คำสั่ง "ทรัมป์" หั่น GSP 4,000 ล.-รีด "บอนด์" AD/CVD ไทยมีเวลารับมือ 90 วัน

ให้สรุปผลและแนวทางดำเนินการภายใน 90 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งคือ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ส่งผลให้ตลาดส่งออกสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย) เกิดภาวะความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที http://winne.ws/n14867

1.4 พัน ผู้เข้าชม
คำสั่ง "ทรัมป์" หั่น GSP 4,000 ล.-รีด "บอนด์" AD/CVD ไทยมีเวลารับมือ 90 วันแหล่งภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

ทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้อำนาจในทางบริหารตามรัฐธรรมนูญด้วยการลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Orders) 2 ฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และเตรียมใช้มาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศที่เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐ16 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทยปี 2559 ได้ดุลการค้า 18,920 ล้านเหรียญ) โดยให้สรุปผลและแนวทางดำเนินการภายใน 90 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งคือ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ส่งผลให้ตลาดส่งออกสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย) เกิดภาวะความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที

คำสั่งพิเศษ 2 ฉบับ

สาระสำคัญของคำสั่งพิเศษฉบับที่ 1 ระบุว่า  

ที่ผ่านมาสหรัฐไม่ได้รับประโยชน์จากการทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อีกทั้งยังขาดดุลการค้าในปี 2559 ถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น "ทรัมป์" จึงสั่งให้หาสาเหตุหลักของการขาดดุลการค้าและให้ประเมินว่า ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐเหล่านั้นมีการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐหรือไม่ ตลอดจนผลกระทบความสัมพันธ์ทางการค้าต่อความสามารถในการแข่งขัน การจ้างงาน และการขยายตัวของค่าจ้าง และการดำเนินการทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐ

ส่วนคำสั่งพิเศษฉบับที่ 2  

สหรัฐจะใช้มาตรการกับ "ผู้นำเข้า" ที่หลีกเลี่ยงการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) โดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า จากข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษี AD/CVD ได้ถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการวางเงินประกัน (บอนด์) กับสินค้านำเข้าที่ถูกเก็บอากร AD/CVD จาก "ผู้นำเข้าที่เข้าข่าย" (Covered Importer) 

คำสั่ง "ทรัมป์" หั่น GSP 4,000 ล.-รีด "บอนด์" AD/CVD ไทยมีเวลารับมือ 90 วัน

ด้วยเงื่อนไขว่า เป็นผู้นำเข้ารายใหม่ที่ U.S. Customs and Border Protection (CBP) ไม่เคยมีข้อมูลมาก่อน หรือข้อมูลผู้นั้นเคยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายอากร AD/CVD ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสหรัฐจะกำหนดมาตรการต่อต้านการฝ่าฝืนกฎหมายการค้าและศุลกากร โดยอาจ "สั่งห้ามนำเข้าหรือกำจัดสินค้าที่ทำผิดกฎหมาย" หรือกำหนดหลักการสำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยอาจยึด/ริบสินค้าที่มีการนำเข้าฝ่าฝืนกฎหมายการค้า ตลอดจนอาจให้สำนักงานอัยการสหรัฐ ออกข้อแนะนำถึงแนวทางปฏิบัติ-เร่งรัดการดำเนินคดีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายการค้าตามความเหมาะสม 

AD/CVD กระทบไทย 7 รายการ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ทยอยหารือกับผู้ประกอบการ ซึ่งตามประกาศของสหรัฐ Executive Order จะกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าที่สหรัฐเคยใช้ AD/CVD กับไทยประมาณ 7 รายการ (ตารางประกอบ) และสินค้าที่สหรัฐใช้มาตรการ AD/CVD กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มที่ประเทศไทยมีการส่งออกด้วย อาทิ ยางรถยนต์, แผงโซลาร์เซลล์, เหล็กและผลิตภัณฑ์, กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

"ระหว่างที่รอความชัดเจนใน 90 วันนี้ ขอให้ผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นผู้นำเข้าสหรัฐอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้ถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นกับผู้นำเข้าสหรัฐด้วย เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งการขอคืนเงินบอนด์จะใช้เวลานาน ทั้งนี้ประกาศฉบับที่ใช้เรื่อง AD/CVD นี้ จะใช้กับสินค้าจากทุกประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ต่างจากประกาศอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการขาดดุล (Trade Deficits) การค้า" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

