ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

กว่าชีวิตของเธอจะเดินมาถึงเส้นชัยแห่งความสำเร็จได้นั้น "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ไม่ใช่เด็กที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง เพราะพ่อแม่มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างและตักส้วม http://winne.ws/n15778

805 ผู้เข้าชม
ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

"ครอบครัวเรามองว่าจากขี้ที่คนอื่นมองว่าน่ารังเกียจแต่มันคือทองสำหรับเรา มันคือขุมทรัพย์สำหรับเราตอนนั้น ก็ทำแบบนี้ไม่เคยรังเกียจ แม้โดนล้อโดนว่าไอ้เด็กตักขี้เด็กตักส้วมก็ไม่สนใจ"

ฟังประโยคนี้แล้วแทบไม่อยากเชื่อว่านี้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตนักแสดงสาวสวย "ตุ๊กตา อุบลวรรณ บุญรอด" ที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จในชีวิตมีธุรกิจส่วนตัวและเป็นเจ้าของบริษัทผลิตรายการโปรโมทสินค้ามากมายตามหน้าจอทีวี

 แต่กว่าชีวิตของเธอจะเดินมาถึงเส้นชัยแห่งความสำเร็จได้นั้น "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ไม่ใช่เด็กที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง เพราะพ่อแม่มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างและตักส้วม

"ตุ๊กตาทำทุกอาชีพนะไม่เคยเกี่ยงตอนเด็กพ่อกับแม่กลางวันทำก่อสร้าง กลางคืนเราไม่นอนกัน เงินไม่มีทำก่อสร้างได้เงินน้อย พ่อก็เลยไปรับจ้างตักส้วม สมัยก่อนรถดูดส้วมมันเข้าไม่ถึงทุกบ้าน เราก็ไปรับจ้างภาพที่จำได้พ่อกระโดดลงไปในถังส้วม พ่อก็จะคอยกระตุกบอกตักแล้วนะ เราก็สาวมันขึ้นมาแล้วก็เอาให้แม่ และแม่ก็จะเดินไปเทในหลุมดิน จำได้หนอนก็ไต่ยั่วเยี๊ยะที่หัวพ่อเหม็นมั้ยเหม็นมาก"

"แต่ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าทำยังไงก็ได้จะให้เราได้เงิน ในเมื่อมันเป็นอาชีพที่ไม่มีใครแย่งเราเลย เราเลยมองว่าจากขี้ที่คนอื่นมองว่าน่ารังเกียจแต่มันคือทองสำหรับเรา มันคือขุมทรัพย์สำหรับเราตอนนั้น ก็ทำแบบนี้ไม่เคยรังเกียจ โดนล้อโดนว่าไอ้เด็กตักขี้เด็กตักส้วมก็ไม่สนใจ แล้วยังไงมันก็เป็นอาชีพที่สุจริตเราไม่ได้ไปฆ่าคนตายเราไม่ได้ไปขโมยของใคร และอีกอาชีพที่ทำจริงๆ แล้วไม่อยากทำมันจะแตกต่างจากการตักส้วมแม้มันจะเหม็นแต่เราก็มีความสุข"

ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

เกิดมาจนแต่ภูมิใจในชาติกำเนิด

"ตุ๊กตาไม่เคยอายที่จะบอกว่าพ่อแม่เป็นใคร มันเลยทำให้ตุ๊กตาภูมิใจในชาติกำเนิดของตัวเอง ภูมิใจในพ่อแม่ของตัวเองแม้จะเป็นแค่กรรมกรคนงานก่อสร้าง แต่สามารถเลี้ยงดูเราและให้ชีวิตเรามาได้ถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่เกิดมาจำความได้เกิดมาในไซส์งานก่อสร้างอยู่ในสลัมพ่อแม่เหนื่อยมากทำงานสายตัวแทบขาด ได้เงินวันละไม่กี่สลึง"

