ยูเอ็นซักไทย10ข้อ เสรีภาพแสดงความเห็น-พ.ร.บ.คอมพ์-โทษประหารชีวิต ปลัดยธ.นำทีมแจงปม’รธน.’-ร่างกม.ต้านทรมาน

ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงานการปฏิบัติการพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง หรือ “ICCPR” ฉบับที่ 2 เป็นวันแรก ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ http://winne.ws/n13938

1.1 พัน ผู้เข้าชม
ยูเอ็นซักไทย10ข้อ เสรีภาพแสดงความเห็น-พ.ร.บ.คอมพ์-โทษประหารชีวิต ปลัดยธ.นำทีมแจงปม’รธน.’-ร่างกม.ต้านทรมาน

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเวลา 15.00-18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงานการปฏิบัติการพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง หรือ “ICCPR” ฉบับที่ 2 เป็นวันแรก ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นายชาญเชาวน์กล่าวว่า คณะผู้แทนได้ตอบคำถามคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนในหลายเด็นประเด็น 1.ร่างรัฐธรรมนูญการปรับแก้ล่าสุด กำหนดมีผลบังคับใช้ 2.มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 3.ศาลทหาร (สิทธิต่างๆ และแนะนำให้โอนคดีที่เหลือไปศาลพลเรือน) 4.ปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ 5.การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6.สถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 7.เสรีภาพในการรวมตัวโดยสันติ 8.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศและความรุนแรงต่อสตรี 9.การดูแลแรงงานต่างด้าว 10.กรณีการหายสาบสูญของทนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน (นายบิลลี่ พอละจี)

นายชาญเชาวน์กล่าวด้วยว่า ผู้แทนได้ตอบในข้อ 1 และ 6 และช่วยสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการทำและเลือกประเด็นใช้ตอบ ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ฝากคำถามเพิ่มเติมสำหรับตอบในวันที่สอง เรื่องโทษประหารชีวิต ร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการทรมานฯ สภาพของเรือนจำ ทัณฑสถาน ความเป็นอิสระของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการจะสอบถามเพิ่มเติมในวันที่สองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายชาญเชาวน์กล่าวด้วยว่า โดยรวมคณะกรรมการได้สอบถามคณะผู้แทนด้วยความสุภาพ แม้ประเด็นจะมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แต่การแลกเปลี่ยนก็ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์เชิงวิชาการ และชี้ประเด็นที่ควรพิจารณาปรับให้ดียิ่งขึ้น มากกว่าเป็นไปในเชิงตำหนิติเตียน

นายชาญเชาวน์กล่าวว่า กระบวนการนำเสนอรายงานด้วยวาจา เป็นกระบวนการที่คณะผู้แทนรัฐมีโอกาสตอบคำถามและทำความเข้าใจกับคณะกรรมการทั้ง 18 คน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการพยายามนำหลักการของกติกา ICCPR ไปสู่การปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงเรียกว่าเป็นกระบวนการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Dialogue) และภายหลังจากนำเสนอรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (HRCtte) จะออกเอกสาร ข้อเสนอแนะ (Concluding Observations) ให้แก่รัฐภาคีเพื่อนำไปสู่ปฏิบัติต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้มีผู้แทนภาคประชาสังคมไทยและนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย และในวันที่ 14 มีนาคม เวลา 16.00-19.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) คณะผู้แทนไทยจะตอบข้อซักถามที่ยังค้างอยู่ และคณะกรรมการจะซักถามเพิ่มเติมเป็นวันที่สอง สามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่าน webcast ได้ที่ http://webtv.un.org

แชร์