รัฐเร่งคุมเนื้อหาสื่อโซเชียล "เฟซบุ๊ก-ไลน์"

รัฐบาล-ผู้ประกอบการหาจุดสมดุลป้องกันคอนเทนต์ไม่เหมาะสม ส่งเสริมธุรกิจใหม่ให้ไปได้ หวังเก็บภาษีเข้ารัฐ จัดประเภท 3 กลุ่ม "ฟรีทูแอร์-คอนเทนต์ออนดีมานด์-แบบผสม" รวบหมด "เฟซบุ๊กไลฟ์-ยูทูบ-ไลน์ทีวี" ยอมรับเป็นปัญหาใหญ่ท้าทายหลายประเทศทั่วโลก http://winne.ws/n14911

556 ผู้เข้าชม

กสทช. พลิกตำราคุมบริการ OTT เร่งหารือรัฐบาล-ผู้ประกอบการหาจุดสมดุลป้องกันคอนเทนต์ไม่เหมาะสม ส่งเสริมธุรกิจใหม่ให้ไปได้ หวังเก็บภาษีเข้ารัฐ จัดประเภท 3 กลุ่ม "ฟรีทูแอร์-คอนเทนต์ออนดีมานด์-แบบผสม" รวบหมด "เฟซบุ๊กไลฟ์-ยูทูบ-ไลน์ทีวี" ยอมรับเป็นปัญหาใหญ่ท้าทายหลายประเทศทั่วโลก 

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กำลังผลักดันหามาตรการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top) การให้บริการบรอดแคสต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจกาโทรคมนาคม ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่

บริการ OTT ในไทยเริ่มเติบโตชัดเจน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่หากแพลตฟอร์มใดที่ส่งคอนเทนต์แล้วมีผลกระทบต่อสังคมจะต้องมีมาตรฐานกำกับ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาในการหาวิธีกำกับกิจการประเภทนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่น ในฐานะองค์กรกำกับจึงต้องศึกษาหาจุดสมดุลระหว่างการป้องกันจากผลกระทบที่ไม่เหมาะสมกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เผชิญกับภาระมากจนทำให้ธุรกิจใหม่ไม่เติบโต 

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.เปิดเผยถึงคอนเซ็ปต์การกำกับดูแลธุรกิจในรูปแบบ OTT ว่า ได้ข้อสรุปแล้ว หากให้บริการคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตแบบเดียวกับให้บริการทีวีจะถือเป็นกิจการบรอดแคสต์ที่ต้องกำกับด้วยกลไกเดียวกับบรอดแคสต์อื่น ๆ ซึ่งบริการ OTT ที่ กสทช.ต้องกำกับนั้นจะครอบคลุมผู้ให้บริการคอนเทนต์ประเภทฟรีทูแอร์ และคอนเทนต์ออนดีมานด์ อาทิ Netflix, iflix เป็นต้น รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการบรอดแคสต์ เช่น ไลน์ทีวี (LINE TV) และเฟซบุ๊กไลฟ์ (facebook live)

"คอนเซ็ปต์ตกผลึกแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเป็นร่างประกาศ เพราะต้องหารือกับผู้ใหญ่ให้รอบด้าน เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้สำเร็จต้องให้รัฐบาลสนับสนุน หัวใจสำคัญคือ เมื่อออกกฎมาแล้ว ต้องบังคับใช้ให้ได้ จึงต้องหารือกับรัฐบาลและผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางเจรจาให้เข้าสู่กระบวนการกำกับดูแล ประเด็นหลักคือต้องหาอำนาจต่อรองที่จะทำให้ผู้ประกอบการยอม เพราะบริการ OTT มาพร้อมอินเทอร์เน็ตที่ใครก็เข้าถึงได้ กสทช.ไม่มีอำนาจไปบล็อก"

สำหรับอำนาจการกำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์ของ กสทช.ที่ผ่านมา ได้จัดกลุ่มตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยแยกประเภทกิจการให้บริการเป็นแบบใช้คลื่นความถี่กับไม่ใช่คลื่นความถี่ และแบบเสียค่าบริการกับไม่เสียค่าบริการเท่านั้น ยังไม่มีการระบุถึงบริการกิจการแบบผสม รวมถึงแยกหน่วยงานกำกับออกเป็นด้านบรอดแคสต์กับโทรคมนาคมด้วย ไม่ได้มองไปถึงการให้บริการแบบหลอมรวมเหมือนที่ OTT ให้บริการอยู่ ขณะที่ พ.ร.บ.กสทช. ล่าสุดเน้นให้กำกับดูแลแบบหลอมรวมเทคโนโลยี (คอนเวอร์เจนซ์)

ขณะที่การให้บริการ OTT ด้านบรอดแคสต์ในไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ฟรีแพลตฟอร์มที่ผู้ชมดูฟรี ผู้ประกอบการมีรายได้หลักจากโฆษณาโดยอิสระ เช่น LINE TV และ youtube รวมถึงผู้ประกอบการโทรทัศน์ให้บริการ OTT เช่น ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 ช่อง Workpoint ผู้ให้บริการเพย์ทีวี ในรูปแบบ OTT เช่น PSI เป็นต้น

ประเภทที่ 2.ให้บริการแบบเพย์แพลตฟอร์ม ซึ่งมีการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี หรือจ่ายเป็นรายครั้ง มีทั้งผู้ประกอบการแบบ OTT อิสระ เช่น ผู้ให้บริการดูภาพยนตร์ออนไลน์ เช่น Netflix, iflix, Hollywood HDTV, Primetime รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น AIS Play และผู้ให้บริการเพย์ทีวรูปแบบ OTT เช่น ทรูวิชั่นส์ แอนิแวร์ (true visions anywhere)

และ 3.ผู้ให้บริการแบบผสม คือมีทั้งคอนเทนต์ทั่วไปที่รับชมฟรี และแบบพรีเมี่ยมที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

รัฐเร่งคุมเนื้อหาสื่อโซเชียล "เฟซบุ๊ก-ไลน์"

ส่วนรายได้ของผู้ให้บริการ OTT ในกลุ่มที่มีรายได้จากโฆษณา พบว่าปี 2559 เฉพาะยูทูบมีรายได้ 1,663 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของมูลค่าโฆษณาในวงการ OTT ส่วนผู้ประกอบการรายอื่น อาทิ LINE TV มีรายได้รวมกัน 502 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างหาแนวทางการกำกับดูแลกิจการประเภท OTT ที่สื่อสารแพร่ภาพและเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ต โดย กสทช.จะเป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมระหว่างผู้ประกอบการ OTT และผู้ประกอบการโทรคมนาคมของ 10 ประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2560 

"การประชุม 2017 ATRC Dialogue ที่มาเลเซียเดือนที่แล้ว เป็นการประชุมผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ATRC Leaders) ซึ่งมีเรื่อง OTT เป็นหัวข้อสำคัญในการหารือ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของทั่วโลก ทั้งในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค และผลกระทบทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เปิดให้บริการ เนื่องจากแต่ละทรานแซ็กชั่นที่เกิดขึ้นมีแต่เงินไหลออกนอกประเทศโดยไม่ได้เสียภาษี"

ที่ประชุม ATRC มีหลายข้อที่กังวล ซึ่งเกี่ยวกับการให้บริการแอปพลิเคชั่นที่กระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ผู้ประกอบการ OTT ได้ใช้ประโยชน์มหาศาลจากโครงข่ายโทรคมนาคมที่โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมเป็นผู้ลงทุน โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมในการลงทุนใด ๆ หลายฝ่ายจึงมองว่า เป็นการสร้างภาระให้กับโอเปอเรเตอร์อย่างไม่เป็นธรรม

ขณะเดียวกันเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจน นอกจากการรอรับฟังความเห็นจากเวทีการประชุมที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ ทางสำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากธุรกิจ OTT ในประเทศไทย 

เช่นเดียวกับอีก 10 ประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมประชุม ATRC ซึ่งตกลงร่วมกันว่าจะรวบรวมรายงาน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในประเทศของตนในการหาแนวทางการกำกับดูแลที่ป้องกันและแก้ไขได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม


ที่มา, http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1492349761

แชร์