ต่างชาติแนะนำคนไทยควรดูแลช้างให้ดีกว่านี้ มิเช่นนั้นช้างอาจสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ในอนาคต

หนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์รายงานว่า ช้างไทยที่มีเจ้าของเหล่านี้ยังคงถูกล่ามโซ่และอยู่ในสภาพแลดล้อมที่ยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจับช้างป่า โดยเฉพาะลูกช้างในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา http://winne.ws/n14514

664 ผู้เข้าชม
ต่างชาติแนะนำคนไทยควรดูแลช้างให้ดีกว่านี้ มิเช่นนั้นช้างอาจสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ในอนาคต

ระวังช้างอาจสูญพันธุ์จากประเทศไทย! ต่างชาติแนะนำคนไทยควรดูแลช้างให้ดีกว่านี้ 

แม้รัฐบาลไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนตามเมืองใหญ่เพื่อขอทานได้ แต่สื่อต่างชาติรวมทั้งนักอนุรักษ์สัตว์ป่ายังมองว่าช้างในไทยยังต้องได้รับการดูและปกป้องมากกว่าที่เป็นอยู่

แม้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนตามเมืองใหญ่ ๆได้สำเร็จ ด้วยการจดทะเบียนช้าง การฝังไมโครชิพ และการนำช้างไปทำงานในศูนย์ฝึกช้างต่างๆทั่วประเทศ เช่น โชว์การแสดงให้นักท่องเที่ยวชม หรือนำนักท่องเที่ยวเดินป่า เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับควาญช้าง แต่ว่า หนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์รายงานว่า ช้างที่มีเจ้าของเหล่านี้ยังคงถูกล่ามโซ่และอยู่ในสภาพแลดล้อมที่ยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจับช้างป่า โดยเฉพาะลูกช้างในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อนำมาใช้งาน โดยผู้รับซื้อส่วนมากก็คือศูนย์ฝึกช้าง ที่ต้องการนำลูกช้างไปฝึกการแสดงเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชมตามปางช้างเอกชนและรีสอร์ทต่างๆทั่วประเทศ 

แม้ไทยจะมีมาตรการป้องกันการนำลูกช้างที่ถูกจับในป่ามาใช้งาน ด้วยการออกกฎให้ช้างบ้าน รวมทั้งช้างที่เกิดใหม่ทุกเชือกต้องได้รับการตรวจสอบรูปพรรณและฝังไมโครชิพ เพื่อทำ "ตั๋วรูปพรรณ" ช้างบ้านแต่ละเชือก ป้องกันไม่ให้มีการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์ แต่ก็พบว่าที่ผ่านมา มีการสวมตั๋วรูปพรรณช้างป่าจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากนายจอห์น โรเบิร์ท ผู้อำนวยการมูลนิธิช้างเอเชียสามเหลี่ยมทองคำ  ที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ว่า เจ้าของปางช้างหลายแห่งสลับไมโครชิพไปมาระหว่างช้างหลายเชือก เพื่อทำให้ช้างป่าที่ถูกจับมากลายเป็นช้างบ้านที่ถูกกฎหมาย 

นายโรเบิร์ทเล่าว่าช้างบางเชือกเคยถูกฝังไมโครชิพมากกว่า 1 อัน และมีการสลับไมโครชิพไปให้ช้างเชือกอื่น นอกจากนี้เวลาที่ช้างล้ม ก็จะมีการถอดไมโครชิพจากช้างที่ล้มแล้วมาใส่ให้ช้างเชือกใหม่เพื่อสวมสิทธิ์

นอกจากการฝังไมโครชิพ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการจดทะเบียนทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอช้างบ้านทุกเชือก ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 โดยระบุว่าช้างทุกเชือกที่เกิดใหม่ต้องได้รับการตรวจดีเอ็นเอภายในเวลา 90 วัน เพื่อแยกพวกมันออกจากช้างป่า แต่ปางช้างกลับได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องนำช้างเกิดใหม่ไปตรวจดีเอ็นเอ จนกว่าพวกมันจะมีอายุ 8 ปี ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้มีการจับช้างป่าอายุน้อยๆ มาสวมรอยเป็นช้างบ้านเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นายโรเบิร์ทบอกว่าการตรวจดีเอ็นเอ เป็นวิธีระบุอัตลักษณ์ช้างได้ดีที่สุด เพราะว่าปลอมแปลงไม่ได้ และมีความแม่นยำสูง แม้ว่าจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการบันทึก และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการตรวจดีเอ็นเอช้าง 1 เชือกอยู่ที่ราว 5,000 บาท โดยขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำลังเร่งตรวจสอบดีเอ็นเอช้างบ้านที่มีอยู่ราว 3,500 เชือกทั่วประเทศ แต่ควาญช้างส่วนหนึ่งในไทยก็กล่าวหาว่าขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังจากที่ควาญช้างบางคนถูกยึดช้าง เนื่องจากผลการตรวจดีเอ็นเอที่ออกมาระบุว่าช้างเหล่านั้นถูกสวมสิทธิ์และปลอมแปลงตั๋วรูปพรรณ

นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาการใช้งานช้างเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทารุณกรรม การบังคับให้ทำงานหนัก จนช้างมีสุขภาพทรุดโทรมและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยพบว่าช้างเลี้ยงในไทยหลายเชือกมีปัญหาร่างกายติดเชื้อ ส่วนการการฝึกลูกช้างสำหรับการแสดง ก็มีการฝึกช้างให้ทำท่าฝืนธรรมชาติ เช่น การยืนสองขา นั่ง ยืนบนถัง หรือการเดินบนที่แคบๆ ซึ่งช้างอาจได้รับบาดเจ็บจนพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ยังต้องได้รับการแก้ไขต่อไป

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/world/476751.html

แชร์