ซึ้งน้ำใจแม่ค้าหาบ 5 บาท กว่า 30 ปี ป้าไม่เคยคิดขึ้นราคา เพราะอะไร ?

"ของทุกอย่างป้าแกขาย 5 บาท ที่ขายสิบบาทก็มีอย่างเดียว คือปลาหมึกเท่านั้น แกขายของแกอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยขึ้นราคาสักที" ลูกชายเจ้าของบ้านที่ป้าหาบใช้เป็นพื้นที่ขายของพูดถึงป้า http://winne.ws/n15049

6.5 พัน ผู้เข้าชม
ซึ้งน้ำใจแม่ค้าหาบ 5 บาท กว่า 30 ปี ป้าไม่เคยคิดขึ้นราคา เพราะอะไร ?

ยุคสมัยนี้ เดินไปทางไหน หันไปร้านใด ก็มักจะเจอป้ายขอปรับขึ้นราคาสินค้า และอาหารอยู่จนชินตา โดยเจ้าของร้านมักจะอ้างว่า เพราะของมันแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้สามารถประคับประคองร้านให้อยู่ต่อไปได้

          แต่ทว่า ในอีกมุมหนึ่งของสังคม ยังมีแม่ค้าวัยย่างหกสิบปีคนหนึ่ง ประกอบอาชีพหาบเร่ค้าขายกับข้าวมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ไข่ไก่ยังราคาเพียงฟองละห้าสิบสตางค์ และแม้วันนี้ราคาไข่ไก่จะพุ่งเกือบฟองละ 5 บาท แต่แกก็ยังคงยืดหยัดขายกับข้าวทุกอย่างในราคา 5 บาทเหมือนเมื่อสามสิบปีที่แล้วไม่มีผิดเพี้ยน 

          ในเวลาใกล้บ่ายสองของทุกวัน สายตาหลายคู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 แยก 3 จะเฝ้ามองหา ป้าแดง บุญยัง พิมพ์รัตน์ หรือที่ทุกคนเรียกแกว่า "ป้าหาบ" เพื่ออุดหนุนกับข้าวอร่อย ๆ ของแก ที่ทุกวันหาบหน้าของแกจะเต็มไปด้วยมะละกอ ข้าวเหนียว และครก ขณะที่หาบหลังเต็มไปด้วยกับข้าวและขนมหวานใส่ถุงพลาสติกกองสูงเป็นภูเขา

          "ของทุกอย่างป้าแกขาย 5 บาท ที่ขายสิบบาทก็มีอย่างเดียว คือปลาหมึกเท่านั้น แกขายของแกอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยขึ้นราคาสักที" ลูกชายเจ้าของบ้านที่ป้าหาบใช้เป็นพื้นที่ขายของพูดถึงป้า

ซึ้งน้ำใจแม่ค้าหาบ 5 บาท กว่า 30 ปี ป้าไม่เคยคิดขึ้นราคา เพราะอะไร ?

           จุดเริ่มต้นของแม่ค้า 5 บาท ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2520 ที่ป้าหาบเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร และตัดสินใจจะขายส้มตำครกละ 5 บาท ให้คนงานในซอยซึ่งมีรายได้น้อยได้ทานกันอย่างอิ่มท้อง จนหลายสิบปีผ่านไป แกก็มีเงินเก็บไปปลูกบ้านที่ร้อยเอ็ดได้หนึ่งหลัง ทั้ง ๆ ที่ขายส้มตำในราคาเพียงครกละ 5 บาท และไม่เคยขยับราคาเลยสักครั้ง แม้ข้าวของจะแพงขึ้น แพงขึ้น เกือบเท่าตัว

           "ขายราคานี้เพราะมันขายง่าย คนซื้อก็จ่ายง่าย ทุนฉันแต่ละวันก็พันกว่าบาท ก็พอมีกำไรนิด ๆ หน่อย ๆ ไอ้เรามันไม่มีหนี้สิน ก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปโขกเอากำไรกับเขามากเกินไป" ป้าหาบ บอกถึงเหตุผลที่ขายกับข้าวเพียง 5 บาท

            ป้าหาบ หรือ ป้าแดง ยังบอกอีกด้วยว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าหาบของแกมีมากหน้าหลายตา ทั้งขาประจำ  ขาจร โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ.2540 หาบของแกยิ่งขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งถ้าตอนนั้นแกปรับขึ้นราคาก็คงมีกำไรอู่ฟู่ไปแล้ว แต่แกไม่เคยคิดจะขึ้นราคาเลยสักที

            "เคยยุให้แกขึ้นราคา แกก็งอนนะ บอกว่าขึ้นแล้วสงสารพวกโรงงาน ป้าแกมองถึงคนล่าง ๆ ที่ซื้อของแกกิน" ลูกค้าประจำ ซึ่งเป็นคุณครูโรงเรียนวัดสุวรรณาราม แอบกระซิบเรื่องของป้าอย่างชื่นชม

            หลายคนสงสัยว่า แกขายกับข้าวในราคาเพียง 5 บาทมาได้อย่างไรตั้งนานกว่า 3 ทศวรรษ แล้วจะมีกำไรหรือ ป้าหาบยิ้มแล้วบอกว่า ตัวแกเองก็จำไม่ได้หรอกว่า ได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไร เพราะแกคิดเพียงว่า แม้แกจะขายข้าวในราคา 5 บาท แต่ตัวแกเองไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยากทานอะไรก็ได้ทาน ไม่เคยลำบาก และไม่ทำให้เป็นหนี้ใคร เพราะฉะนั้นก็ยังขาย 5 บาทได้อยู่

