ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ปัญญาจากการภาวนาเท่านั้นที่จะลดอัตตาตัวตนให้น้อยลง ลดความอยากได้ใคร่มีและความลุ่มหลงในอำนาจวาสนา สมาธิภาวนาจึงเป็นการปฏิบัติที่กระทำโดยตรงต่อจิตเพื่อให้จิตเกิดปีติสุข http://winne.ws/n15280

949 ผู้เข้าชม
ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ในทางพระพุทธศาสนา ปัญญาเกิดได้ต้องมาจาก 3 ทางคือ 1.การฟัง (สุตมยปัญญา) 2.การคิดไตร่ตรอง (จินตมยปัญญา) และ 3.การภาวนา (ภาวนามยปัญญา)

ในทางโลก ปุถุชนทั่วไปมักแสวงหาปัญญาเพียง 2 ทางคือจากการฟังและการคิด ปัญญาเช่นนี้เป็นปัญญาที่ใช้เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการศึกษา ในหน้าที่การงาน และการแสวงหาโภคทรัพย์และอำนาจวาสนา ปุถุชนทั่วไปจึงไม่รู้จักปัญญาที่เกิดจากการภาวนา เพราะการภาวนาไม่ได้ช่วยพวกเขาในการทำมาหากินหรือในการแสวงหาอำนาจวาสนา

หนทางที่จะสร้างความสำเร็จในทางโลกให้แก่ผู้คนสามารถทำได้เพียงจากการฟังและการคิด โดยไม่ต้องปฏิบัติสมาธิภาวนา ผู้คนส่วนใหญ่มองว่า ลำพังเพียงแค่การฟังและการคิดสามารถสร้างความร่ำรวยและอำนาจวาสนาให้แก่เขาเพื่อให้มีชีวิตอยู่สุขสบายได้ การใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้จึงไม่จำเป็นต้องภาวนา

แต่ในทางธรรม ผู้มีปัญญาอย่างแท้จริงต้องมีความรู้ทั้ง 3 ทางคือ ทั้งการฟัง การคิด และภาวนา เพราะปัญญาจากการภาวนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ละถอนความโลภ โกรธ หลง และความลุ่มหลงในอำนาจวาสนาเพื่อการเข้าสู่โลกุตรธรรมอันถือเป็นอริยทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าโภคทรัพย์ทั้งหลาย เพราะความร่ำรวยและอำนาจวาสนามีแต่จะดึงจิตใจของผู้คนให้ไหลตกต่ำลง อันเนื่องมาจากความโลภ โกรธ หลงของพวกเขาหาขอบเขตที่สิ้นสุดไม่ได้

ปัญญาจากการภาวนาเท่านั้นที่จะลดอัตตาตัวตนให้น้อยลง ลดความอยากได้ใคร่มีและความลุ่มหลงในอำนาจวาสนา สมาธิภาวนาจึงเป็นการปฏิบัติที่กระทำโดยตรงต่อจิตเพื่อให้จิตเกิดปีติสุข นิ่งสงบและไม่แส่ส่ายไปในทางราคะตัณหา จิตที่สงบนิ่งและไม่แส่ส่ายจึงนับเป็นกุศลผลบุญแก่ผู้ปฏิบัติอย่างมาก

ปัญญาในทางโลกที่เกิดจากการฟังและการคิด ล้วนเป็นปัญญาที่เกิดจากการส่งจิตออกนอกกายเพื่อไปนึกไปคิดในเรื่องราวต่างๆ นานาที่พ้นออกไปจากกายของเราทั้งสิ้น เช่น การดูหนังฟังเพลง ทำกิจการค้าขาย หรืองานค้นคว้าวิจัยต่างๆ ปัญญาในทางโลกจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปัญญาจากสมาธิภาวนาอันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตที่
ตั้งมั่นอยู่ภายในกายหรือภายในลมหายใจ

ภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการจิตที่ไม่แส่ส่ายออกไปนอกกาย การภาวนาทำให้รู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับกายสังขารของเรานี้ว่าเป็นของเน่าเหม็นและต้องแตกดับลงในที่สุด ขณะภาวนา จิตจะสงบนิ่งอยู่ในสมาธิ ณ ขณะนั้นจิตของเราจะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลายเข้าครอบงำ จิตที่อยู่ในสมาธิภาวนาเช่นนี้ เราพึงรักษาไว้ให้ดี อย่าให้จิตแส่ส่ายไปในทางอกุศล ผลบุญที่ได้รับจากการภาวนาจะส่งเราไปสู่ภพภูมิและชาติกำเนิดที่สูงยิ่งขึ้น

