไม่ต่างจาก ณัฐพร อาจหาญ หญิงสาวดีกรีปริญญาตรี ม.เกษตรศาสตร์ และปริญญาโทม.ธรรมศาสตร์ ตัดสินใจ “ลาเมืองกรุง”ทิ้งงานสื่อมวลชนที่เคยทำไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้ากลับภูมิลำเนา “ถิ่นอีสาน” ไปร่วมกับชาวบ้าน อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ และที่บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น คัดค้านโครงการขุดเจาะปิโตรเลียมที่รัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งพบว่า
กระบวนการทำ EIA, EHIA มีปัญหา

“เราเห็นปัญหา กระบวนการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ประชาชนคนในพื้นที่แทบจะไม่มีส่วนร่วม ไม่มีโอกาสได้เข้าไปรู้เลย ทุกคนต้องลุกขึ้นมาแสวงหาความรู้แล้วเดินไปบอกกับรัฐ ภายใต้ข้อจำกัดทั้งทางอำนาจและข้อมูล แต่ทุกคนไม่มีใครย่อท้อ เพราะหลังมันชนฝา ถ้าไม่สู้ ที่อยู่ที่กินมันก็หมด” เธอกล่าว

ลำพังการเป็น “คนเล็กคนน้อย” เพียงอย่างเดียวก็มักถูก “มองข้าม” เมื่อมีโครงการพัฒนาต่างๆ อยู่แล้ว ยิ่งถ้าพ่วงสถานะ “กลุ่มชาติพันธุ์” ที่แม้จะตั้งรกรากอยู่มานานหลายชั่วคน แต่ “ตกสำรวจ” จากทางการ ก็ยิ่งเอื้อต่อการถูกคนกลุ่มอื่นๆ “ข่มเหงรังแก” มากขึ้น

ดังเรื่องเล่าของ คะติมะ หลีจ๊ะ สาวน้อยจาก “เผ่าลีซู” พื้นที่สันป่าเหียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ด้วยความที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ “ไม่มีสัญชาติ” เมื่อเกิดข้อพิพาทกับคนชุมชนข้างเคียง แม้จะไม่ใช่ฝ่ายผิด เช่น ปล่อยวัวควายเข้ามากินพืชผลที่ชาวลีซูปลูกไว้ โดยบอกว่าถ้าอยากเรียกร้องค่าเสียหายให้แจ้งความเอาเอง แต่ “ระวังจะถูกจับ” เพราะไม่มีบัตรประชาชน ด้วยความที่ “ไม่รู้กฎหมาย” จึงได้แต่..

วันสตรีสากล.. รำลึกนักสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

ยอมจำทน!!!

กระทั่งมาถึงจุดที่ไม่อาจทนได้อีก เมื่อพ่อของ คะติมะ ถูกยิงเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ในปี 2555 โดยผู้นำชุมชนที่เป็นคนยิง อ้างว่า บุกรุกป่าชุมชนและยิงใส่เจ้าหน้าที่ก่อน ทำให้ต้องยิงตอบโต้จนเป็นเหตุ “วิสามัญฆาตกรรม” ต่อมาเมื่อคณะ กสม. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังได้รับเรื่องร้องเรียน คนในพื้นที่ต่าง “ปิดปากเงียบ” การต่อสู้ของเธอจึงยังดำเนินต่อไป แม้จะถูกข่มขู่คุกคาม โดยหวังว่าจะพบ “ความเป็นธรรม” ในสักวันหนึ่ง

“ตอนนี้ก็ต้องมารอดูอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนยิงพ่อเขาจะมีความผิดไหม? เพราะเขาอ้างว่าทำไปเพราะหน้าที่ แต่แผลในตัวพ่อมันไม่ใช่หน้าที่ มันตั้ง 3 แผล ตอนที่เห็นแผลนี่รู้เลยว่ามันไม่ใช่ความผิด แต่มันเป็นการฆ่าเพื่อข่มขู่ เพราะเราเป็นชนเผ่า” คะติมะ กล่าว

ในงานมอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ครั้งนี้ มีผู้ได้รับคัดเลือกแบ่งเป็น “4 กลุ่ม” ประกอบด้วย 1.กลุ่มสตรีเครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา 2.กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง 3.เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ ทั้ง 3 กลุ่มเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และ 4.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งต่อสู้ในประเด็นเพศที่ 3 ถูกเลือกปฏิบัติ

กับ “4 บุคคล” ประกอบด้วย 1.ภิกษุณีธัมมนันทา หรือชื่อเดิมตอนเป็นฆราวาสคือ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนอุปสมบทเป็นภิกษุณีเมื่อปี 2546ณ ประเทศศรีลังกา ปัจจุบัน ภิกษุณีธัมมนันทา เดินหน้าให้ความรู้กับพุทธศาสนิกชนในไทย ที่หลายคนยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับการฟื้นภิกษุณีขึ้นมาใหม่

2.ณัฐพร อาจหาญ หญิงสาวผู้ช่วยชาวบ้านต่อสู้ประเด็นสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม และที่ทำกินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.คะติมะ หลีจ๊ะ สาวน้อยจากเผ่าลีซู จากที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้พ่อที่ถูกยิงเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ กลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ และ 4.พนา เจริญสุข จากผู้หญิงที่เผชิญ “มรสุมชีวิตคู่” ถูกอดีตสามี “หลอก” ว่าหย่ากับภรรยาเก่าแล้ว แต่จริงๆ คือหลังหย่าก็ไปจดทะเบียนสมรสกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งแล้วมาคบกับเธอ กลายมาเป็น “ผู้ให้กำลังใจ” ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงต่างๆ

มีคำกล่าวว่า “ที่ใดมีความไม่เป็นธรรมที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” และจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าต่างประเทศหรือในประเทศไทย ทุกการต่อสู้เรียกร้องมีบทพิสูจน์แล้วว่าผู้หญิงทำหน้าที่ได้...

“เข้มแข็ง” ไม่แพ้ “ชายอกสามศอก”!!!

 

ขอบคุณ, http://www.naewna.com/lady/259314

แชร์