ปี 2040 เด็ก 1 ใน 4 ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญวิกฤตขาดน้ำ

ยูนิเซฟเปิดเผยว่า ภายในปี 2040 เด็กกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรเด็กทั้งหมดจะต้องเผชิญกับภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยคาดว่าจะมีประเทศต่างๆ ถึง 36 ประเทศที่ต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำสะอาด http://winne.ws/n14153

657 ผู้เข้าชม
ปี 2040 เด็ก 1 ใน 4 ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญวิกฤตขาดน้ำ

องค์การยูนิเซฟเปิดเผยรายงานการวิจัยเรื่อง 'ความหิวกระหายเพื่ออนาคต: น้ำและเด็กท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง' (Thirsting for a Future: Water and Children in a Changing Climate) ซึ่งระบุว่าภายในปี 2040 เด็กกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรเด็กทั้งหมดจะต้องเผชิญกับภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเด็กในประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ยูนิเซฟเผยว่าเอธิโอเปีย ไนจีเรีย เซาท์ซูดาน และเยเมน จะต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง โดยในปัจจุบันมีเด็กกว่า 9 ล้านคนในเอธิโอเปียที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ ขณะที่เด็กอีกเกือบ 1.4 ล้านคนในเซาท์ซูดาน ไนจีเรีย โซมาเลีย และเยเมน เสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร

สำหรับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และพื้นที่ซับซาฮาราของทวีปแอฟริกา ภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง เขตอุตสาหกรรม และการเพิ่มขึ้นของประชากร

ขณะที่วิกฤตขาดแคลนน้ำและภัยธรรมชาติในอิหร่าน อาจกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่าความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคและการก่อการร้าย โดยคาดว่าทะเลสาบและแม่น้ำหลายสายจะเหือดแห้ง เกิดภัยแล้งขึ้นบ่อยครั้ง โดยแม้แต่ทะเลสาบอูเมียร์ ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในอิหร่าน ก็อาจเหือดแห้ง

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ทะเลสาบแห่งนี้มีขนาดเล็กลงถึงร้อยละ 12 เนื่องจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล นอกจากนี้ ป่าไม้ยังอาจถูกทำลายเนื่องจากพายุทรายและมลพิษทางอากาศด้วย

ยูนิเซฟคาดว่า ภายในปี 2040 จะมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 36 ประเทศที่เผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ขณะที่ภาวะโลกร้อน จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายจะทำให้คุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติแย่ลง

รายงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร WaterAid ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ปารากวัยเป็นประเทศที่มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค จนทำให้ปัจจุบันมีประชาชนถึงร้อยละ 94 ที่มีน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2000 ที่มีประชากรเพียงร้อยละ 51.6 ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้

ส่วนประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภคแย่ที่สุดและแทบไม่มีการปรับปรุงจากในอดีตเลย ได้แก่ ปาปัวนิวกินี มาดากัสการ์ และโมซัมบิก 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งยูนิเซฟและ WaterAid จึงได้ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้นำนานาชาติ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เด็ก และประชาชนที่ยากนนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและบริการสาธารณสุขได้

แชร์