คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

1) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน (วังวนแห่งกิเลส) 2) สังขาร อันเป็นกรรมภพ (วังวนแห่งกรรม) 3) วิญญาณ นามรูป อายตนะทั้งหก ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ จนถึงอุปายาส (วังวนแห่งวิบาก) ทั้ง 3 วังวนนี้ รวมกันจึงกลายเป็นสังสารวัฏขังหมู่สัตว์ ให้เวียนว่ายตายเกิด http://winne.ws/n15077

4.2 พัน ผู้เข้าชม
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

ความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอน ทุกขสมุทัยอริยสัจ คืออะไร ?

(ตรัสรู้ทุกขสมุทัยอริยสัจ)

(สัจจญาณ)

อิทัง ทุกขะสมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ​ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ (ตัณหา) เป็นทุกข์สมุทัยอริยสัจ"

(กิจจญาณ)

"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ​ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้แล ควรละเสีย"

(กตญาณ)

"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะนันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้แล เราละได้แล้ว"

ห่วงโซ่วงจรปฏิจจสมุปบาท

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

อธิบายทุกข์และสมุทัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท

       กระบวนการระหว่างเหตุเกิดทุกข์ ไปจนถึงทุกข์  ต้องอธิบายตามหลักปฏิจจสมุปบาทจึงจะเห็นขั้นตอนต่างๆได้ชัดเจน เพราะขั้นตอนระหว่างตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น เกิดกลายเป็นอุปาทานขันธ์นั้น เป็นไปตามกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท

      ปฏิจจสมุปบาทแปลว่า "การเกิดขึ้นโดยอาศัยกัน" คือวงจรกระบวนการของสภาวธรรม ต่าง ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด ของทุกชีวิตในสังสารวัฏ แสดงถึงความเป็นไปสืบเนื่องถึงกันจากสภาวธรรมหนึ่งไปถึงอีกสภาวธรรมหนึ่ง ไม่ได้มีสภาวธรรมใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังกัน แต่เกิดขึ้นพร้อมๆกันสืบต่อเนื่องเป็นอันเดียวกัน ต่างต่อเติมเสริมแต่งกันและกัน ดำเนินเป็นไปเป็นวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การอาศัยกันและกันเกิดต่อเนื่องเป็นวัฏจักรของสภาวธรรมต่าง ๆ นี้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งบทความนี้จะขออธิบายโดยยก บทสวดปฏิจจสมุปปาทปาฐะเข้ามาประกอบดังนี้

1. "อวิชชาปัจจะยา สังขารา"  "สังขารเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย" 

       อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้ ได้แก่ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 เป็นตัวปกปิดบดบังทำให้หมู่นระต้องลุ่มหลงมัวเมาในสังสารวัฏนี้ เมื่อไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจ 4 ดังที่พระพุทธเจ้ารู้แจ้ง ก็ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยไปไม่มีจบสิ้น จนกว่าจะบรรลุธรรม รู้เห็นอริยสัจ 4 จึงจะหมดกิเลสไปสู่พระนิพพานได้ เมื่อมีอวิชชา จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขารตามมา

        ในภาษาไทย สังขาร หมายถึง ร่างกาย แต่ในทางพระพุทธศาสนา สังขาร แปลว่า การปรุงแต่ง คือ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ที่​เป็น​สังขต​ธรรม ใน​ที่​นี้​จะ​ยก​ตัว​อย่างอภิสังขาร ที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งดวงจิตที่ทำหน้าที่ถือกำเนิดในภพ (ปฏิสนธิวิญญาณ) ก่อเกิดเป็นกายเนื้ออย่างที่เห็นกัน ซึ่งได้แก่ ปุญญาภิสังขาร (บุญที่ทำไว้) อปุญญาภิสังขาร (บาปที่ทำไว้) และอาเนญชาภิสังขาร (ฌานที่ตนบรรลุ) อภิสังขารนี้จะคอยทำหน้าที่ปรุงแต่งสัตว์ผู้เกิดให้มีสภาพต่างๆตามแต่บุญ (ปุญญาภิสังขาร) และบาป (อปุญญาภิสังขาร) ของตน สำหรับผู้ได้จตุตถฌาน อาเนญชาภิสังขารจะเข้ามาปรุงแต่ง ให้ไปเกิดในชั้นอรูปพรหมด้วยอำนาจฌานที่ตนเข้าถึง แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วไปจะมีเพียงบุญและบาปเท่านั้นที่คอยปรุงแต่งสภาพใจ การที่คนเราทำดีหรือชั่ว ก็เป็นเพราะอภิสังขารคอยปรุงแต่งใจเช่นนี้