การภาวนาจึงแตกต่างจากการฟังและการคิด แม้เราจะอ่านหนังสือมากมายก่ายกองเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายสังขารนี้ แต่ความรู้ที่ได้จะถูกบรรจุไว้เพียงแค่ในสมอง อันแตกต่างจากการทำวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณากายสังขารจะถูกซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติอย่างล้ำลึก ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอสุภะและความเป็นอนัตตาของกายสังขารนี้ดียิ่งกว่าการอ่านหนังสือ

ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

การภาวนาจึงทำให้ดวงจิตหลุดพ้นและหลีกหนีออกไปจากสังสารวัฏได้

การทำสมาธิภาวนาอาจทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นสมถสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน การเข้าฌาน การเพ่งนิมิต เพ่งลูกแก้วหรือดวงไฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะสมาธิภาวนาดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแต่เป็นการวางฐานจิตไว้ภายในกายของผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น เพื่อให้จิตของผู้ปฏิบัติอยู่ในสมาธิ ไม่แส่ส่ายออกไป หากปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้มีระดับธรรมสูงยิ่งกว่าผู้ปกครองประเทศที่จิตยังแส่ส่ายทะยานอยากในอำนาจวาสนาและผลประโยชน์ทางการเมือง

ความแตกต่างระหว่างปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรมจึงอยู่ที่การวางฐานที่ตั้งของจิต

ไว้ภายในกายหรือไว้ภายนอกกาย ปุถุชนทั่วไปมักไม่อาจรักษาที่ตั้งของจิตให้คงอยู่ภายในกายได้ เพราะจิตของปุถุชนมักแส่ส่ายออกนอกกายไปที่โน่นบ้างที่นี่บ้างอยู่ตลอดเวลา พวกเขารู้สึกคุ้นชินกับการส่งจิตออกนอกเพื่อไปนึกคิดในเรื่องการแสวงหาโภคทรัพย์และอำนาจวาสนา พวกเขามักชินชากับการแส่ส่ายของจิต หากเมื่อไรจะบังคับจิตให้ตั้งมั่นอยู่แต่ภายในกาย จิตจะขัดขืนดิ้นรนและหาทางออกไป

การที่จิตมีธรรมชาติแส่ส่าย เพราะปุถุชนทั่วไปยังติดข้องอยู่กับกามราคะ ความกำหนัดและความโลภ โกรธ หลง จิตจึงแส่ส่ายออกไปเพื่อแสวงหาการเสพรสกาม เพื่อไขว่คว้าหาความมั่งคั่งและยศถาบรรดาศักดิ์ ยิ่งมีราคจริตรุนแรง จิตยิ่งแส่ส่ายมาก จิตที่แส่ส่ายมากมีแต่จะไหลตกต่ำสู่อกุศลมูล ไปสู่ภพภูมิและชาติกำเนิดที่ตกต่ำเรื่อยไป

ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ผู้ปกครองประเทศที่ขาดการปฏิบัติสมาธิภาวนา จิตของเขายังแส่ส่าย อำนาจปกครองที่ได้มาโดยไม่ชอบยิ่งทำให้จิตของเขาแส่ส่ายมากขึ้น และไปโหมกระพือความโลภ โกรธ หลงที่มีอยู่ในตัวเขาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งวันเวลาเนิ่นนานออกไป การถอนจิตของเขาให้ออกจากความลุ่มหลงในอำนาจวาสนายิ่งยากลำบากขึ้น

ผู้มีจิตแส่ส่ายมักมองไม่ออกว่าใครดีใครชั่ว สิ่งไหนเป็นบุญหรือเป็นบาป เพราะปัญญาของเขามีเพียงแค่จากการฟังและคิดเฉพาะแต่เรื่องในทางโลก พวกเขาไม่เคยภาวนา การทำงานและการตัดสินใจของเขาจึงวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องของความโลภ โกรธ หลง จิตของเขาจึงหลงผิดและติดยึดอยู่ในกับดักแห่งอกุศลมูล จนไม่อาจหาทางออกจากความลุ่มหลงในอำนาจปกครองที่พวกเขายื้อแย่งมา

ผู้ปกครองบ้านเมืองจึงไม่เคยตระหนักว่าปัญญาที่เกิดจากสมาธิภาวนาหรือภาวนามยปัญญานั้นเป็นของสูง เป็นอริยทรัพย์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหนือกว่าความร่ำรวยและอำนาจปกครอง แต่ผู้ปกครองประเทศกลับไม่ให้ความสำคัญแก่ชาวพุทธที่ปฏิบัติสมาธิภาวนา ความโง่เขลาเบาปัญญาทำให้เขาคิดว่าอำนาจปกครองของพวกเขามีความสำคัญเหนือกว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนา พวกเขาจึงให้ความสำคัญแก่ตัวเองยิ่งกว่าผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมและผู้ที่กำลังนั่งสมาธิภาวนา

