บัณฑิตและการคบบัณฑิต..อะไรคืออานิสงส์ใหญ่ที่เกิดจากการคบบัณฑิต

อย่างไรเรียก "บัณฑิต" วิธีการคบบัณฑิต อานิสงส์การคบบัณฑิต ตัวชี้วัดความเป็นบัณฑิต http://winne.ws/n14621

2.6 พัน ผู้เข้าชม
บัณฑิตและการคบบัณฑิต..อะไรคืออานิสงส์ใหญ่ที่เกิดจากการคบบัณฑิต

บัณฑิตหมายถึงผู้มีความรู้ และรู้แจ้งในเหตุ และผล ที่พรั่งพร้อมด้วยการประพฤติทั้งทางกาย วาจาและใจในศีลธรรมอันดีงาม

การคบบัณฑิตหมายถึงการรู้จักเข้าไปหา สนทนา และปรึกษา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งทั้งทางโลกและทางธรรมอันได้มาจากคำสอนหรือข้อเสนอแนะพร้อมนำสิ่งเหล่านั้นมายึดถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ และความเจริญทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

ประเภทของบัณฑิต

1. บัณฑิตเทียม คือผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์อันเป็นอกุศลกรรม รวมถึงผู้ทำตนเปรียบเสมือนผู้รู้เพราะรู้ไม่แจ่มแจ้งหรือเข้าใจผิด สำคัญผิดในความรู้ของตนซึ่งพยายามถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจเหมือนกับตน บัณฑิตเหล่านี้ถือว่ามิใช่บัณฑิตแท้ แต่แสดงออกภายนอกเหมือนเป็นบัณฑิตแท้และมักมีนัยแอบแฝงต่อเจตนาการเป็นบัณฑิตเทียมนั้น จึงถือได้ว่าเป็นคนพาลอีกนัยหนึ่ง 

2. บัณฑิตแท้ คือผู้ที่มีความรู้ในศาสตร์ที่เป็นกุศลกรรม อันพรั่งพร้อมด้วยความรู้แจ้งในทางโลกและทางธรรม พร้อมทั้งแสดงออกทั้งกาย วาจา และใจที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงามอันมุ่งหวังเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเอง ผู้อื่น และสังคม


ลักษณะของบัณฑิต3 อย่าง

1. กายสุจริต คือ ผู้ที่ประพฤติชอบ ได้แก่การรักษาศีลอยู่เป็นนิจ การให้ทานอยู่เป็นนิจการประพฤติชอบด้วยสัมมาอาชีวะอยู่เป็นนิจ และการเจริญในธรรมเป็นนิจ เป็นต้น

2. วาจาสุจริต คือ ผู้ที่พูดจาชอบ ได้แก่ การใช้วาจาสุจริตและละเว้นจากวาจาทุจริตทั้งปวง อันประกอบด้วย การพูดโกหก การพูดคำหยาบการพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น

3. มโนสุจริต คือ ผู้ที่คิดชอบ ได้แก่ การคิดด้วยสุจริต อาทิการคิดสงสาร การคิดให้ทาน การคิดในคันรองคลองธรรม เป็นต้นและเว้นการคิดทุจริตทั้งปวง อันได้แก่ ละเว้นการคิดพยาบาท ละเว้นการคิดเบียดเบียนละเว้นการคิดฉ้อโกง เป็นต้น

ลักษณะของบัณฑิตตามหลักกัลยาณมิตร 7 ประการ

1. ธัมมัญญุตา คือ รู้จักในธรรมอันประกอบขึ้นจากเหตุและผลที่เชื่อถือได้ ทั้งสิ่งที่เป็นไปในทางโลก และทางธรรม

2. อัตถัญญุตา คือ รู้จักประโยชน์อันจะเกิดขึ้นจากกิจของเราอันได้แก่ รู้จักเป้าหมาย และรู้จักผลลัพธ์อันที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองแก่ผู้อื่น และแก่สังคม

3. อัตตัญญุตา คือ รู้จักตนว่า ตนเป็นใครมีนิสัยอย่างไร อะไรถนัด อะไรไม่ถนัด เป็นต้น

4. มัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณหรือพอเพียงตามความจำเป็นโดยเฉพาะการประกอบอาชีพ

5. กาลัญญุตา คือ รู้จักกาลเวลาหรือกาลเทศะว่าเมื่อใดควรกล่าว เมื่อใดควรทำ เมื่อใดควรหยุดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะกาลที่เกิดขึ้น

6. ปริสัญญุตา คือ รู้จักถิ่นชุมชนที่ตนอาศัยหรือถิ่นชุมชนอื่นว่ามีระเบียบ มีขนบธรรมเนียม หรือจารีตที่ยึดถือปฏิบัติกันอย่างไรเพื่อตนจักได้ให้ความเคารพ และปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม

