วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

วันปากปีเป็นวันเริ่มดำหัวบุคคลสำคัญของชุมชน การดำหัวแบบนี้ นิยมร่วมกันทำทั้งหมู่บ้านโดยจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะไปดำหัวใครบ้าง เช่น คนแก่คนเฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในชุมชน กำนัน พ่อหลวง นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ http://winne.ws/n14885

834 ผู้เข้าชม
วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

            วันนี้เป็นวันเริ่มดำหัวบุคคลสำคัญของชุมชน การดำหัวแบบนี้ นิยมร่วมกันทำทั้งหมู่บ้านโดยจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะไปดำหัวใครบ้าง เช่น คนแก่คนเฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในชุมชน กำนัน พ่อหลวง นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ ชาวบ้านทุกคนจะต้องนำของดำหัวมารวมกัน และจัดริ้วขบวน ฟ้อนรำแห่โหมประโคมฆ้องกลองกันอย่างเอิกเกริกงดงาม

เครื่องพิธีสำหรับดำหัวนั้น ประกอบด้วย เครื่องเคารพซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อย และของบริวารอื่น ๆ เช่น มะม่วงมะปรางแตงกวา กล้วยอ้อย ขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ หรือเงินทองใส่ไปด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีเสื้อผ้า กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าขนหนูหรือของที่ระลึกอื่น ๆ จัดตกแต่งใส่พานหรือภาชนะเรียบร้อยสวยงาม

หรือจะจัดอย่างพานบายศรี พุ่มดอกไม้ทำนองเดียวกับการแห่ครัวทาน (เครื่องไทยทาน)ก็ได้ และนิยมทำเครื่องสักการะล้านนา ประกอบด้วยต้นดอก ต้นผึ้ง ต้นเทียน หมากสุ่ม หมากเบง หอบอุ้มหรือหามแห่ไปในขบวน

วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

 การไปดำหัวนี้จะไปตั้งแต่เช้าก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่การไปดำหัวเป็นขบวน มักไปตอนเย็นประมาณ ๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา เพราะเป็นเวลาที่เย็นสบายไม่ค่อยร้อน เมื่อขบวนดำหัวไปถึงบ้านผู้อาวุโส ผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำพานข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำเข้าหมิ้นส้มปล่อยรวมทั้งของที่นำไปดำหัว ไปมอบให้ด้วยความเคารพ และกล่าวขอขมาลาโทษเป็นทำนองว่า

 "วันนี้เป็นวันเดือนชีปีใหม่หมู่ลูกหลานทั้งหลาย ได้มาขอขมาลาโทษพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) แม้นว่าพวกข้าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ล่วงเกินด้วยประการใด ๆ ก็ดี ขอพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) ได้หื้อขมาลาโทษแก่ฝูงข้าเจ้าทังหลายด้วยเทอะ"

  ผู้รับดำหัวจะรับประเคนของแล้วเอาผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบพาดบ่าแล้วให้พรด้วยโวหารว่า

            เอวังโหนตุ ดีแล อัชชะในวันนี้ ก็เป็นวันดี ศรีอันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าวันทังหลาย บัดนี้รวิสังขารก็ล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ลูกหลานทังหลายก็บ่ละเสียยังรีต บ่รีดเสียยังปาเวณี เจ้าทังหลายก็ได้น้อมนำมายังมธุบุปผาและสุคันโธทกะ สัพพะวัตถุนานาทังหลาย มาขอสมาคารวะตนตัวผู้ข้า ว่าฉันนี้แท้ดีหลี

วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

แม้นว่าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ขึ้นที่ต่ำ ย่ำที่สูง ผิดด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดั่งอั้นก็ดี ผู้ข้าก็จักอโหสิกรรมหื้อแก่สูเจ้าทังหลาย แม่นว่าสูเจ้าทังหลายจักไปสู่จตุทิสสะ อัฐทิสสะ วันตกวันออกขอกใต้หนเหนือค้าขายวายล่อง ท่องเทียวบ้านเมือง และอยู่บ้านชองหอเรือนก็ดี จุ่งหื้ออยู่ชุ่มเนื้อเย็นใจ หื้อเป็นที่ปิยะมะนามักรักจำเริญใจแก่หมู่คนและเทวดา แล้วจุ่งหื้อก้านกุ่งรุ่งเรืองไปด้วยโภคะธนะธนัง ข้าวของเงินคำสัมปัตติทังหลาย แม่นจักกินก็อย่าหื้อได้ผลาญ จักทานก็อย่าหื้อได้เสี้ยง หื้อมีอายุยืนยาวนั้นแท้ ดีหลี สัพพี ติโย... อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
แม้นว่าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ขึ้นที่ต่ำ ย่ำที่สูง ผิดด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดั่งอั้นก็ดี ผู้ข้าก็จักอโหสิกรรมหื้อแก่สูเจ้าทังหลาย แม่นว่าสูเจ้าทังหลายจักไปสู่จตุทิสสะ อัฐทิสสะ วันตกวันออกขอกใต้หนเหนือค้าขายวายล่อง ท่องเทียวบ้านเมือง และอยู่บ้านชองหอเรือนก็ดี จุ่งหื้ออยู่ชุ่มเนื้อเย็นใจ หื้อเป็นที่ปิยะมะนามักรักจำเริญใจแก่หมู่คนและเทวดา แล้วจุ่งหื้อก้านกุ่งรุ่งเรืองไปด้วยโภคะธนะธนัง ข้าวของเงินคำสัมปัตติทังหลาย แม่นจักกินก็อย่าหื้อได้ผลาญ จักทานก็อย่าหื้อได้เสี้ยง หื้อมีอายุยืนยาวนั้นแท้ ดีหลี สัพพี ติโย... อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
            

เมื่อผู้ให้พรกล่าวจบต่างก็ยกมือจรดเหนือหัวพร้อมเปล่งเสียง "สาธุ" พร้อม ๆ กัน เสร็จแล้วผู้รับการดำหัว ก็จะรับธูปเทียนไปใส่ในพานใหญ่ที่เตรียมไว้ เอามือจุ่มลงในน้ำขมิ้นส้มปล่อยแล้วลูบศีรษะของตน เป็นกิริยาว่าได้ดำหัวแล้ว และนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเทลงในขัน ต่อจากนั้นมีการรดน้ำผู้ที่เคารพหรืออาจมีการสนทนาสักครู่หนึ่ง ฝ่ายที่ไปคารวะก็จะลากลับแต่หากเจ้าภาพจะไปเลี้ยงดูคารวะแล้ว การเลี้ยงก็จะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป 

อนึ่งการดำหัวนี้ไม่นิยมกระทำก่อนวันพญาวัน และควรกระทำให้เสร็จสิ้นหลังช่วงสงกรานต์ไม่เกินเจ็ดวัน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๙-๓๑; สงวน โชติสุขรัตน์ม, ๒๕๑๕, หน้า ๑๘-๒๓)

วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน
วันปากปี ประเพณีล้านนา ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน
แชร์