เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

เจ้าชายสูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง แต่เจ้าชายกลับทูลว่า “ทุกคนจะต้องได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำไว้ เมื่อเป็นดังนี้ จะกล่าวได้อย่างไรว่า เราประสบภัยพิบัติเพราะการกระทำของคนอื่น หม่อมฉันคงเคยได้ทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ อันเป็นเหตุให้ต้องเสียจักษุ” http://winne.ws/n13917

3.0 พัน ผู้เข้าชม
เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

•เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี•

พระนางปัทมาวดี พระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศก ได้ประสูติพระราชโอรสที่มีรูปโฉมงดงาม ดวงพระเนตรมันขลับ เหมือนกับนกกุณาละ ในหิมวันตประเทศ พระราชาจึงขนานพระนามเจ้าชายว่า “กุณาละราชกุมาร” 

เมื่อทรงเจริญวัยพอที่จะอภิเษกสมรสได้แล้ว เจ้าชายก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงผู้งามพร้อมพระองค์หนึ่งพระนามว่า “กาญจนมาลา” ทั้งสองรักใคร่อย่างมีความสุข แต่ชีวิตมนุษย์นั้นมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไป

สาเหตุแห่งความพินาศของเจ้าชายกุณาละ คือมารดาเลี้ยงแห่งพระองค์ พระนางนั้นคือ “พระนางติษยรักษิตา” พระนางเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศก แต่พระชนม์ยังเยาว์มาก เป็นที่ปรากฏว่าทรงงามเลิศ พระพักตร์น่าเย้ายวน เป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งนัก ถึงแม้จะงามเห็นปานนี้แต่ดวงพระทัยซิหางดงามด้วยไม่

วัยของพระนางไม่ห่างจากเจ้าชายกุณาละเท่าใดนัก แต่ทรงอยู่ในฐานะพระมารดาเลี้ยง ทำให้เปิดโอกาสในการใกล้ชิดเจ้าชายโดยสะดวก เจ้าชายเล่าก็มีพระรูปงามเกินกว่าที่สตรีใดจะหักห้ามใจได้ และเนื่องจากพระเจ้าอโศกระยะหลังหมกมุ่นในทางธรรม จนเกือบจะมิได้เหลียวแลพระมเหสีเลย พระนางจึงกำลังเริ่มเสียดายความสาวที่ต้องร่วงโรยไป

พระนางหลงรักเจ้าชายกุณาละจนยากจะหักห้ามใจได้ ฝ่ายเจ้าชายกุณาละมาบัดนี้พระองค์ไม่พอพระทัยในความรื่นเริงใด ๆ เลย ใฝ่หาความวิเวกแต่พระองค์เดียว และนี่ก็เป็นโอกาสงามที่พระนางติษยรักษิตาได้เข้ามาประเล้าประโลมพระทัย

เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

วันหนึ่งเวลาบ่าย ที่ตำหนักของเจ้าชายเงียบสงัด เพราะพระชายาเสด็จออกไปข้างนอก พระนางตักษิยรักษิตาจึงเสด็จมาหาเจ้าชายโดยลำพังพระองค์เดียว เจ้าชายก็ต้อนรับตามฐานะพระมารดาเลี้ยง เมื่อพระนางทรงเห็นเจ้าชายพระพักตร์เศร้าหมองจึงปลอบประโลมพระทัย พร้อมทั้งสวมกอดเจ้าชาย แล้วทรงวิงวอนขอความรักจากเจ้าชาย

เจ้าชายทรงพิโรธ ผละพระนางออกไปพร้อมตรัสว่าพระนางทรงไม่มียางอาย ทรงขู่ว่าถ้าหากความประพฤตินี้ล่วงรู้ถึงพระราชบิดา จะมีโทษอาญาและเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติย์ พระนางเสียใจปนพิโรธจึงตรัสว่าจะไม่มาที่นี่อีกแล้วเสด็จจากไป