แท้จริงแล้วผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการตั้งฐานจิตไว้ภายในกาย พิจารณาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พิจารณาความเป็นอสุภะของกายนี้ พิจารณาความโสโครกเน่าเหม็นที่มีอยู่เต็มภายในกายนี้ ทั้งนี้ เพื่อละถอนอัตตาตัวตนและทำลายราคะตัณหาให้หมดสิ้น

สมาธิภาวนาจึงช่วยผู้ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงถึงสภาวะความเป็นอนิจจังและความเป็นอนัตตาของกายสังขารนี้ อันเป็นความรู้แจ้งที่ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่อาจเข้าถึงได้

ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ผู้ปกครองประเทศจึงมีชีวิตและมีลมหายใจที่อยู่คนละภพคนละมิติกับผู้ปฏิบัติธรรม และไม่มีหนทางใดที่ทั้งสองฝ่ายจะมาประสบพบกันได้เลยไม่ว่าในชาตินี้หรือในภพชาติต่อๆ ไป ตราบใดที่เขายังไม่เห็นความสำคัญของการภาวนา การกระทำใดๆ ที่ผู้ปกครองประเทศได้บังอาจล่วงเกินต่อผู้ปฏิบัติธรรมเพราะเหตุที่เขาขาดภาวนามยปัญญา จึงเปรียบเสมือนคนพาลเกเรที่เข้าทำร้ายคนดีที่ไม่มีทางต่อสู้

ภูมิปัญญาอันน้อยนิดและขาดการปฏิบัติสมาธิภาวนาของผู้ปกครองประเทศจึงเป็นเหตุทำให้พวกเขาตัดสินใจผิดพลาดในการใช้การเมืองนำหน้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา การแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองทำให้พวกเขาขาดสำนึกผิดชอบชั่วดีและไม่ให้ความเคารพต่อพระพุทธศาสนา ไม่ให้ความนับถือแก่พุทธศาสนิกชนที่กำลังปฏิบัติสมาธิภาวนา

ความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของกายสังขารและสภาวะของจิตจากการปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงยิ่งที่ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาควรได้รับการเคารพยกย่อง ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงเป็นบุคคลที่พุทธศาสนิกชนพึงให้ความสำคัญและให้ความเคารพนับถือยิ่งกว่าผู้ปกครองประเทศที่มีจิตใจโหดเหี้ยม มีจิตผูกอาฆาตพยาบาท มีความทะยานอยากและมักใหญ่ใฝ่สูง ผู้ปกครองประเทศจึงหมกมุ่นและวนเวียนอยู่กับการแส่ส่ายของจิตที่ส่งออกไปเพื่อมุ่งแต่ในเรื่องของความโลภ โกรธ หลง

แต่ผู้ปกครองประเทศกลับสบประมาทผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา ด้วยการใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปรามบีบบังคับผู้ปฏิบัติธรรมให้จำยอมต่ออำนาจการเมืองของพวกเขาด้วยจิตใจที่ขาดหิริโอตตัปปะ ไม่ละอายแก่ใจที่ได้กระทำล่วงเกินต่อผู้ถือศีลและผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ปกครองประเทศยังลุ่มหลงงมงายในอำนาจปกครอง ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักของสูงของต่ำ

ผู้ปฏิบัติธรรมขณะอยู่ในอิริยาบถในท่านั่งสมาธิภาวนาเพื่อทำดวงจิตของเขาให้สงบ ให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสเพื่อการเข้าสู่เนกขัมมะ ท่านั่งสมาธิภาวนาจึงเป็นอิริยาบถอันศักดิ์สิทธิ์ที่บุคคลอื่นใดไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงได้ แม้ในวัดวาอารามยังมีข้อกำหนดให้สาธุชนทั้งหลายพึงรักษาความสงบ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญและให้ความเคารพยำเกรงแก่ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิภาวนา

การนำกองทัพเข้าไปปิดล้อมวัดที่มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากกำลังปฏิบัติธรรม กำลังนั่งสมาธิภาวนา เพื่อหาทางบีบคั้นจิตใจและกดดันชาวพุทธที่ปฏิบัติธรรมอยู่นั้นเป็นการกระทำของผู้มีคุณธรรมต่ำ มีจิตใจฝังแน่นอยู่กับความลุ่มหลงในอำนาจวาสนา เป็นการกระทำที่ถือเป็นการลบหลู่ต่อพระพุทธศาสนาและสบประมาทชาวพุทธที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยงยิ่งนัก



Cr. http://www.matichon.co.th/news/530992

ธรรมกายกับความสำคัญของสมาธิภาวนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ
แชร์