"แม้กระทั่งข้าวจะกินมันยังไม่มี ภาพที่เราจำเลยข้างห้องเขาโยนข้าวทิ้งข้าวมันบูดเหม็นมาก แม่ก็ไปกวาดข้าวมาเอามาล้างน้ำแล้วก็มาตากให้มันแห้ง แล้วแม่ก็เอาข้าวที่ตากจนแห้งกรังมาต้มให้มันบานขึ้นมาอีกครั้ง และก็เอาข้าวให้พ่อกับเรากิน แม่จะกินน้ำข้าวต้มเห็นสภาพอย่างนี้ตลอด เรารู้สึกว่าเราโตมาแบบแม่เป็นช่างปูน พ่อเป็นช่างไม้ มันลำบากฉะนั้นเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ แม่บอกว่าตะปูขายได้ ถุงปูนขายได้ เจอกระดาษที่ไหนจะสั่งเก็บๆ มาขายทำอยู่แบบนี้"

"จนกระทั่งเริ่มโตขึ้นแม่เริ่มสอนผูกเหล็ก ฉาบปูน ทำลูกกรง ลูกลอกเสา วัดระดับน้ำ ก่ออิฐ แล้วช่วงที่เราไปเรียนหนังสือแม่บอกว่าจำไว้นะลูก "ถ้าเราไม่ดูถูกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราอะไรก็ตามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตอย่าดูถูกเขาให้สรรเสริญเขา ทุกอย่างรอบตัวเราขายได้หมด" เห็นผักนี่ไหม ผักนี่กินได้ ผักนี่ขายได้ ผักบุ้ง ตำลึง กระถิน มะระ สะเดา ตุ๊กตาเก็บขายหมด มะยมเก็บมาทำพริกกับเกลือจิ้มขาย เศษแก้วกระดาษขวดเก็บมาขายหมด"

ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

นอกจากความลำบากในวัยเด็กที่ไม่ได้สุขสบายตั้งแต่เกิด นอกจากนั้นชีวิตของนักแสดงสาวเล่าว่าเธอต้องเจอกับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ในวัยเพียง 12 ปี พ่อคิดคุกจึงทำให้แม่ช็อกจนร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ ไม่มีทั้งเงินรักษาแม่และเงินไปประกันตัวพ่อ  

"พ่อของตุ๊กตาทำอาชีพก่อสร้างมาได้ระยะหนึ่งก็มีคนมาชวนทำรับเหมาก่อสร้าง หัวหน้างานเอาของมาไว้ที่บ้านแล้วเขาเชิดเงินหนีไป พอมาเจอของกลางอยู่ที่บ้านพ่อก็เลยโดนจับติดคุกตอนนั้นแบบรู้สึกว่าชีวิตเกิดอะไรชีวิต อายุก็แค่ประมาณ 11-12  แม่ก็เครียดมากช็อกไปตื่นมาอีกทีปากเบี้ยวช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีเงินพาไปหาหมอ และตอนนั้นแม่ก็เพิ่งไปกู้หนี้ยืมสินเขามาเพื่อจะมาสร้างบ้านเพราะลูกเริ่มโตเป็นสาวไม่อยากให้อยู่ปะปนในแคมป์"

"ตุ๊กตาจำได้ว่าวิ่งร้องไห้ไปหาพระที่วัด ไปขอพระเป็นลูกศิษย์วัดเพื่ออยากได้กับข้าวมาให้แม่กิน แต่เราเป็นผู้หญิงพระท่านบอกเป็นไม่ได้ลูก ก็เล่าสิ่งที่เจอให้พระฟังและไปตื้อๆ ทุกวัน จนพระท่านสงสาร เอากับข้าวมาแขวนให้ที่หน้าบ้านคือต้องขอข้าววัดกิน ชีวิตของเราในตอนนั้นหารายได้จากเก็บผักไปขายในตลาดนั่งร้องไห้คือมันเครียดนะคนก็มาทวงเงินที่บ้าน เงินรักษาแม่ก็ไม่มี เงินจะไปช่วยพ่อประกันตัวพ่อจะทำยังไงตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย"

ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

"เหมือนชีวิตเราไม่มีทางออกนั่งร้องไห้ จนคุณลุงคนพิการที่เขาขาแขนขาดขอทานอยู่ในตลาดเขาก็มาถามว่าหนูร้องไห้ทำไม ก็เล่าให้แกฟัง แกก็บอกว่าดูลุงนะลุงถูกรถชน ชนแล้วหนี ที่ลุงเป็นอย่างนี้ทุกวันนี้ลุงมีลูกมีเมียลุงอายุเยอะแล้วอีกไม่นานก็ตายแล้ว แต่ลุงยังสู้ทุกวันนี้คนอาจจะมองว่าอาชีพขอทานเป็นอาชีพที่ต้องต่ำแต่ลุงก็สู้นะแล้วหนูล่ะอายุเท่าไหร่ และถ้าหนูเป็นอะไรไปแม่หนูจะเป็นอย่างไร และถ้าพ่อหนูมีโอกาสได้ออกมาแล้วลูกมานั่งคิดอยากจะตายใครจะดูแลพ่อแม่หนู"

"พอได้ฟังความรู้สึกที่ลุงเขาพูดมันเหมือนมีใครมาตบหน้าเรา เหมือนเราได้สติกลับมา คนที่มาทวงนี้เคยหลบเขา วันนั้นเดินออกมาเลยพูดกับเขาว่า น้ามีลูกมั้ยหนูขอไปเลี้ยงลูกน้าได้มั้ยแลกกับการใช้หนี้ หรือให้หนูทำงานบ้านก็ได้ แล้วค่าแรงน้าจะให้หนูวันเท่าไหร่ก็ได้ น้าให้หนูวันละ 5 บาท หนูไม่ขอรับเงินหนูขอเอาไว้ใช้หนี้หนูจะไปทุกวันขอแค่น้าให้หนูกลับมาอาบน้ำป้อนข้าวแม่ เขาก็ให้ไปทำๆ ได้ไม่นานพ่อก็ออกมาจากคุก และแม่ก็ค่อยๆ ดีขึ้น ตุ๊กตาก็ทำแบบนี้จนคนที่แม่ไปกู้เงินเขาบอกเขาเข้าใจไม่ต้องมาทำแล้วมีเมื่อไหร่ค่อยเอามาใช้สงสารเห็นน้องมาทำงานบ้านให้รู้เข้าใจเลยว่าไม่หนีหนี้"

"ลูกเหนื่อยแต่พ่อแม่ต้องไม่เหนื่อย" เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่นักแสดงสาวเล่าว่าหลังชีวิตพลิกผันเข้าสู่วงการเป็นดารา เธอได้ให้พ่อกับแม่หยุดทำงานก่อสร้างและจะขอเป็นคนเลี้ยงดูพ่อแม่เอง แต่ชีวิตการเป็นดาราก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด

“เชื่อมั้ยตุ๊กตามาเป็นดาราแต่ชีวิตมันไม่ได้สวยหรู ถ้าหนังที่เล่นไม่ถูกฉาย ละครไม่ถูกออกอากาศเราจะไม่มีทางได้เงินแม้แต่บาทเดียว แล้วสมัยก่อนเรามีสังกัดไม่สามารถไปรับงานเองได้ ทุกอย่างต้องผ่านค่ายถ้าค่ายไม่ให้ก็รับไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราอยากรับใจจะขาดเพราะงานอะไรได้เงินแล้วมันสุจริตเราก็อยากทำ บางเดือนเราไม่มีเงินเลยนะ เราไม่เคยบอกพ่อกับแม่ว่าเราไม่มี อย่างบางเดือนไม่มีเงินตุ๊กตาก็ทำอาชีพเสริมทั้งที่เป็นดาราก็คือเปิดท้ายขายของ