GSP อาจถูกตัดสิทธิ

ขณะที่นายบัณฑูรย์ วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มักจะออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อโดยใช้ลักษณะคำพูดที่ดูรุนแรง เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์เกี่ยวกับการพบกับประธานาธิบดีจีน แต่ในทางปฏิบัติมีโอกาสที่สหรัฐอาจจะไม่ดำเนินมาตรการตามคำสั่งนั้นก็ได้

ส่วนความกังวลที่ว่า Executive Order จะมีผลต่อการให้สิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่ไทยได้รับอยู่หรือไม่ เรื่องนี้สหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนเพื่อผ่อนผันการตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าที่ส่งไปสหรัฐจนเกินเพดาน หรือ CNL (Competitive Need Limitations) ที่สหรัฐกำหนด ซึ่งตามหลักการการตัด GSP ลักษณะนี้เป็นการใช้อำนาจโดยประธานาธิบดีที่ "อาจตัดแน่นอน"

นอกจากนี้ไทยยัง "อาจจะ" ถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งโครงการด้วย เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ไทยไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิพิเศษ GSP แล้ว

"ผลกระทบต่อการส่งออกไปสหรัฐ ภาพรวมก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP ปัจจุบันไม่ใช่สินค้าหลักในการส่งออก สัดส่วนการส่งออกผ่านสิทธิ GSP ไม่ได้มากนัก (ตารางประกอบ) และประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ขณะนี้ก็ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว แต่เหตุใดมาเลเซียจึงสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้มากกว่าไทย" นายบัณฑูรย์กล่าว

กุ้งทบทวน AD

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยถูกสหรัฐใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด หรือ AD มาตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดอัตรา AD อยู่ที่ 5.34% และทุก ๆ 5 ปีจะมีการทบทวน โดยจนถึงปัจจุบันอัตราอากร AD ลดลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งขณะนี้สหรัฐได้เปิดการทบทวนอากร AD โดยฝ่ายไทยได้ส่งข้อมูลให้กับผู้นำเข้าเพื่อนำไปยื่นต่อ ศาลการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ (U.S. Court of  In-ternational Trade) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะทราบผลพิจารณาทบทวนมาตรการ AD ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 

"เราไม่ได้กังวลต่อคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะมีผลต่อการพิจารณา AD หรือไม่ เพราะนโยบายที่ออกมายังไม่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับประเทศใดบ้าง ขณะนี้การส่งออกกุ้งไทยไปสหรัฐยังเป็นปกติ เนื่องจากสหรัฐยังมีความต้องการบริโภคสินค้าเป็นจำนวนมาก แม้จะเสียภาษี AD อัตราเดิมสหรัฐก็ยังนำเข้าหมด" นายผณิศวรกล่าว

จับตาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ภาคเอกชนกังวลว่าจะมีการใช้มาตรการทางการค้าจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งอาจจะกระทบสินค้า เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, อัญมณี, อาหาร และยาง ที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐ 10% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ถ้าหากมาตรการทางการค้าถูกนำมาใช้ยาวนานจะไม่เพียงส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีประมาณ 10% ลดลง แต่อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐกีดกันโดยเฉพาะเสื้อผ้า/สิ่งทอ และอัญมณี ที่ต้องจับตามองอย่างมาก เพราะเป็นสถานการณ์เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับจีน หลังถูกสหรัฐกีดกันทำให้นักลงทุนจีนหลั่งไหลมาลงทุนที่ประเทศไทยแทน

"กกร.ประเมินว่า คำสั่งนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ เนื่องจากการลงทุนเป็นการวางแผนไว้ในระยะยาวมากกว่า แต่ที่จับตามองก็คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ไทยผลิตมาก ก่อนนี้ทรัมป์พยายามดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้กลับไปผลิตที่สหรัฐ แต่ทรัมป์ต้องมองด้วยว่า แรงงานมีหรือไม่ ต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร อาจมีผลลบมากกว่าบวก และด้วยเรามีความร่วมมือกันหลายอย่าง จึงยังต้องพึ่งการผลิตจากไทยในหลายอุตสาหกรรม การกีดกันครั้งนี้เชื่อว่าจะจบลงได้จนทำให้ไทยหลุดจาก 16 ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ"

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1492249523

แชร์