7. ปุคคลัญญุตา คือ รู้จักบุคคลที่แตกต่างกันตามปัจจัยทางสังคมเพื่อให้ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม


การสังเกตผู้เป็นบัณฑิต (การดูว่าใครเป็นบัณฑิตนิสัยบัณฑิต)

1. รู้จักการให้ และช่วยเหลือ

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมมีจิตใจเมตตาชอบช่วยเหลือสัตว์ และเพื่อมนุษย์เป็นนิจ ยามเห็นสัตว์ได้รับการทุกข์ทรมานย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยามเห็นผู้คนเดือดร้อนหรือทุกข์ยากย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ทั้งการสงเคราะห์ด้วยอาหาร ข้าวของ หรือทรัพย์ที่ตนมี

2. ไม่ผูกจิตพยาบาท

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมมีจิตอันสงบเมื่อยามถูกทำร้าย ถูกด่าว่า หรือถูกทำให้ต้องขุ่นเคืองในใจก็ย่อมสามารถเก็บความขมขื่นเหล่านั้นไว้ได้ และไม่ตอบโต้แต่อย่างใด อีกทั้งย่อมให้อภัยแก่ผู้อื่นได้เสมอ บุคคลเหล่านี้ ย่อมถือเป็นบัณฑิตโดยแท้ด้วยการไม่ผู้จิตพยาบาท

3. ไม่หวังแต่ผลประโยชน์แก่ตนและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆจากผู้อื่นให้แก่ตนเองไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกง การหลอกลวง การลักขโมยแต่จะมองเห็นถึงประโยชน์ที่ควรกระทำให้แก่ตนเอง และส่วนรวมด้วยการสุจริต

4. ไม่เอาแต่ตัวรอด

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อยามที่ตนและผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากร่วมกัน อาทิ แม้ในยามขาดแคลนข้าวปลาอาหารก็ย่อมแบ่งให้ผู้อื่นได้อยู่ได้กินดั่งเช่นที่ตนมีเช่นกัน หรือแม้ยามมีภัยอันตรายก็ย่อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ไม่ยอมปล่อยให้ผู้อื่นต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมนั้นเพียงลำพัง 

5. ยอมรับฟังความเห็นผู้อื่น

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเปิดใจกว้างยอมรับฟังข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่กล่าวในยามที่ผู้อื่นพูดแต่จะกล่าวตอบเมื่อผู้อื่นกล่าวจบ พร้อมนำคำกล่าวของผู้อื่นมาวิเคราะห์ในเหตุและผล แต่หากมิใช่เรื่องถูก ก็มักกล่าวเหตุ และผลให้ฟัง คนเหล่านี้ ถือเป็นบัณฑิตเพราะรู้จักรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นและรู้จักวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ผู้อื่นกล่าวถูกหรือผิด

6. ใจเย็น ไม่โกรธง่าย

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเป็นผู้มีความใจเย็นสุขุมรอบคอบ ไม่เป็นคนโกรธโมโหร้ายโดยง่าย ถึงแม้จะถูกกล่าวกว่า หรือทำร้ายให้เจ็บไม่เป็นผู้ตอบโต้ต่อสิ่งถูกกระทำโดยง่ายเพราะรู้จักคิดวิเคราะห์ถึงแนวทางในการตอบโต้ ว่าควรใช้แนวทางใดและผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร แล้วแนวทางใดจ้ะเหมาะสมที่สุดแล้วจึงโต้ตอบกับสิ่งเหล่านั้น

7. เว้นจาการดื่มสุรา และเที่ยวราตรี

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมละห่างจากสุราหรือการเที่ยวเตร่ยามราตรีเพราะมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มักนำมาซึ่งความเสื่อมในชื่อเสียงความเสื่อมในทรัพย์ทั้งนั้น แต่ผู้ดื่มสุราบางคนก็ยังถือเป็นบัณฑิตได้เพราะรู้จักประมาณในตน รู้จักควบคุมสติ และรู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม

8. เป็นคนขยันทำกิน

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเป็นผู้ขยันทำมาหากินไม่เป็นคนขี้เกียจที่เที่ยวหาความสำราญเป็นนิจ บัณฑิตเหล่านี้มักนอนแต่หัวค่ำหรือตามกาลอันสมควร และตื่นแต่เช้า เพื่อทำกิจอันสมควร

9. รู้จัก และรักษาระเบียบวินัย

ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมรู้จักและเคารพในกฎระเบียบของบ้านเมือง สิ่งใดที่เป็นวินัยหรือกฎหมายย่อมปฏิบัติตามไม่ยอมฝ่าฝืนให้ตนเองผิดเพราะรู้จักว่าการฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมมีแต่ทำให้ตนเองเสื่อม และทำให้หมู่คณะแตกแยก

บัณฑิตและการคบบัณฑิต..อะไรคืออานิสงส์ใหญ่ที่เกิดจากการคบบัณฑิตhiclasssociety.com
แชร์