สื่อนอก แนะไทยกระจายอำนาจ แก้ 'การศึกษาล้าหลัง’

สื่อนอกชำแหละโรงเรียนไทย ล้าหลังทั้งวิธีสอน วิธีเรียน วิธีประเมินผล ส่งผลเด็กทำคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยสากล พ่อแม่หันส่งลูกเข้ารร.นานาชาติ ถ่างช่องว่างในสังคม แนะกระจายอำนาจจัดการศึกษา http://winne.ws/n15815

682 ผู้เข้าชม
สื่อนอก แนะไทยกระจายอำนาจ แก้ 'การศึกษาล้าหลัง’

               เว็บไซต์ข่าว Asian Correspondent นำเสนอบทรายงานในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม วิจารณ์ว่า การปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยยังคงมืดมน ชีวิตในโรงเรียนยังคงย่ำอยู่กับที่ การเรียน การสอน และการสอบ ไร้ประสิทธิผล ไม่ทันสมัย ทำให้เด็กไทยทำคะแนนได้ต่ำมากในการวัดผลตามมาตรฐานสากล

              รายงานยกตัวอย่างการสอบ PISA ที่ดำเนินการโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (โออีซีดี) ซึ่งปรากฏว่า ไทยมาเป็นอันดับเกือบบ๊วย

                คะแนนเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 490 คะแนน แต่ในปีที่ผ่านมานักเรียนไทยทำข้อสอบของ Programme for International Student Assessment ได้ไม่ถึงคะแนนเฉลี่ยในทุกรายวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ (ทำได้ 415 คะแนน) วิทยาศาสตร์ (421 คะแนน) และการอ่าน (409)  

                ขณะเดียวกัน ประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นของ PISA เป็นชาติเอเชียถึง 7 เขตปกครอง นั่นคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไทเป มาเก๊า เวียดนาม ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่

               ในการสอบ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) เด็กไทยทำได้ไม่ถึงคะแนนเฉลี่ยที่ 500 คะแนน โดยคณิตศาสตร์ทำได้ 431 คะแนน วิทยาศาสตร์ทำได้ 456 คะแนน ขณะที่นักเรียนของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ทำคะแนนได้สูงอย่างน่าประทับใจ

             ผลสอบ O-NETs ที่ประเทศไทยจัดสอบเป็นรายปี ให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน นักเรียนทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 %

              ในปีการศึกษา 2559/2560 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบ O-NETs ตก 4 ในทั้งหมด 5 วิชา ทำข้อสอบคณิตศาสตร์ได้ 24 % ภาษาอังกฤษได้ 27 %  นักเรียนชั้นม.3 ทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 % ในทั้ง 5 วิชา ที่แย่สุดคือคณิตศาสตร์ (29 %) กับภาษาอังกฤษ (31 %)

                รายงานบอกว่า คณะรัฐประหารของไทยให้คำมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษา แต่ครูคณิตศาสตร์คนหนึ่งในกรุงเทพบอกว่า โรงเรียนในเมืองไทยยังคงใช้หลักสูตรปี 2551 ซึ่งขยายจากหลักสูตรปี 2544 รัฐบาลชุดนี้ให้สัญญาว่าจะปฏิรูป แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

                 ทัศนะที่มองว่าระบบการศึกษาของประเทศล้าสมัย ทำให้พ่อแม่ส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติ เวลานี้ ในประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 181 แห่ง ในทวีปเอเชีย มีแต่จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ที่มีโรงเรียนนานาชาติเยอะกว่าไทย นอกจากนี้ เด็กยังถูกส่งไปเรียนกวดวิชาด้วย ผลคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง

             รายงานเสนอว่า ไทยควรปฏิรูปการศึกษาตามแบบอย่างในยุโรป อเมริกา และชาติเอเชียทั้งหลาย ด้วยการกระจายอำนาจจัดการศึกษาให้แก่เขตภูมิภาคต่างๆ มอบอำนาจตัดสินใจให้อยู่ใกล้มือครูและนักเรียนมากขึ้น  เปลี่ยนวิธีวัดผลการเรียน โดยออกข้อสอบให้สอดคล้องกับหลักสูตร ไม่ใช่ให้เด็กทำข้อสอบในสิ่งที่ไม่เคยเรียน

              รายงานยังแนะด้วยว่า ผู้เรียนต้องใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว มีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เช่น คิดวิพากษ์ได้ แก้ปัญหาเป็น รู้จักทำงานเป็นทีม เคราะห์ร้ายที่ระบบการศึกษาของไทยถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวในเรื่องเหล่านี้.


ขอขอบคุณภาพจาก https://www.google.co.th

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก http://news.voicetv.co.th

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/492370.html

แชร์