องค์การสหประชาชาติ UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิประชาชน

การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังจากในวันแรกมีการซักถามประเด็นการใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย http://winne.ws/n13945

1.5 พัน ผู้เข้าชม
องค์การสหประชาชาติ UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิประชาชน

สหประชาชาติประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยเป็นวันที่ 2 ขณะที่ในไทยมีการจัดเวทีคู่ขนานโดยยูเอ็นและแอมเนสตี้ ให้นักสิทธิมนุษยชนสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิจากภาครัฐ

การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังจากในวันแรกมีการซักถามประเด็นการใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกรอบเวลาการเลือกตั้ง

ประเด็นส่วนใหญ่ที่ไทยถูกตั้งคำถามวันนี้ คือ การจับกุมคุมขังพลเรือนโดยปราศจากข้อกล่าวหา ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงเสรีภาพในโลกออนไลน์ การควบคุมและจับกุมประชาชนที่แสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง การละเมิดเสรีภาพสื่อและภาคประชาชนที่รายงานปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การจับกุมนักเคลื่อนไหวและ การห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

องค์การสหประชาชาติ UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิประชาชน

นอกจากนี้ UNHRC ยังถามถึงประเด็นเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย การส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางอย่างเมียนมาและจีน และการจับกุมผู้ลี้ภัยในสถานกักกันที่แคบ แออัด และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ อีกทั้งยังแสดงความกังวลเรื่องปัญหาคนไร้รัฐตามแนวพรมแดน ว่าคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และปัญหาอคติของสังคมไทยต่อชนกลุ่มน้อย ปัญหาข้อพิพาทเรื่องป่าชุมชนกับอุทยานแห่งชาติ และยังขอให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องกฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศด้วยว่าหลังประกาศใช้แล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

เวทีคู่ขนานในไทยไม่ปลื้มคำอธิบายรัฐบาล

การใช้กฎหมายละเมิดสิทธิพลเมือง

ขณะที่ในไทย สหประชาชาติร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดเวทีคู่ขนานให้นักสิทธิมนุษยชนได้สะท้อนปัญหาจากรัฐบาลไทย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทย กล่าวว่า มาตรา 44 และมาตรา 112 รวมถึงคำสั่งคสช.ฉบับต่างๆ และพรบ.คอมพิวเตอร์ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ขณะที่การให้สัตยาบันว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหายเพียงไม่นานก่อนการซักถามด้านสิทธิพลเมืองครั้งนี้ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง คาดว่าเป็นเพียงการทำเพื่อให้มีพัฒนาการด้นสิทธิพลเมืองพอที่จะไปอธิบายกับ UN ได้เท่านั้น

องค์การสหประชาชาติ UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิประชาชน

ด้านคุณเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบได้โดยกระบวนการยุติธรรม และควรโอนย้ายคดีของพลเรือนจากศาลทหารกลับมาสู่ศาลยุติธรรมโดยเร็ว เนื่องจากที่รัฐบาลอ้างว่าไม่เคยมีธรรมเนียมการโอนย้ายคดี และศาลทหารไม่มีการดำเนินคดีต่างจากศาลปกติ เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังระบุว่าการที่รัฐบาลไทยอธิบายว่าศาลทหารใช้เฉพาะคดีรุนแรงด้านความมั่นคง จากประสบการณ์ตรงที่ศูนย์ทนายฯได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี ส่วนใหญ่คดีที่ขึ้นศาลทหาร ล้วนเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

แรงงานต่างชาติ-ผู้ลี้ภัยยังถูกละเมิดสิทธิ์

ส่วนนายอดิศร เกิดมงคล นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและผู้ลี้ภัย กล่าวถึงกรณีที่ผู้แทนไทยได้ใช้ประเด็นเรื่องการให้สิทธิและสวัสดิการกับแรงงานข้ามชาติ เป็นผลงานชิ้นเอกในการแถลงรายงานสิทธิมนุษยชนต่อ UN โดยยืนยันว่าแม้สิทธิแรงงานจะพัฒนาขึ้นบ้างจริง แต่การปรับแก้กฎหมายตามที่รัฐบาลแถลง ยังไม่ให้สิทธิแรงงานต่างชาติเท่ากับแรงงานไทย และยังไม่มีการกล่าวถึงการตั้งสหภาพของแรงงานต่างชาติ ทั้งที่ในบางภาคส่วนไม่มีแรงงานไทยทำงานอยู่แล้ว เช่นภาคประมง