ฝ่ายเจ้าชายกุณาละเมื่อพระนางติษยรักษิตาเสด็จกลับไปแล้วก็ประทับนิ่ง ทรงสลดในอาการของพระนางที่อยู่ในฐานะพระมารดาเลี้ยงแห่งพระองค์ และดูเหมือนว่าวาจาของพระองค์รุนแรงไป ฝ่ายพระนางติษยรักษิตา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะต้องหาทางกำจัดเจ้าชายกุณาละให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปใจก็เริ่มอ่อน

ดังนั้นพระนางจึงเสด็จไปหาเจ้าชายอีกเป็นครั้งที่สอง มีอาการประหนึ่งรู้สึกผิดในการกระทำที่แล้ว เจ้าชายเข้าพระทัยว่าพระมารดาเลี้ยงทรงรู้สึกผิดจริง ก็กล่าวคำขออภัยโทษที่พระองค์ได้ล่วงเกินพระมารดาด้วยถ้อยคำอันรุนแรง พระนางติษยรักษิตาจึงจับมือเจ้าชายลูบไล้ไปมา พลันบังเกิดกามกิเลสโหมขึ้นอีก จึงสวม กอดเจ้าชาย

เจ้าชายปล่อยให้อาการเยี่ยงนั้นเป็นไปครู่หนึ่ง เมื่อทรงทราบชัดว่านั่นไม่ใช่ความเมตตากรุณาฉันท์มารดากับบุตร จึงผละพระนางออก แล้วตรัสว่า

“ข้าแต่พระชนนี! หม่อมฉันพอใจสละชีพเพื่อรักษาหน้าที่และรักษาความบริสุทธิ์ยิ่งกว่าชีวิต หม่อมฉันไม่ปรารถนามีชีวิตอยู่เพื่อรับความอัปยศอดสูแก่ผู้สุจริต และความดูหมิ่นสาปแช่งของเหล่าบัณฑิตชน การมีชีวิตอยู่โดยต้องรับความอัปยศอดสูเช่นนั้น เป็นเสมือนคนตายแล้วทั้งเป็นและเป็นการปิดทางสุคติของตน หม่อมฉันเกรงภัยทั้งในปัจจุบันภพนี้ และภพหน้า จึงไม่กล้าล่วงเกินข้อบัญญัติของนักปราชญ์ อันจักทำให้ท่านเหล่านั้นตำหนิได้ และตนเองก็ต้องติเตียนตนเองอยู่เนืองนิจ”

เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

พระนางติษยรักษิตาทรงนิ่งด้วยความโกรธแค้นชิงชังครู่หนึ่ง จึงเสด็จลุกไปโดยมิได้ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว บัดนี้พระนางมีพระทัยแน่วแน่ที่จะทำร้ายเจ้าชายกุณาละ บังเอิญเวลานั้นเมืองตักศิลาเกิดการกบฏ พระเจ้าอโศกจึงทรงรับสั่งให้เจ้าชายยกทัพไปปราบปราม ก่อนไปทรงตรัสชื่นชมความงามแห่งนัยน์ตาของเจ้าชายว่าเปรียบดั่งดวงหทัยของพระองค์

เมื่อเจ้าชายยกทัพไปปราบปรามกบฏที่เมืองตักศิลา ชาวเมืองต่างต้อนรับพระองค์อย่างดี พร้อมกราบทูลว่า ที่พวกชาวเมืองกบฏเป็นเพราะพวกอำมาตย์ เสนาบดี กดขี่ข่มเหงราษฏรให้เดือดร้อน เพราะต้องเสียภาษีจำนวนมาก ให้คนเหล่านี้นำไปปนเปรอความสุขส่วนตน ชาวเมืองทั้งหลายไม่ได้ต้องการกบฏต่อพระราชา แต่เพียงต้องการความยุติธรรม

เจ้าชายกุณาละจึงได้จัดการปกครองใหม่ ได้ถอดถอนเสนาบดีและอำมาตย์มนตรีผู้ทุจริตออกจากหน้าที่ และลงโทษตามกฏหมายบ้านเมือง เพื่อมิให้คนอื่นถือเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยธรรม นำความสงบสุขมาสู่หัวใจของทวยราษฏร์ 