2. "สังขารปัจจะยา วิญญาณัง"  "วิญญาณเกิด เพราะสังขารเป็นปัจจัย" 

        วิญญาณทำหน้าที่อยู่สองลักษณะคือ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ วิญญาณจะเป็นตัวรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ประสบพบเจอ เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ แต่เมื่อตายลง วิญญาณจะทำหน้าที่ออกจากร่างไปเกิดในภพภูมิใหม่ ซึ่งเรียกว่า "ปฏิสนธิวิญญาณ" ในกระบวนการของปฏิจจสมุป บาทนี้ จะหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดขึ้นในภพภูมิใหม่ มีอภิสังขารคอยปรุงแต่ง หรือถ้าพูดเข้าใจง่ายๆก็คือมีบุญหรือบาปคอยปรุงแต่งนั่นเอง (สำหรับคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ฌาน) วิญญาณเกิด เพราะสังขารเป็นปัจจัยอย่างนี้

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

3. "วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง"  "นามรูปเกิด เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย"

        ปฏิสนธิวิญญาณ ทำให้เกิดนามรูป (จิตใจและร่างกาย) หรือขันธ์ 5 นั่นเอง ไป นามรูปนี้เจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นอัตภาพของเราๆท่านๆแบบที่เห็นกันในแต่ละวัน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นามรูปนี้จึงดับสลาย เหลือเชื้อเป็นปฏิสนธิวิญญาณในภพต่อไป แล้วก่อเกิดเป็นนามรูปในภพนั้นๆต่อไปอีกตราบเท่าที่อวิชชายังไม่ถูกทำลายไป เป็นเช่นนี้ทุกภพภูมิ ไม่ว่าจะเป็นพรหม เทวดา มนุษย์ หรือสัตว์นรก จะมีกระบวนการมาเกิดขึ้นและดับไปเช่นนี้เหมือนกันหมด ส่วนจะเป็นภพภูมิไหน กำเนิดอะไร นามรูปจะดีหรือชั่ว ก็ขึ้นอยู่กับบุญและบาปที่ได้ทำมา 

4. "นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง" "อายตนะ 6 ประการเกิด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย" 

        เมื่อนามรูปก่อเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงเกิดอายตนะ ๖ ประการ อายตนะมีคำแปลว่า บ่อเกิด ที่เกิด หรือที่ประชุม หมายถึงที่เกิด หรือแหล่งรวมแห่งอารมณ์ต่างๆ แบบออกเป็นสองส่วนคือ อายตนะภายนอก เป็นอารมณ์ที่มากระทบ มี 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดต่อใจโดยตรง) ส่วนอายตนะภายใน (เรียกว่าทวาร 6 ก็ได้เช่นกัน) ก็ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ภายนอกที่มากระทบ มี 6 เช่นกันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 

5. "สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส" "ผัสสะเกิด เพราะมีอายตนะ 6 ประการเป็นปัจจัย"

        เมื่อมีอายตนะภายนอกและภายในกระทบกัน การกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายในนี้เรียกว่าผัสสะ แปลว่าการกระทบ หรือสัมผัส กระบวนการรับอารมณ์จะสำเร็จได้ต้องมีการกระทบของอายตนะภายนอกและภายใน ลำพังอายตนะภายนอกและอายตนะภายในหากไม่มีการกระทบกันก็จะไม่มีผัสสะทำให้ไม่อาจจะรับรู้อารมณ์ได้ ต่อเมื่ออายตนะภายนอกและภายในกระทบกัน ทำให้การรับรู้อารมณ์สำเร็จได้

