วิธีใช้กฎหมายกับคดีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในอดีต : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช.

การที่จะนำพระสงฆ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป โดยจะต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม จริงใจ และปราศจากวาระแอบแฝง เช่น กรณีแอบแฝงเรื่องทางการเมือง http://winne.ws/n14064

1.4 พัน ผู้เข้าชม
วิธีใช้กฎหมายกับคดีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในอดีต : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช.

ความศรัทธาเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของมนุษย์ ไม่อาจบังคับให้บุคคลศรัทธาในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ โดยที่มิได้เกิดจากหัวใจ เช่น ศรัทธาในตัวบุคคล ศรัทธาต่อศาสนา เป็นต้น บุคคลจึงสามารถปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของคนได้โดยอิสรเสรี 

       ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจึงมีบทบัญญัติให้บุคคลปฏิบัติพิธีกรรมตามศาสนาได้ ยกเว้นแต่พิธีกรรมนั้นจะขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 บัญญัติว่า 

       “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนาบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

       กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักซึ่งบุคคลที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ต้องยึดถือและปฏิบัติตาม เพื่อความสงบสุขของสังคม ผู้ใดกระทำการละเมิดกฎหมาย ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์ ซึ่งก็จะมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เป็นหลักควบคุมการปฏิบัติตนของพระสงฆ์ทั่วประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จะเป็นผู้พิจารณาตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หมวด 3 และหมวด 4 อันว่าด้วยกฎนิคหกรรม และการปกครองคณะสงฆ์ หากพระสงฆ์กระทำผิดทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายของคณะสงฆ์ ก็จะต้องถูกลงโทษทั้งสองประการ แต่การลงโทษนั้น จะนำบทบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองไปลงโทษทางใจมิได้ การลงโทษได้แต่เพียงทางร่างกายเท่านั้น

       การที่จะนำพระสงฆ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป โดยจะต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม จริงใจ และปราศจากวาระแอบแฝง เช่น กรณีแอบแฝงเรื่องทางการเมือง เป็นต้น เมื่อผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และเคยเป็นเจ้าของสำนวนคดีพระสงฆ์เป็นจำเลยทั้งคดีแพ่ง (คดีละเมิด) และคดีอาญา (คดีพยายามฆ่า) โดยเฉพาะในคดีละเมิด ซึ่งมีพระสงฆ์ผู้ใหญ่เป็นจำเลยอยู่ถึง 4 รูป จำเลยที่ 3 คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเรียกกันติดปากว่า “คดีวัดแหลม”

       ตั้งแต่เริ่มดำเนินคดี สืบพยานโจทก์ พยานจำเลย จนกระทั่งถึงวันที่ศาลอ่านคำพิจารณา การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

       การสืบพยานจำเลยที่ 3 มีพนักงานอัยการ ซึ่งมีหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยเดินทางไปสืบพยานที่วัดอันเป็นที่จำพรรษาของจำเลย คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2526 คดีเช่นนี้ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากคดีทั่วไป

       ถึงแม้ระหว่างดำเนินคดีจะมีทางฝ่ายพระสงฆ์มาร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับความล่าช้าของการดำเนินกระบวนพิจารณาบ้างก็ตาม แต่ศาลก็ดำเนินการไปได้อย่างเรียบร้อย โดยมิได้กระทบต่อความศรัทธาในทางศาสนา และไม่เคยอาศัยกำลังทหารหรือตำรวจมาช่วยแต่อย่างใด

       ข้อที่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมพึงระลึกถึงเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อรักษาไว้ ซึ่งตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง โดยมิได้กระทบความศรัทธา ในศาสนาก็คือ

        1. ตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าคดีนั้นผู้ถูกกล่าวหา (พระสงฆ์) กระทำความผิดตามกฎหมายบ้านเมืองหรือผิดตามกฎหมายพระสงฆ์หรือผิดทั้งสองประการ ถ้าเป็นกรณีกระทำผิดกฎหมายสงฆ์ ก็ต้องให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะทั้งหลาย