ขณะที่เจ้าชายกุณาละกำลังมีความสำราญอยู่ด้วยการปกครองประชาชนโดยธรรมนั้น  พระเจ้าอโศกราชบิดาทรงประชวรหนัก แน่พระทัยว่าครั้งนี้คงไม่อาจหายได้ จึงมีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติแก่เจ้าชายกุณาละ แต่พระนางติษยรักษิตาทรงทัดทานไว้ เพราะหวั่นพระทัยว่า หากเจ้าชายขึ้นครองราชย์ พระนางจะต้องตกที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน

พระนางจึงทูลขอโอกาสในการรักษาพระราชา พระเจ้าอโศกทรงอนุญาต จากนั้นพระนางก็คอยสอบถามพระอาการของพระองค์ แล้วนำพระอาการไปปรึกษากับหมอหลวง เพื่อให้หมอหลวงจัดยาเสวยตามพระอาการนั้น ไม่นานนักพระอาการของพระเจ้าอโศกก็ดีขึ้นและหายประชวร พระองค์ทรงตรัสถวายพรแด่พระนางหนึ่งข้อ พระนางจึงกราบทูลว่าต้องการพระราชอำนาจปกครองแผ่นดินเป็นเวลา 7 วัน เพราะต้องการทราบความทุกข์ยากของพระราชา พระองค์ทรงพระราชอนุญาต

เมื่อมีพระราชอำนาจ สิ่งแรกที่พระนางดำริถึงคือการแก้แค้นเจ้าชายกุณาละ จึงทรงส่งสาสน์ไปยังเมืองตักศิลาว่า 

“พระเจ้าอโศกผู้ยิ่งใหญ่ รู้สึกเสียใจที่ต้องบอกชาวเมืองว่า เจ้าชายกุณาละราชโอรสนั้นได้กระทำความผิดไว้ในนครปาฏลีบุตร เป็นความผิดที่ไม่ควรแก่การให้อภัย ดังนั้นโดยพระบรมราชโองการ ให้ชาวนครตักศิลาควักนัยน์ตาของเจ้าชายกุณาละเสียทั้งสองข้าง”

คืนนั้นเองพระเจ้าอโศกทรงสุบินนิมิตว่า มีแร้งสองตัวกำลังจิกกินนัยน์ตาของพระราชโอรส และเห็นเจ้าชายกุณาละเข้ามาในเมืองปาฏลีบุตรด้วยสภาพมีผมยาว เล็บยาว และหนวดยาว แต่พระนางติษยรักษิตาก็ปลอบประโลมจนบรรทมหลับไป 

พระเจ้าอโศกมหาราช

เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

เมื่อเจ้าชายกุณาละทราบข่าวร้ายแล้ว แต่ไม่อาจจะขัดพระบรมราชโองการได้ เพราะคติของบัณฑิตมีอยู่ว่า “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อรักษาธรรม” จึงทรงตรัสให้ประชาชนคนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ควักนัยน์ตาของพระองค์ พร้อมพระราชทานแก้วและเพชรเป็นรางวัล แต่ไม่มีใครกล้าทำสักคนเดียว แม้แต่เพชรฆาตหัวใจเหี้ยมโหดเมื่อเห็นพระเนตรที่สวยงามของเจ้าชายแล้วก็บังเกิดความเมตตาอย่างน่าอัศจรรย์

แต่ทว่ามีบุรุษวิกลผู้หนึ่ง มีปานน่าเกลียดถึง 18 แห่ง มารับอาสาควักพระเนตรของเจ้าชายกุณาละ เขาจึงถูกนำไปเข้าเฝ้า ถึงแม้พระชายาจะทูลอ้อนวอนสักเพียงใด แต่เจ้าชายก็ทรงห้ามพระนาง รับสั่งให้ชายคนนั้นควักพระเนตรข้างหนึ่งมาวางไว้บนพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นที่สุดก็มาถึง บุรุษรูปวิกสลได้ควักนัยน์ตาข้างหนึ่งของเจ้าชายวางไว้บนพระหัตถ์ เสียงกรีดร้องแห่งพระนางกาญจนมาลาดังลั่นไปทั่วบริเวณแล้วแน่นิ่งสลบไป