            นอกจากป้าหาบจะใจดีขายกับข้าวทุกอย่างในราคาถุงละ 5 บาทแล้ว บ่อยครั้งที่จะเห็นแม่ค้าวัยชราคนนี้ หยิบยื่นกับข้าวให้ลูกค้าที่ไม่ค่อยมีเงินได้ทานกันฟรี ๆ แถมยังให้เสียเยอะจนผู้รับเองยังตกใจ 

            "นึกถึงตัวเองเวลาไม่มี ท้องหิวมันทรมานมากนะ คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็อยากให้เขากินอิ่ม บางคนมีเงินมา 10 บาท มาซื้อกับป้า ป้าก็ให้เขาเยอะ ๆ เป็นข้าวเหนียวเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนมาไกล ๆ ไม่มีเงินมา ป้าก็ให้ไปบ้าง หรือไม่ก็คิดเขาแค่ครึ่งเดียว 20 บาท เอา 10 บาทพอ" ป้าหาบ บอก

             ความใจดีของป้าหาบ อาจจะเป็นเพราะในสมัยสาว ๆ แกเคยลำบากมาก่อน ทำมาหมดแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ เป็นแม่บ้าน สุดท้ายมาจบที่แม่ค้าขายส้มตำ และเก็บหอมรอมริบเรื่อยมาจนพอมีเงินเก็บ แต่แกก็ยังเข้าใจหัวอกของคนยากไร้เป็นอย่างดี 

             "ของอย่างนี้นะหนู คนไม่เคยลำบากมาก่อนไม่มีทางเข้าใจหรอก บางทีแค่ยี่สิบบาท เราเห็นว่าน้อยนิด เขาก็หาไม่ได้นะ หรือบางคนย้ายไปอยู่ที่ไกล ๆ มาซื้อของป้า ป้าก็ยิ่งไม่เอาเงินเขาเลย กลัวเขาจะไม่มีค่ารถกลับบ้าน" ป้าหาบ เล่าด้วยความเข้าใจคนหัวอกเดียวกัน

ซึ้งน้ำใจแม่ค้าหาบ 5 บาท กว่า 30 ปี ป้าไม่เคยคิดขึ้นราคา เพราะอะไร ?

            เคล็ดลับที่ทำให้ป้าหาบสามารถคงราคา 5 บาทมาได้กว่า 30 ปี ก็ไม่ยากอะไร เพราะป้าหาบแกจะพยายามทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด และซื้อวัตถุดิบจากเจ้าประจำทำให้ได้มาในราคาไม่แพงมาก ซึ่งแกก็จะตื่นแต่เช้ามืดมาทำกับข้าวเป็นหม้อ ๆ แล้วหาบของหนัก ๆ ออกมาขายช่วงบ่าย ๆ เป็นประจำเกือบทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ป้าหาบยังบอกอีกด้วยว่า แกสนุกกับสิ่งที่แกทำ เพราะได้คุยกับคนมากหน้าหลายตา และหากแกหยุดขายไปหนึ่งวันหรือสองวัน วันรุ่งขึ้นจะมีลูกค้ามาตัดพ้อเลยทีเดียว

             "ถ้าเขาไม่มี เราก็ให้เขากินได้ เวลาเราไม่มี ก็คงจะมีคนยื่นมาให้เรากินบ้าง เหมือนว่าเราทำบุญ ยิ่งกว่าใส่บาตรอีกนะ การให้คนเขาได้กิน ใส่บาตรบางทีพระมีของกินเยอะ ๆ พระท่านก็ไม่ฉันอันนั้นอันนี้ แต่คนที่ไม่มีจะกิน ให้เขาไปเขาก็กินหมด และอิ่มด้วย ยิ่งบางคนให้ไป เขาไม่ลืมเลย ไปเจอกันอยู่กลางทาง เขาเห็นป้าแล้วบอกดีใจจังเลย นึกถึงที่ป้าให้ของกิน เขาบอกว่าไม่เคยลืมเรา ขนาด 9 ปี 10 ปี มาเจอกันวันนี้ ยังมีคนมาทักป้าเลย" ป้าหาบ เล่าด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง

              ป้าหาบยังบอกด้วยว่า ชีวิตของแกพอมีพอกิน เงินเก็บก็พอมี หนี้สินไม่มี ลูกเต้าก็โตได้งานทำกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตของแกก็ไม่ได้ลำบากอะไร เช่นนั้นแล้ว เมื่อแกพร้อม ก็สามารถทำอะไรอย่างที่แกอยากจะทำได้ด้วยความสบายใจซึ่งสิ่งนั้นก็คือ "การให้" นั่นเอง

              เห็นไหมว่า เพียงแค่ความคิดเล็ก ๆ ของป้าหาบที่เจือจานน้ำใจอันยิ่งใหญ่สู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับทำให้มุมหนึ่งของสังคมไทยในยุคข้าวยากหมากแพงดูแล้วมีความสุขขึ้นมาถนัดตา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร ค ฅน เดือนกรกฎาคม

ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/61607

แชร์