องค์การสหประชาชาติ UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิประชาชน

นายอดิศรยังได้พูดถึงประเด็นผู้ลี้ภัย ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่สามารถตอบคำถาม UN ได้ เนื่องจากยังไม่มีการยอมรับผู้ลี้ภัยในระบบกฎหมาย มีเพียงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าจะมีการออกมาตรการรองรับผู้ลี้ภัย แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมใดๆ ซึ่งดูแล้วเป็นเพียงการสร้างผลงานเพื่อนำมาแถลงในที่ประชุม UNHRC เท่านั้น ส่วนปัญหาผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เช่นชาวซีเรีย ปากีสถาน รวมถึงผู้ลี้ภัยอุยกูร์และโรฮิงญา รัฐบาลก็ไม่ได้มีการดูแลสวัสดิการหรือออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมใดๆ ชาวโรฮิงญาบางคนถูกกักตัวไว้นานถึง 3 ปีในศูนย์กักกัน แม้จะไม่มีการส่งกลับ แต่รัฐบาลไทยก็ใช้วิธีกักกันตัวไว้อย่างไม่มีกำหนด จนผู้ลี้ภัยต้องขอกลับประเทศเอง

นักสิทธิชุมชน-สิ่งแวดล้อม ถูกคุกคาม

ด้านนางสาวจินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ นักสิทธิชุมชนจากเครือข่ายปกป้องอันดามันกล่าวว่า แม้ว่าการชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านมาจะจบลงอย่างสงบโดยมีการยอมรับเงื่อนไขของผู้ชุมนุม แต่การไฟฟ้าก็ยังจะทำตามกระบวนการเดิมๆ ที่เคยทำมา เช่น การจ้างบริษัทสำรวจและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเอง ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงนักเคลื่อนไหวจึงเรียกร้องให้มีองค์กรที่เป็นกลางเข้ามาเป็นผู้ร่วมตรวจสอบด้วย

นางสาวจินดารัตน์บอกว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิที่ดินไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีรัฐบาลทหาร แต่การมีรัฐบาลคสช.ก็ทำให้ปัญหาที่ปกติไม่ค่อยได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ กลับกลายมามีคนสนใจมากขึ้นว่า โครงการต่างๆส่งผลกระทบต่อชุมชน หรือนักสิทธิถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่อย่างไรบ้าง

การคุกคามทางเพศยังเป็นปัญหาใหญ่ แม้มีกม.ปกป้อง

ขณะที่นางสาวดาราณี ทองศิริ นักสิทธิเพื่อความหลากหลายทางเพศระบุว่า ที่ผ่านมา สังคมไทยมักเข้าใจว่า ไทยเป็นสวรรค์ของกลุ่ม LGBTQ ทำให้รัฐบาลไทยมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศมากนัก ทั้งที่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางเพศแล้ว 18 กรณี เช่นกรณีที่มีการประท้วงกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน บูคู ที่มีการล่าแม่มด ขุดชื่อขุดประวัติผู้เกี่ยวข้องขึ้นมาประณาม รวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่าสุภัคสรณ์ พลไธสง ซึ่งเป็นทอม ขณะที่พรบ.คู่ชีวิตก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้รับสิทธิในการรับเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงสิทธิมรดกและการทำธุรกิจร่วมกัน

การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยโดย UNHRC จะดำเนินไปจนถึงเวลา 19 นาฬิกาวันนี้ตามเวลาไทย และในปลายเดือนมีนาคม จะมีการออกรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ถึงข้อชี้แจงของรัฐบาลไทย และคำแนะนำจาก UNHRC เกี่ยวกับการพัฒนาสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในไทย

ฟังคำชี้แจงจากผู้แทนไทยในเวที UN ที่นี่

ที่มา http://news.voicetv.co.th/thailand/470526.html

แชร์