ขณะนั้นประชาชนร้องไห้คร่ำครวญ ส่วนเจ้าชายกุณาละ เมื่อจับพระเนตรข้างหนึ่งไว้ในพระหัถต์แล้วตรัสว่า จักษุนี้เป็นเพียงก้อนเนื้อ เป็นที่มาแห่งโรค เป็นสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรา เป็นที่สเน่หาของคนโง่ทั้งหลาย เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้น เจ้าชายก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลในท่ามกลางสายตาแห่งมหาชนเหล่านั้นนั่นเอง

ครั้นพระองค์เห็นอริยสัจแล้ว รับสั่งให้บุรุษนั้นควักนัยน์ตาอีกข้างนึงวางไว้บนพระหัตถ์ ขณะที่มังสจักษุทั้งสองของพระองค์ได้สูญสลายไป ปัญญาจักษุอันบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น จึงตรัสว่า
“มังสจักษุอันลวงให้เกิดความปฏิพัทธ์ได้ถูกคร่าออกไปจากข้าพเจ้าแล้ว แต่เรากลับได้ซึ่งปัญญาจักษุอันหมดจดซึ่งใคร ๆ จะมาคร่าไปอีกไม่ได้ ถ้าพระราชบิดาละเลยเราเสีย เราก็ได้เป็นโอรสของพระธรรมราชาผู้เป็นใหญ่ผู้บริสุทธิ์”

ต่อมาเจ้าชายกุณาละทรงทราบว่า การที่พระองค์ต้องเสียพระเนตรนั้น เป็นความประทุษร้ายของพระนางติษยรักษิตา แทนที่จะโกรธเคือง แต่พระองค์กลับตรัสขอให้พระนางมีความสุขสำราญ เพราะทำให้ตนได้บรรลุคุณธรรมอันใหญ่หลวง จากนั้นพระองค์กับพระชายา ก็เสด็จไปตามชนบทต่าง ๆ ทรงเลี้ยงชีพด้วยการขับร้องและดีดพิณ แลกอาหารและเครื่องนุ่งห่ม จากพระวรกายที่เคยผุดผ่องงดงาม ก็กลับกลายเป็นหยาบกร้าน เพรากรำแดดลมเป็นเวลานาน ถึงแม้เจ้าชายจะตกระกำลำบากเห็นปานนี้ แต่พระนางกาญจนมาลาก็ไม่ทรงทอดทิ้งพระองค์ สตรีที่มิจิตใจไม่ขึ้นลงตามสมบัติและวิบัติของบุรุษอย่างพระนางหาได้ยากยิ่งนัก

พระนางอ้อนวอนให้เจ้าชายเสด็จกลับเมืองปาฏลีบุตร เพื่อเข้าเฝ้าพระราชบิดา ด้วยความสงสารพระชายาพระองค์จึงทรงยินยอม เมื่อเสด็จถึงประตูวัง ทหารยามจำพระองค์ไม่ได้จึงให้รออยู่ที่โรงรถหลวง ครั้นรุ่งเช้าเจ้าชายจึงดีดพิณขับร้องเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระราชาสดับเสียงพิณนั้นแล้ว ทรงจำได้ว่าเป็นทำนองและฝีพระหัตถ์ของพระราชโอรสกุณาละ จึงรับสั่งให้มาเข้าเฝ้า

เจ้าชายกุณาละผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

เจ้าชายกุณาละ ผู้สละดวงตาเพื่อรักษาความดี

พระเจ้าอโศกทรงใช้เวลาอยู่นานกว่าจะจำพระราชโอรสและพระสุณิสาได้ เมื่อทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์เจ้าชายกุณาละ ซึ่งมีพระเนตรอันเขาควักออกเสียแล้ว พระองค์ก็ทรงสลดจนสลบไป ข้าราชบริพารได้นำน้ำหอมประพรมทั่วพระสรีระ ไม่นานนักพระราชาก็รู้สึกพระองค์ ทรงสวมกอดพระโอรสและพระสุณิสา ทรงเปล่งเสียงสะอื้นว่า “ครั้งก่อนนี้ เมื่อเห็นนัยน์ตาอันเหมือนนกกุณาละ พ่อจึงเรียกลูกว่ากุณาละ บัดนี้ตาทั้งคู่นั้นสูญเสียแล้ว พ่อจะเรียกลูกว่ากุณาละได้อย่างไร?”