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

6. "ผัสสะปัจจะยา เวทนา"  "เวทนาเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย"

        เมื่อการรับรู้อารมณ์สำเร็จ เวทนาจึงได้เกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมา ซึ่งก็มี 5 ประการ หรือ 3 ประการ ดังที่ได้อธิบายไปแล้วในเบญจขันธ์ นั่นเป็นประเภทของเวทนาที่มีผลต่อจิตใจ แต่หากจัดเวทนาเข้าในอายตนะทั้ง 6 ก็จะได้ 6 ข้อเช่นกัน เป็นกระบวนการรับรู้อารมณ์ที่ต่อเนื่องกัน ตัวอย่างเช่น รูป (รูปารมณ์) มาสู่การรับรู้ของตา (จักขุ) ตามองเห็นรูป เกิดผัสสะทางตา ทำให้รับรู้อารมณ์ทางตาได้ เมื่อรับรู้อารมณ์จึงเกิดเวทนาที่เกิดจากอารมณ์ทางตา (จักขุสัมผัสสชา เวทนา) เป็นต้น แม้ในอายตนะ 5 ที่เหลือก็เป็นแบบนี้

7. "เวทนาปัจจะยา ตัณหา"  "ตัณหาเกิด เพราะเวทนาเป็นปัจจัย"

        เมื่อได้พบเวทนาที่ชอบใจ จึงทำให้เกิดตัณหาความอยากได้เวทนาที่ชอบใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นเวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หรือจะเป็นอุปาทานขันธ์ การเสาะแสวงหาสิ่งที่ชอบใจจึงเริ่มขึ้น เป็นกามตัณหา หรือความอยากจะมีอยากจะเป็น ก็เป็นภวตัณหา หรือกระทั่งความอยากจะไม่มีไม่เป็น อยากจะสูญสิ้น ด้วยคิดว่าจะไม่มีทุกข์อีก เป็นวิภวตัณหา เมื่อจำแนกตัณหาทั้งสามลงในอารมณ์ต่างๆแล้ว สามารถจำแนกตัณหาได้ถึง 108 ประการเลยทีเดียว (มมก. 17/130/594) ความอยากนั้นมีอยู่มากมายอย่างนี้

8. "ตัณหาปัจจะยา  อุปาทานัง"  "อุปาทาน (ความยึดมั่น) เกิด เพราะตัณหาเป็นปัจจัย"

        เมื่อได้พบเจออารมณ์ที่ชอบใจ แล้วเกิดความยึดมั่นว่าเป็นของเรา ความยึดมั่นนี้เรียกว่าอุปาทาน เป็นอาการที่ต่อจากตัณหา ตัณหาคือความอยาก อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น ลักษณะที่ปรากฏคือตัณหาคือความอยากได้โดยที่ยังไม่มีเป้าหมายในใจ ส่วนอุปาทานคือการพบเป้าหมายที่ตนต้องการแล้วยึดมั่นไว้ในใจ ตัณหากับอุปาทานต่างกันอย่างนี้ ตัณหาคืออยากได้ อุปาทานคือยึดมั่นในสิ่งที่อยากได้ ตัณหาเป็นสมุทัย ทำให้เกิดอุปาทานตัวที่เป็นความทุกข์

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

9. "อุปาทานะปัจจะยา ภะโว"  "ภพเกิด เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย" 

        ภพมีความหมายทางภาษาบาลีว่า ที่เป็นที่เจริญของหมู่สัตว์ หรือที่เป็นที่เกิดของหมู่สัตว์ ภพเป็นที่รองรับสรรพชีวิตในสังสารวัฏทั้งหมดเปรียบได้กับคุกขนาดใหญ่ที่ขังหมู่สัตว์ให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏต่อไป แบ่งออกเป็น 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

