หญิงไทยถึงครองพื้นที่ในงานธนาคาร บัญชีและการเงิน มากกว่าผู้ชาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเองก็ไม่ต่างจากหลายประเทศในโลก ที่มีประชากรหญิงมากกว่าชาย แต่ในหลายสาขาอาชีพ ผู้ชายกลับจับจองพื้นที่ได้มากกว่าผู้หญิง ยกเว้นงานธนาคาร ที่มีผู้หญิงทำงานอยู่เกินครึ่ง http://winne.ws/n14994

1.4 พัน ผู้เข้าชม
หญิงไทยถึงครองพื้นที่ในงานธนาคาร บัญชีและการเงิน มากกว่าผู้ชาย

             จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอ้างอิงจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2553 พบว่าไทยมีประชากรรวม 65 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 33.3 ล้านคน และผู้ชาย 32.1 ล้านคน เมื่อคิดเป็นสัดส่วน ก็เท่ากับประเทศเรามีผู้หญิงร้อยละ 51 ผู้ชายร้อยละ 49 ต่างจากประเทศที่นิยมการมีลูกชายอย่างมาก เช่นอินเดียและจีน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรชายมากกว่าหญิงอย่างชัดเจน

              แต่แม้ว่าเราจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ก็ยังน่าแปลกใจเมื่อมาดูสัดส่วนของผู้ที่ทำงานธนาคารในประเทศไทย เพราะมีสัดส่วนของผู้หญิงสูงกว่าชายมาก เช่นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปีที่แล้วรับพนักงานใหม่ 2,020 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงถึงร้อยละ 73 และสัดส่วนลูกจ้างหญิงในองค์กรก็มากถึงร้อยละ 66 จากพนักงานกว่า 25,000 คน

              ที่น่าดีใจยิ่งกว่านั้น ก็คือผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในตำแหน่งงานระดับล่างเท่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาโอลิเวอร์ ไวแมน จัดอันดับอัตราส่วนของผู้บริหารหญิงทั่วโลก พบว่าไทยมีผู้บริหารหญิงคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ในภาคการเงิน ซึ่งมากที่สุดในบรรดาประเทศเอเชีย นอกจากนี้ แรงงานในตลาดแรงงานไทยที่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป เกินครึ่งยังเป็นผู้หญิง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเรียนต่อปริญญาตรีของผู้หญิง ที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 57 สูงกว่าชายถึงเกือบร้อยละ 20

หญิงไทยถึงครองพื้นที่ในงานธนาคาร บัญชีและการเงิน มากกว่าผู้ชาย

           คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย ยืนยันว่าธนาคารไม่ได้มีนโยบายเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นต่อผู้ชายหรือผู้หญิง การที่มีผู้หญิงทำงานในธนาคารมาก ก็เป็นเพราะประชากรผู้หญิงในไทยมีมาก บวกกับผู้ชายอาจจะชอบทำงานชนิดอื่น เช่นการเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เช่นเดียวกับคุณรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ที่นอกจากจะยืนยันว่าธนาคารไม่ได้มีนโยบายเลือกรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ยังแสดงความกังวลว่าลูกจ้างหญิงที่มีมากเกินไป มีปัญหาต่อการขยายสาขาในต่างจังหวัด เพราะผู้ชายจะทำงานที่ต้องเดินทางและออกไปพบลูกค้าได้สะดวกกว่าผู้หญิงที่อาจมีภาระเรื่องลูกและสามี

            ศาสตราจารย์ทาคาฮิโระ คาตายามะ ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนันกาคุอินในญี่ปุ่น ระบุว่าเหตุที่ผู้หญิงไทยทำงานนอกบ้านมาก อาจเป็นเพราะสังคมไทยคาดหวังให้ผู้หญิงหาเงินเข้าบ้าน ขณะที่ผู้ชายจะนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง รวมถึงสามารถบวชเพื่อทดทนคุณพ่อแม่ได้ ส่วนการที่ภาคการธนาคารมีผู้หญิงทำงานมาก ก็น่าจะเป็นผลมาจากทัศนติที่ว่าผู้หญิงมักมีพรสวรรค์ด้านบัญชีและการเงิน เพราะมีความละเอียดรอบคอบกว่าผู้ชาย นอกจากนี้งานธนาคารยังเป็นงานที่ไม่เสี่ยงภัยและไม่ใช้แรง จึงเป็นงานที่ผู้หญิงเลือกทำมากกว่า

หญิงไทยถึงครองพื้นที่ในงานธนาคาร บัญชีและการเงิน มากกว่าผู้ชาย

            การที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพทางเพศ ทำให้หญิงไทยไม่ต้องพึ่งพาครอบครัวและสามี แต่ปัญหาแรงงานหญิงมากกว่าชายในไทย ส่งผลกระทบต่อภาวะสังคมสูงวัยด้วยในทางอ้อม เนื่องจากการที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มจะมีครอบครัวและมีลูกน้อยลง เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และความก้าวหน้าในอาชีพ

            ในยุคนี้ การหาทางให้ผู้หญิงกลับไปอยู่บ้านเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงลูก เพิ่มจำนวนประชากรผู้เสียภาษี คงเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะผู้หญิงก็เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เห็นได้จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลบธรรมเนียมการให้ผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว เป็นแม่บ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานสู้กับภาวะสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ที่กำลังจะมาถึง

              หนทางที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนประชากร จึงไม่ใช่การให้ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่เป็นการเพิ่มสวัสดิการเพื่อจูงใจให้การมีลูกและทำงาน สามารถไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้บริษัทมีเดย์แคร์สำหรับดูแลเด็กในที่ทำงาน หรือการเพิ่มสิทธิลาคลอด ลาเลี้ยงดูบุตรให้กับพนักงาน 


ขอขอบคุณภาพจาก https://www.google.co.th

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก http://news.voicetv.co.th

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/482115.html

แชร์