จากนั้นพระราชาก็ตรัสถามถึงเหตุที่เจ้าชายสูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง แต่เจ้าชายกลับทูลว่า “ทุกคนจะต้องได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำไว้ เมื่อเป็นดังนี้ จะกล่าวได้อย่างไรว่า เราประสบภัยพิบัติเพราะการกระทำของคนอื่น หม่อมฉันคงเคยได้ทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ อันเป็นเหตุให้ต้องเสียจักษุ”

แต่พระเจ้าอโศกตรัสด้วยความพิโรธว่าจะหาคนผิดให้จงได้ ต่อมาพระราชาทรงทราบว่าที่เจ้าชายกุณาละสูญเสียดวงเนตร เพราะพระนางติษยรักษิตา-มเหสีคนสวยของพระองค์ ทรงรับสั่งให้พระนางเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามความจริงจากพระนาง พร้อมทั้งขู่ว่าหากเป็นเมื่อก่อนจักประหารด้วยมือของพระองค์เองทันที เมื่อได้ฟังพระดำรัสนี้ พระนางมีพระพักตร์ซีดเผือด พระวรกายสั่นเทิ้มด้วยความกลัว 

เมื่อเจ้าชายกุณาละได้สดับพระดำรัสของพระราชบิดา จึงกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่พระนางติษยรักษิตา แล้วตรัสว่า “แม้จะได้รับความทุกข์ทนหม่นไหม้ถึงปานนี้ หม่อมฉันก็ไม่รู้สึกเจ็บแค้นเลย ไฟคือโทสะไม่ได้โลมเลียจิตใจของหม่อมฉันเลย เนื่องจากรู้สึกขอบพระทัยที่ทำให้หม่อมฉันได้ธรรมจักษุซึ่งเลิศกว่า เพื่อเป็นสักขีพยานในสัจจะนี้ ด้วยเดชแห่งสัจจวาจา ขอให้นัยน์ตาทั้งสองข้างของหม่อมฉันจงกลับดีดังเดิม”

พลานุภาพแห่งสัจจะนั้นมีอยู่จริง ดังนั้นพอเจ้าชายอธิษฐานตั้งสัจจวาจายังมิทันขาดคำ พระเนตรก็ปรากฏขึ้นเหมือนเดิม พระเจ้าอโศกและพระนางติษยรักษิตา ทรงตกตะลึงอย่างมาก ไม่นึกเลยว่าเหตุการณ์จะเป็นไปได้ถึงปานนั้น พระเจ้าอโศกเข้าสวมกอดพระโอรสเหมือนแก้วมณีลอยลงมาสู่พระหัตถ์ ส่วนพระนางติษยรักษิตากลับหมอบลงแทบพระบาทของเจ้าชาย แม้จะทรงอยู่ในฐานะเป็นโอรสของพระนาง

กระนั้นก็ตาม พระเจ้าอโศกได้รับสั่งให้นำพระนางติษยรักษิตาไปจองจำในที่คุมขัง เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อผดุงความยุติธรรมไว้ในโลก และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่นต่อไป ภายหลังทราบว่าพระนางติษยรักษิตาได้สิ้นพระชนม์ในที่คุมขังนั้นนั่นเอง.

จากกรณีศึกษานี้เราจะเห็นว่าเมื่อผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ผู้บริสุทธิ์จึงต้องเดือดร้อนจำนวนมาก แต่เราสามารถข้ามพ้นอุปสรรคและภัยทั้งหลายได้ด้วยคุณธรรมความดี มีแต่บุญเท่านั้นจึงจะสู้กับบาปอกุศลที่เราเคยผิดพลาดกระทำไว้ในอดีตได้ เหมือนกับเจ้าชายกุณาละที่ยอมสละอวัยวะและชีวิต เพื่อรักษาคุณความดี


ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก

https://timeline.line.me/post/_dcw9JhabIy0A3WWc-L7pW-GZF1h8I5m0vZkN50I/1148938601103066769

www.google.co.th

แชร์