        2. ถ้าทำผิดกฎหมายบ้านเมืองควรตรวจดูความหนักเบาของข้อกล่าวหา กรณีกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็ถือว่ามีโทษเบากว่า ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย (ฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ (ความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

       3. ความผิดนั้นกระทำอย่างชัดแจ้ง ถือเป็นความผิดในตัวหรือไม่ เช่น ค้ายาเสพติดให้โทษ ซ่องสุมอาวุธหรือผู้คนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ถ้าเป็นความผิดฐานรับของโจร ซึ่งจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานว่าทรัพย์สินที่นำมาถวายนั้น พระสงฆ์ผู้รับรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกรีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคหนึ่ง 

       การสืบพยานถึงเจตนาในใจของผู้ถูกกล่าวหา (จำเลย) นั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร และระหว่างที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า 

       “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด” และ “ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

       4. นอกจากบุคคลทุกคนจะมีสิทธิโดยชอบธรรมในการที่จะนับถือศาสนา และการปฏิบัติพิธีตามความเชื่อถือได้แล้ว บุคคลที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรจะตำหนิติเตียนผู้ที่มีศรัทธาในสิ่งที่แตกต่างกับตน ไม่ว่าจะเรื่องคำสอนที่แตกต่าง ความเชื่อหรือการปฏิบัติตามความเชื่อ ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าศาสนาพุทธก็ยังแบ่งเป็นมหายานหรืออาจริยวาท กับหินยานหรือเถรวาท และยังแบ่งมหายานเป็น 2 นิกาย คือ อนัมนิกาย (ญวนหรือเวียดนาม) และจีนนิกาย ถึงแม้จะมีวัตรปฏิบัติ และพิธีกรรมแตกต่างกันบ้าง แต่จุดหมายปลายทางก็มุ่ง พระนิพพานเป็นจุดสูงสุดเหมือนกัน และนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเช่นเดียวกัน

        จะกล่าวว่าคำสอนใดผิดหรือถูกก็มีข้อโต้แย้งได้เสมอ และนับเป็นสาเหตุหรือชนวนที่ทำให้คนในชาติแตกแยกกันอีกด้วย

         5. ในกรณีที่จะต้องดำเนินคดีกับพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน หากผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมได้ใช้วิธีการปฏิบัติอย่างละมุนละม่อม จริงใจไม่มีสิ่งใดแอบแฝงซ่อนเร้นลักษณะเป็นการให้เกียรติย่อมไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังมีการขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม ผู้อยู่ในกระบวนการควรหาสาเหตุให้ได้โดยวิธีการอันแยบยลและชาญฉลาด มิใช่จะกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย แต่เพียงฝ่ายเดียว 

       หากแต่ควรค้นหาอย่างเป็นธรรมว่าฝ่ายกระบวนการยุติธรรมได้ปฏิบัติการอย่างไร อันอาจมีผลทำให้อีกฝ่ายหวาดระแวง สงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของฝ่ายกระบวนการยุติธรรมบ้างหรือไม่ เช่นมีปัญหาทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยอคติ โดยเฉพาะภยาคติ (ลำเอียงด้วยความกลัว) หรือไม่ หรือกระทำการที่เรียกว่าสองมาตรฐาน คือมุ่งแต่จะดำเนินการเอาโทษแก่บุคคลบางฝ่ายหรือไม่

        ความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากเกิดขึ้นต่อผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ใช่จะทำให้สังคมนั้นปั่นป่วนหวั่นไหวเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการนี้เองก็จะเกิดความลำบากในการทำหน้าที่ เพราะการทำหน้าที่ของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมขึ้นอยู่กับความศรัทธาของประชาชน หากเกิดความระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว จะวินิจฉัยสั่งการอะไรออกไปก็จะมีการโต้แย้งขัดขืนโดยตลอด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียเวลา เสียงบประมาณของแผ่นดินไปโดยไม่คุ้มค่า

       อนึ่งผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาพึงสังวรอย่างหนักในการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ๆ โดยเฉพาะคำสั่งทางการเมือง ในช่วงเวลาที่ประเทศชาติอยู่ในวาระไม่ปกติ

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.matichon.co.th/news/499670

แชร์