        เพราะมีอุปาทาน จึงทำให้การเกิดในภพยังคงมีต่อไป เพราะเหตุนี้อุปาทานจึงเป็นปัจจัยให้เกิดภพ หากสามารถตัดกิเลสได้หมดสิ้น ไม่เหลืออุปาทาน ก็จะเข้าสู่พระนิพพาน หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ไม่มีการเกิดในภพอีกต่อไป 

10. "ภะวะปัจจะยา ชาติ" "ชาติ (การเกิดใหม่) เกิด เพราะภพเป็นปัจจัย"

        ภพมีหน้าที่รองรับสัตว์ที่มาเกิด หากไม่มีภพ ก็จะไม่มีที่รองรับให้สัตว์มาเกิดได้ ภพจึงเป็นปัจจัยให้มีการเกิดของสรรพสัตว์ได้ หากเป็นหมู่สัตว์ที่ได้ทำบุญกุศล ก็จะมีสุคติภพเป็นที่รองรับ แต่ถ้าเป็นหมู่สัตว์ที่ได้ทำบาปอกุศล ก็จะมีทุคติภพมารองรับแทน

11. "ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ" 

        "ชรา มรณะ โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกขะ (ทุกข์) โทมนัส (โทมนัส)       อุปายาส (ความลำเค็ญใจ, คับแค้นใจ) เกิด เพราะชาติ​ (การ​เกิด) เป็นปัจจัย

        เมื่อมีการเกิด ก็ต้องแก่ชรา และตายไปตามกฎไตรลักษณ์  ทำให้ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความโศก จนถึงอุปายาสจึงเกิดขึ้นตามมา 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 4 "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" คืออะไร ?

12. "เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ."

"ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น ล้วนมีได้ด้วยประการฉะนี้"

       กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ได้แสดงชัดถึงกระบวนการสืบต่อระหว่างทุกข์และสมุทัย สรุปปฏิจจสมุปบาททั้งหมดลงในสามส่วนคือ

         1) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จัดลงในกิเลสวัฏ (วังวนแห่งกิเลส)

          2) สังขาร อันเป็นกรรมภพ จัดลงในกัมมวัฏ (วังวนแห่งกรรม)

          3) วิญญาณ นามรูป อายตนะทั้งหก ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ จนถึงอุปายาส จัดลงในวิปากวัฏ (วังวนแห่งวิบาก)

       ทั้งสามวังวนนี้ รวมกันจึงกลายเป็นสังสารวัฏ ​ที่​หมู่​สัตว์​จะ​ต้อง​วน​เวียน​เปลี่ยน​ไป ​เช่น​นี้​ไม่​มี​สิ้นสุด​ จน​กว่า​จะ​สามารถ​ละ​ตัณหา​ได้​ เมื่อ​นั้น​จึง​จะ​หลุด​พ้น​ใน​ที่สุด

       จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดพร้อมกับพระพุทธเจ้าในอริยสัจข้อที่ 2 นี้ทั้ง 3 รอบ ทรงรู้เห็นว่าตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรจะละให้ได้ และทรงสามารถละตัณหานี้ได้หมดสิ้น พระองค์จึงชื่อว่าตรัสรู้สมุทัยอริยสัจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว  เมื่อพระองค์สามารถละตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ อันเป็นตัวทำให้เกิดในภพใหม่อีก  จึงทรงหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ไม่ต้องตกอยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาทนี้อีกต่อไป

การตรัสรู้ทุกขสมุทัยอริยสัจมีอธิบายดังที่กล่าวมานี้

ส่วนนิโรธอริยสัจ ความดับทุกข์ที่พระองค์ตรัสรู้​ จะขออธิบายในตอนต่อไป.

จบตอนที่ 4

อ้างอิง : ปริวีมังสนสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=16&siri=47

วิภังคปกรณ์ ปริวีมังสนสูตร 

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php

B=35&A=6271&w=%BB%D8%AD%AD%D2%C0%D4%CA%D1%A7%A2%D2%C3_&option=2>

Cr.ปธ.ก้าว​ต่อไป​

แชร์