เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??

เมื่อเกิดกรณีเงินทอน ๑๒ วัด กับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ต่อมา เกิดกรณีที่ องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาประสานเสียงว่า จะต้องออกกฎหมาย เพื่อให้มีการควบคุมดูแลจัดการทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ.. ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ “เงินทอน” http://winne.ws/n16412

1.7 พัน ผู้เข้าชม
เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??

เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่ ?

       ว่าจะอยู่เฉย ๆ ดูแลโลกไปตามที่มันเป็น.. ซักพัก.. เพราะช่วงนี้ เห็นว่า ไม่เหมาะในการลงทุนทางความคิด เนื่องจากปัจจุบัน ดูมันวุ่นวายไปหมด โดยเฉพาะเหตุและผลในการกระทำ /ไม่ทำ.. มันดูทะแม่ง ๆ ไปหมด..

เมื่อเกิดกรณีเงินทอน ๑๒ วัด กับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ

        คราวแรก ๆ ก็ไม่ได้สนใจมาก เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างวัดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง.. จึงเฉย ๆ เพราะผมถือว่า เรื่องความดีและความชั่ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของแต่ละคน มีและลักษณะไม่เหมือนกัน.. ใครทำอย่างไร ก็รับผลกรรมไป คนอื่นไม่เกี่ยว.. แม้ผมเอง เมื่อหันไปดูความไม่ดีของตัวเอง ก็เห็นมีหลายกระบุงโกยอยู่.. ผมก็พร้อมที่จะรับผล ถ้าจะทำหรือไม่ทำ ทั้งความดีและความชั่ว..

         แต่เมื่อเกิดกรณีที่ องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาประสานเสียงว่า จะต้องออกกฎหมาย เพื่อให้มีการควบคุมดูแลจัดการทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ.. ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ “เงินทอน” ที่เป็นข่าวของสื่อ และเครือข่ายสังคมทั้ง Facebook และ Line จึงเห็นว่า เหตุการณ์ตรรกะ (เหตุผล) วิบัติและอัปลักษณ์ ได้เกิดขึ้นอีกแล้ว..

         ลูกกำพร้าทั้งพ่อและแม่อย่างผม จึงไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว.. ขอบอกว่า คนไม่มีอะไรจะเสีย.. จึงไม่มีอะไรที่จะเสียให้ไปอีกแล้ว..

        เรื่องเงินทอน ของสำนักพุทธฯ จะไม่ขอวิจารณ์ เพราะเรื่องนี้ รวมทั้งทุกเรื่องที่เกิดในสังคม เช่น กรณีสาวที่เป็นข่าวพาดหัวกันมานานอย่างต่อเนื่อง จนข่าวหญิงไทยเป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลกหายไปจากสื่อ (บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ) ฯลฯ .. ผมขอเรียนว่า..

        ๑. เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล.. อย่าไปเหมาเข่งว่า คนสำนักพุทธฯ ทุกคนเป็นเหมือนกัน.. รู้เหมือนกัน.. ทั้งหมด ตรงนี้ ขอให้คิดให้รอบคอบ.. ก่อนที่จะพูดหรือทำ.. คนไม่รู้เรื่องเขาก็จะพลอยเสียหายไปด้วย.. (จะมีอย่างมากเพียง "เขาว่ากันว่า.., ได้ข่าวว่า.. ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ ที่ชอบรู้เรื่องคนอื่นมากกว่ารู้จักตัวเอง)

        ๒. เมื่ออยู่ในสังคมใด หมู่ใด กลุ่มใด .. ฯลฯ ถ้าช่วยให้สังคม.. หมู่ หรือกลุ่ม.. นั้น เจริญหรือดีขึ้นไม่ได้ ก็อย่าไปทำให้เขาเสีย.. อยู่เฉย ๆ ดีกว่า.. (ข้อนี้ สอนลูกศิษย์เป็นประจำ)

         ๓. เมื่อมีกรณีเงินทอน ทำไม หน่วยงานต่าง ๆ จึงโยงไปที่การจัดการดูและทรัพย์สินของวัด ในพระพุทธศาสนา แบบเหมาเข่ง ทุกวัด.. และไปตรงกับแนวคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งธงไว้มานานแล้ว.. แม้จะมาออกตัวกันเป็นแถวว่า ไม่ได้ทำตามความคิดเห็นใคร..

