คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?

เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุถึงนิโรธแล้ว พระองค์จึงเห็นแจ้งในทุกสรรพสิ่ง คือทรงรู้เห็นอริยสัจ 4 เกิดเป็นจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ทรงรู้เห็นว่านิโรธเป็นความดับทุกข์ เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิต ที่ควรจะทำให้แจ้งแก่ตนเอง http://winne.ws/n15991

3.7 พัน ผู้เข้าชม
คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?ขอบคุณภาพจาก พระพุทธศาสนา - blogger

อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?

เมื่อเจริญสมถภาวนาจนบรรลุฌานสมาบัติแล้ว ก็ให้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อบรรลุมรรคผลต่อไป

มรรค 4 ผล 4

        มรรค และ ผล เป็น ธรรมในส่วนโลกุตตระ นำออกจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มรรค เป็นตัวญาณที่กำจัดกิเลส ส่วนผลเป็นญาณที่เสวยอารมณ์ของมรรคนั้น อันทำให้ถึงนิพพาน ซึ่งเป็นที่ดับแห่งทุกข์ทั้งปวง ธรรมเหล่านี้ จึงรวมเรียกว่าโลกุตตรธรรม 9 ประการ

มรรคและผลจัดรวมเป็นคู่ 4 คู่ แต่ละคู่นั้นกำจัดกิเลสได้ตามลำดับดังนี้คือ

        โสดาปัตติมรรค  โสดาปัตติผล ดับสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

        สกทาคามิมรรค  สกทาคามิผล ทำให้กามราคะ และปฏิฆะเบาบางลง

         อนาคามิมรรค  อนาคามิผล ดับกามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยได้เด็ดขาด

        อรหัตตมรรค  อรหัตตผล ดับรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาได้

        พระพุทธเจ้าได้แสดงตัณหาไว้ในบทธัมมจักโดยสรุปสามประการ แต่เมื่อนำตัณหาไปประกอบในอารมณ์ต่าง ๆ เช่นตัณหาในรูป เรียกว่ารูปตัณหา เป็นต้น ก็สามารถเพิ่มจำนวนได้มากมายหลายประการ ในกถาพรรณนาตัณหาวาระกล่าวว่า ตัณหาสามารถแยกออกได้ถึง 108 ประการเลยทีเดียว จึงไม่ใช่ง่ายที่จะละตัณหาได้หมดสิ้น แม้กระทั่งพระอนาคามีสามารถละกามราคานุสัยได้เด็ดขาด ก็ละได้เพียงกามตัณหาเท่านั้น ยังเหลือภวตัณหา (รูปราคะ) และวิภวตัณหา (อรูปราคะ) อยู่ จึงยังไม่ถึงนิโรธ ต่อเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะสามารถละตัณหาทั้งหมดลงพร้อมกับอวิชชาได้นั่นเอง จึงจะบรรลุถึงนิโรธได้อย่างแท้จริง    

คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?

         อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่เข้าถึงฌานสมาบัติแล้ว หวังจะเข้าถึงชั้นโลกุตตรธรรมนี้ จะต้องเจริญวิปัสสนาญาณ คือการพิจารณาอริยสัจ 4 ในสังขารให้เห็นตามความเป็นจริง จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ละความพอใจความยินดีในภพออกไป ตัดกิเลสตามลำดับมรรคผลทีละชั้น ๆ จนบรรลุถึงนิโรธความดับทุกข์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 16 ประการ (โสฬสญาณ) รายละเอียดลำดับของวิปัสสนาญาณทั้ง 16 ประการนี้ จะขออธิบายตามพระธรรมเทศนาของท่านพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย ดังนี้

        1. นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดมีปรีชากำหนดรู้รูปนาม (ร่างกายและจิตใจ) ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ให้รู้จักตนเอง ว่ารูปนามนี้เป็นของตัวเรา แต่ไม่ใช่ตัวของเรา 

        2. ปัจจยปริคคหญาณ เป็นญาณที่กำหนดรู้เหตุ รู้ผลของรูปนาม รู้ว่ารูปนามทั้ง 2 นี้ ต่างก็เป็นปัจจัยคือเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน 

        3. สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ทำให้เห็นรูปนามเป็นไปตามอำนาจของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว ไตรลักษณ์จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

        4. อุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่รู้เห็นความเกิดดับของรูปนามทั้งหมด 

         5. ภังคญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดมีปรีชาหยั่งรู้เห็นรูปนามแตกดับไป และเสื่อมสลายหายไปเรื่อยๆ เมื่อได้บรรลุถึงญาณนี้แล้ว รูปนามจักแสดงอาการแตกสลายไปให้ปรากฏชัดเจน 

         6. ภยญาณ สามารถเข้าใจถึงรูปนามว่าเป็นภัย คือเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อบรรลุญาณนี้แล้ว รูปนามจะแสดงสภาวะที่น่ากลัวให้เห็นอย่างแจ่มชัด

         7. อาทีนวญาณ ญาณหยั่งรู้รูปนามเป็นอาทีนวโทษ คือรู้ว่าตราบใดที่ยังยึดติดในรูปนามขันธ์ 5 ตราบนั้นก็ย่อมเป็นทางมาของโทษภัยอีกมากมาย 