ไม่อายกำพืด "ตุ๊กตา อุบลวรรณ" ลูกกรรมกร เด็กตักส้วม ได้ดีเพราะความกตัญญู

"ตุ๊กตาเอาเสื้อผ้าหรือของที่มีไปขายที่หน้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ขายตั้งแต่ห้าโมงเย็นจนถึงตีสอง โดยที่ไม่บอกพ่อกับแม่ขายได้เงินมาก็ส่งเงินไปให้พ่อแม่ อย่างได้มาห้าพันก็จะเก็บไว้ที่ตัวเองพันเดียว โดยที่ไม่สนใจว่าเราจะเป็นอย่างไรแต่พ่อกับแม่ต้องได้มากกว่า ทำอยู่แบบนี้บางทีเคยลองพิสูจน์ให้พ่อแม่จนหมดตัว"

"รุ่งขึ้นอีกวันก็มีงานเข้ามา ขายของได้ ตุ๊กตาพิสูจน์มาแบบนี้มาเป็นร้อยๆ ครั้ง การที่เราดูแลพ่อแม่เราไม่เคยตายจริงๆ อยู่ก็มีงานจ้างพิมพ์รายงานได้ละห้าร้อย คือถ้าเราไม่เกี่ยงงานและไม่พราวตัวเองว่าเป็นดาราก็ไม่มีทางอดตาย รับจ้างซักรีดตุ๊กตาก็ทำไม่เคยเกี่ยงงานเลยทำทุกอย่างที่ทำได้ มันเลยทำให้รู้สึกว่าจะตายๆ  ไม่เคยอดตายซะที"

ความกตัญญูนำมาสู่ความสำเร็จ

"ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ตุ๊กตาอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ตุ๊กทำงานเบื้องหลังของตัวเองเปิดบริษัทผลิตรายการให้กับพวกสินค้าต่างๆ ที่อยากจะโปรโมทสินค้าตัวเอง ทำสกู๊ป เรามีกล้อง มีไฟ มีทุกอย่างเป็นของตัวเอง ที่จะสามารถผลิตให้กับลูกค้าได้เลย มีตัดต่อ แต่เราไม่ได้บอกใครไงว่าเราทำอะไรบ้างเท่านั้นเองว่าเราทำงานอยู่เบื้องหลัง และก็เปิดสอนคอร์สอาชีพปีนี้ก็ทำมาเป็นปีที่สอง เกี่ยวกับศาสตร์ยกหน้าเคาะหน้าด้วยมือไม่ได้ใช้อุปกรณ์ใดๆ"

"มันคือศาสตร์ยกหน้าและการกดจุดรีดน้ำเหลือง และพอได้ได้ไปศึกษามาจากหลายๆ ที่ และเห็นว่าพอจะเป็นแนวทางที่จะถ่ายทอดให้คนมีอาชีพได้โดยที่ไม่ต้องเปิดร้าน สามารถไปรับนวดหน้าตามบ้าน ลดต้นทุนในการเปิดร้านและสามารถทำเป็นอาชีพเสริม ชีวิตตุ๊กตาเป็นแบบนี้ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการไม่เคยลืมกำพืดของตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน จนวันที่เรามีชีวิตที่ดีขึ้นถ้าใครถามถึงชีวิตเราก็ยินดีที่จะเล่าไม่เคยอายเพราะคนเราไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง"

"ดังนั้นเราจะรู้สึกมีความสุขถ้าชีวิตของเราไปเป็นกำลังใจหรือแรงบันดาลใจคนที่รู้สึกว่าท้อแท้น้อยใจชีวิต ตุ๊กอยากให้เรื่องราวของเราเป็นกำลังใจให้อีกหลายๆ คนที่ได้อ่านหรือรับรู้เรื่องของเราหันมาจริงจังกับชีวิตมากขึ้น และก่อนที่จะรักใครต้องรักคนในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ให้มากขึ้นเพราะว่าตุ๊กตาได้พิสูจน์เองมาแล้ว จนอายุจะสี่สิบ พิสูจน์มาแล้วถ้าเราดูแลพ่อแม่เราจะไม่ตกอับเลยในชีวิต"

 ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ค อุบลวรรณ บุญรอด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://news.sanook.com/2229194/

แชร์