จึงเกิดคำถามที่ค้างคาใจว่า

        ๑. ทำไม พวกคุณไม่จัดการ “เฉพาะวัดที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐ” ละครับ.. จะมีกี่วัดก็ตรวจสอบไป.. ถ้าจะรวมทุกศาสนาก็จะดี วัดที่ไม่ได้รับงบจากรัฐ จะต้องรับกรรมไปด้วยหรือ ? (โดยเฉพาะวัดที่มีรายได้มาก ตามที่ท่านหมายตากันไว้ (ผมไม่ได้บอกนะ เช่น วัดธรรมกาย วัดปากน้ำ วัดไร่ขิง วัดหลวงพ่อโสธร วัดพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ.. เพราะวัดเหล่านี้ อยู่ในสมองเขาอยู่แล้วว่า ต้องจัดการเงินให้ได้)

       ขอให้คิดง่าย ๆ ว่า ตำรวจมีหน้าที่ดูแลความสงบสุข ของประชาชน แต่เขาสามารถค้นบ้านได้ทุกบ้านไหม ?

       ในทางเดียวกัน วัดทั่วประเทศมีเจ้าอาวาส พระเณรในวัด และไวยาวัจกร เป็นผู้ดูแล.. คุณจะเอาอำนาจอะไรไปจัดการทรัพย์สินของวัด..

        เรื่องบัญชีรับจ่าย ก็มีผู้ปรารถนาดีเหลือเกิน ที่บอกว่า พระทำบัญชีไม่เป็น ควรส่งมาฝึกที่เขา.. เขาก็ได้ค่าสอนไป.. เจตนามันบอก..

        ๒. จะอาศัยเหตุการณ์นี้ จัดการทรัพย์สินวัดในพระพุทธศาสนาทุกวัดเลยหรือ แล้วศาสนสถาน ของศาสนาอื่นล่ะ จะทำอย่างไร ?

       ๓. กรณีสำนักพุทธฯ รัฐเสียหาย ประมาณ ๖๐ ล้านบาท.. ต่างขานรับว่า จะต้องมีการออกกฎหมายดูแลทรัพย์สินวัดทัวประเทศ.. แล้วกรณีธนาคารหนึ่ง บริหารงานจนงบติดลบ สองหมื่นสี่พันกว่าล้าน..!

        ทำไม กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เข้าไปตรวจสอบหรือยุบธนาคารนั้นเสีย ? พวกที่คิดจะออกกฎหมายควบคุมทรัพย์สินวัด ไม่คิดบ้างหรือ.. หรือจะมุ่งแค่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น..!

       “เพราะงบประมาณที่คุณเอาไปช่วยเหลือธนาคารแห่งนี้ เป็นงบประมาณแผ่นดิน ที่เป็นเงินภาษีของวัดที่ฝากธนาคาร ประเภทฝากประจำไว้ (ส่วนหนึ่ง ที่วัดไม่รู้ว่าต้องเสียภาษี) และภาษีของคนพุทธทั้งประเทศ (รวมทั้งศาสนิกของศาสนาอื่น ๆ ด้วย)”

ทำไม ต้องเอาไปช่วยธนาคารนั้น ! เพียงธนาคารเดียว.. แทนที่จะยุบไปเสีย..

เรื่องมันจึงอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่ที่วัด.. !

       องค์กร/หน่วยที่คิดเรื่อง กฎหมายจัดการทรัพย์สินของวัด นั้น.. ขอให้หันกลับไปมองกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ก็จะพบว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีบัญญัติเชื่อมโยงไว้แล้วว่า

       “วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล คือ เหมือนกับบริษัทแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงาน”

      เพียงแค่นี้ รวมกับกฎมหาเถรสมาคมที่ออกมา ก็สามารถจัดการได้แล้ว.. และพระก็ทำอยู่กันเกือบทุกวัด.. ที่มีข่าวว่าน้อยนั้นเป็นความเข้าใจผิด.. ตามเรื่องที่ชงให้ผู้ใหญ่มากกว่า..

       - เจ้าอาวาสหรือไวยาวัจกรวัดใด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ แค่นี้ ก็ติดคุก และชดใช้กันบานแล้ว

       - กรณี เจ้าอาวาสข้างต้น ถ้าผิด ก็ต้องโทษทางคณะสงฆ์ด้วย เช่น ปลดจากตำแหน่ง มีโทษทั้งทางพระวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์

       จะดูถูกพระกันมากเกินไปแล้ว.. ถึงกับต้องมีกฎหมายจัดการทรัพย์สินวัดทั่วประเทศ.. เพียงศาสนาเดียว.. จะทำอะไร ก็ให้มันทั่วฟ้าหน่อย.. และกรุณาไปทบทวนว่า ท่านใช้สิทธิ์ใด ที่จะออกกฎหมายนี้ .. ถ้าอ้างเรื่องเงินทอน.. ก็จะเป็นไปตามที่ผมบอกว่า “ตรรกะวิบัติ/อัปลักษณ์”

       แต่ ณ เวลานี้ กรุณาอย่าเอาตรรกะวิบัติ/อัปลักษณ์ มาเป็นเหตุในการออกกฎหมาย เพื่อจัดการทรัพย์สินของวัด เลยครับ.. จะออก ก็ให้เหตุผลกันให้ถูก.. สังคมจะได้ไม่สับสน.. ชาวพุทธจะได้สบายใจ.. กิจการพระพุทธศาสนาจะได้เดินหน้าต่อไป..