         8. นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนาม การที่จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ ไม่ปรารถนาที่จะไปเกิดในภพภูมิใดๆทั้งสิ้น 

        9. มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นญาณที่ใคร่จะหลุดพ้นไปจากรูปนาม ใคร่จะออกจากวัฏสงสารเป็นที่สุด โลกหรือภูมิ ต่างๆ แม้จะดีวิเศษสักเพียงไหนก็ไม่อยากอยู่ทั้งนั้น อยากถึงพระนิพพานอย่างเดียว  

        10. ปฏิสังขาญาณ สามารถพิจารณากำหนดไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาเข้าสู่พระนิพพาน ทั้งนี้เพราะการจะไปถึงพระนิพพานได้นั้น จะต้องพิจารณาเห็นไตรลักษณ์อย่างละเอียดละออเสียก่อน  

        11. สังขารุเปกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสำคัญ ที่จะทำให้เกิดมีปรีชากำหนดวางเฉยในรูปนาม ไม่มีความยินดียินร้ายในสังขารและอารมณ์ทั้งหมด ผู้ได้บรรลุถึงญาณนี้ จิตจะถึงสภาวะที่เรียกว่ามีความสงบเป็นอย่างยิ่ง สมาธิญาณถึงขั้นสูงสุด เพราะว่าสังขารุเปกขาญาณเป็นยอดแห่งโลกิยญาณ เพราะฉะนั้น ถ้าหากวาสนาบารมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ผู้ปฏิบัติก็จะติดขัดอยู่เพียงแค่นี้ สภาวญาณไม่ก้าวหน้าขึ้น แต่ถ้าหากมีบุญบารมีเคยสร้างสมอบรมเอาไว้ สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ และอินทรีย์ทั้ง 5 ถึงภาวะแก่กล้าเต็มที่ ก็จะก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อไป

         12. อนุโลมญาณ เป็นญาณที่จะก้าวขึ้นสู่โลกุตตรภูมิขั้นต้น และมีสภาวะแห่งอริยมรรคญาณ 

         13. โคตรภูญาณ เป็นญาณที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวเข้าสู่โลกกุตตรภูมิ หรือ เป็นญาณที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวเข้าสู่ประตูพระนิพพาน มองเห็นอายตนนิพพานได้ชัดเจน โดยประหารโคตรปุถุชนให้ขาดได้ ในขณะที่เข้าถึงโคตรภูญาณนี้ ธรรมกายโคตรภูจะปรากฏชัดใสแจ่มอยู่ในกลางกายของผู้ที่เข้าถึง หากไม่ประมาท หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางพระธรรมกายภายใน สภาวธรรมก็จะเลื่อนลำดับชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ

        14. มรรคญาณ หมายถึงได้บรรลุโลกุตตรภูมิขั้นต้น อริยมรรคบังเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นอริยมรรคหรือมรรคญาณขั้นที่หนึ่งเรียกว่า โสดาปัตติมรรค พอโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น ก็ประหารอนุสัยกิเลสที่หมักดองอยู่ในใจในเบื้องต้นได้  

        15. ผลญาณ เป็นญาณที่เสวยผลอันประเสริฐของโลกุตตรภูมิขั้นต้น เมื่อเข้าถึงก็ซาบซึ้งในรสของอมตมหานิพพาน เป็นสุขที่เกิดจากการได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นไป จนกระทั่งได้บรรลุถึงอรหัตผล นับเป็นการเสวยสุขหรือเสวยผลที่เกิดจากการบำเพ็ญวิปัสสนาที่ตนปรารถนามายาวนาน

         16. ปัจจเวกขณญาณ เป็นวิปัสสนาญาณสุดท้าย บังเกิดขึ้นเพื่ออำนวยให้ผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาดูว่า ตนละกิเลสอะไรได้บ้าง หรือหมายถึง การพิจารณาตรวจตราดูอนุสัยที่อิงแอบอาศัยอยู่ในขันธสันดาน ว่าหลุดออกจากใจได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้วหรือยัง อย่างเช่น โสดาปัตติมรรคสามารถฆ่าอนุสัยกิเลส 3 ตัว คือทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และสีลัพพตปรามาส ถ้าได้บรรลุสกทาคามิมรรค จะทำให้กามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยเบาบางลง เมื่อได้บรรลุอนาคามิมรรค มรรคญาณนั้นจะกำจัดกามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยได้อย่างเด็ดขาด เป็นพระอนาคามีบุคคล 

       ผู้เสวยสุขซึ่งเกิดจากนิโรธสมาบัติ ไม่ต้องอาศัยความสุขที่เกิดจากเบญจกามคุณอีกต่อไป และเมื่อได้บรรลุอรหัตมรรค อรหัตมรรคญาณก็จะขจัดสรรพกิเลสทั้งหลายซึ่งหมักดองอยู่ในขันธสันดานให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ทั้งอนุสัยกิเลสในรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาก็จะหลุดไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสอาสวะทั้งปวง"

        กล่าวโดยสรุปก็คือการเจริญวิปัสสนาญาณทั้ง 16 ประการนี้ เป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นการเห็นแจ้งสภาวธรรมต่าง ๆ ด้วย ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่เพียงจินตามยปัญญา

คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?

        ผู้ที่เข้าถึงชั้นโลกุตตรธรรมนี้ จัดเป็นพระอริยบุคคล อยู่สูงกว่าปุถุชนทั่วไป เพราะสามารถละกิเลสได้อย่างเด็ดขาดตามลำดับมรรค เมื่อตายไป หากเป็นพระอรหันต์ก็จะเข้าสู่นิพพานทันที แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคลชั้นอื่นๆ ก็จะวนเวียนในสุคติภูมิอีกแล้วบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เข้าสู่นิพพานเช่นเดียวกัน

        เมื่อบรรลุอรหัตตผล ก็จะสามารถขุดรากถอนโคนกิเลสในใจได้อย่างหมดสิ้น การดับตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็จะทำได้พร้อม ๆ กับการดับอวิชชา เมื่อดับอวิชชา สังขาร ได้แก่อภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น ก็ดับตาม เมื่อดับสังขาร วิญญาณ คือปฏิสนธิวิญญาณที่เป็นตัวนำไปเกิดในภพใหม่ ก็ดับลง จึงเป็นการดับนามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ ฯลฯ อุปายาสไปด้วย เกิดเป็นปฏิจจสมุปบาทสายดับ ดังที่ปรากฏในบทสวดปฏิจจสมุปปาทปาฐะครึ่งหลังนั่นเอง เป็นการตัดวงจรการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างถาวร เป็นการดับตัณหาในภพสาม ก้าวไปสู่นิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ นี้แลคือการทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา 

         การปฏิบัติธรรมให้หมดกิเลสไปสู่นิพพานนั้น ฟังดูง่ายดาย แต่ยากในการปฏิบัติจริง เพียงการทำใจให้เป็นเอกัคคตา เพื่อเข้าถึงฌานเบื้องต้นก็ยากเย็นแสนเข็ญ แม้เข้าถึงฌานแล้ว หากเกิดตัณหาในฌานนั้น ๆ อีก ก็ทำให้ยึดติด หนีพ้นจากกกามตัณหา มาติด ภวตัณหา หรือ วิภวตัณหา แทน ก็มีให้เห็นมิใช่น้อย จึงยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่ไปถึงนิโรธความดับทุกข์จริง ๆ เพราะไม่อาจละตัณหาทั้งสามที่มีต่อภพทั้งสามได้นั่นเอง 

        ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าใจคนเรานั้นคุ้นกับกิเลสเหมือนปลาคุ้นน้ำ การจะทำให้กิเลสสงบจนใจเป็นเอกัคคตา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พระพุทธเจ้าเมื่อโปรดเหล่าเวเนยยสัตว์ จึงต้องสอนการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อเป็นการฝึกหัดละกิเลสในใจ เป็นตทังคปหาน (การละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ เช่นให้ทาน เพื่อตัดความตระหนี่เป็นต้น) มีสวรรค์เป็นที่ไป สำหรับคนทั่วไปที่อินทรีย์ 5 ประการ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) ยังไม่แก่กล้า ส่วนสำหรับผู้มีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว พระองค์จึงสอนการละกิเลสเพื่อบรรลุธรรมให้ คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงมีทั้งส่วนที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ เพื่อให้ชาวโลกได้นำไปปฏิบัติตามเหมาะสมแก่อัธยาศัยของตน เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทั้งในภพนี้และภพหน้าสืบไป 

คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?ขอบคุณภาพจาก www.pinterest.com

       เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุถึงนิโรธแล้ว พระองค์จึงเห็นแจ้งในทุกสรรพสิ่ง คือทรงรู้เห็นอริยสัจ 4 ในสังขารทั้งปวง เกิดเป็นจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ทรงรู้เห็นว่านิโรธเป็นความดับทุกข์อย่างสมบูรณ์ เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิตที่ควรจะทำให้แจ้งแก่ตนเอง และทรงสามารถทำให้นิโรธอริยสัจ แจ้งชัดได้สำเร็จ เป็นอันสำเร็จเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในที่สุด

การตรัสรู้ทุกขนิโรธอริยสัจมีอธิบายดังที่กล่าวมานี้

ส่วนทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทาอริยสัจ มรรค 8 ประการ อันเป็นข้อปฏิบัตินำไปสู่ความดับทุกข์ จะขออธิบายในตอนต่อไป.

จบอธิบายนิโรธอริยสัจตอนที่ 2

จบตอนที่ 5

Cr.ปธ.ก้าวต่อไป

ปฏิจจสมุปบาท พิจารณาแบบอนุโลม และปฏิโลม

คำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.2 ทุกขนิโรธอริยสัจ: มรรค 4 ผล 4 คืออะไร ?

อ้างอิง

พระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) กัณฑ์ที่ 1: พระพุทธคุณ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ https://www.youtube.com/watch?v=nSXcJIGqTWw

วิปัสสนาญาณ 16 ประการ 

มหาสติปัฏฐานสูตร 

แชร์