       แค่เรื่องพระพุทธศาสนาโดนตีท้ายครัว ถูกแย่งชาวพุทธไปอย่างหน้าตาเฉย ด้วยเหตุทางกฎหมายและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้.. พระสงฆ์และชาวพุทธแท้ๆ เขาก็ส่ายหัวกันมาก.. ก็พอแล้ว

--------------------------
โพสต์เก่าที่เกี่ยวข้อง.. (บางส่วน)
--------------------------

เมื่อมีการประกาศใช้ รธน. ๖๐ มาตรา ๖๗ ทำให้เกิดความวิตกไป ในวงการพระพุทธศาสนาว่า ..

มาอีกแล้ว.. กฎหมายคุมพระ..

ประเด็นสำคัญ มี ๒ เรื่อง คือ

        ๑. ทำนุบำรุงพระพุทะศาสนานิกายเถรวาท.. พอจะทราบโดยทั่วไปว่า แล้วนิกายอื่นจะทำอย่างไร ? คือ มหายาน ในประเทศไทย ที่มี ๒ นิกายใหญ่ๆ คือ จีนนิกาย และอนัมนิกาย (รามัญหรือญวนนิกาย)

ที่แฝงด้วยความวิตกกังวลว่า จะออกกฎคบคุมวัดและพระคือ ประเด็นที่ ๒ คือ..

        ๒. ต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลาย พระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

       มองดูคลายเจตนาดี.. แต่จะประสงค์อย่างไร คงไม่วิจารณ์ ..!

       จะกล่าวถึงวิธีแก้ไขก็แล้วกัน..

       ขอเรียนว่า..วัดในประเทศไทย.. ยังใช้กฎหมายไม่เป็น.. โดยเฉพาะทรัพย์สินของวัด..

       บางวัด เจ้าอาวาสมีบารมีสูง และรู้กฎหมาย ก็จะควบคุมการดำเนินการของวัดได้..

        แต่หลายวัดที่ต้อง “ทนทุกข์” กับคณะกรรมการวัด ที่ไม่ทราบว่า “ใช้อำนาจอะไร” ในการเข้ามาดูแลการเงินของวัด.. ถึงกับบางวัด บัญชีวัดอยู่ที่กรรมการวัด เจ้าอาวาสไม่ได้รับรู้.. หรือรู้เพียงแต่ตัวเลข.. จะเบิกอะไร เพื่อทำกิจกรรม /ซ่อมแซมวัด .. ก็ไม่สะดวก.. เพราะกรรมการไม่เห็นด้วย.. จึงเป็นที่มาของเพลง “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง”

       จะกราบนมัสการไว้ว่า ใน พรบ. คณะสงฆ์ มี ๒ ตำแหน่งที่เป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย คือ เจ้าอาวาส และไวยาวัจกร และหากทำผิดตามมาตรา ๑๕๗ ที่ชอบกล่าวถึงกัน คือ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูก หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่.. ก็จะมีสิทธิ์ติดคุกได้.. (ขอให้ศึกษากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร.. ศึกษาให้ดี..

        “กรรมการวัด ที่ไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นไวยาวัจกร ไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ในการเงินของวัด..”

ปัจจุบัน กรรมการวัดที่เก็บเงิน เปิดบัญชีธนาคาร แม้จะในนามของวัด.. ก็ยังไม่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม..

        เพราะเจ้าอาวาส ต้องแต่ตั้งให้เป็นไวยาวัจกร เพื่อดึงให้เขาเข้ามาอยู่ในข้อกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายของคณะสงฆ์.. นี่แหละคือ ประเด็นที่ขอนำเสนอ.. เพื่อให้ถูกต้อง.. ไม่ให้มี “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” ตามที่เพลงเอามาร้องกัน..

         ไวยาวัจกร ไม่ได้กำหนดว่า จะต้องตั้งกี่คน.. ตั้งแค่ดูแลการเงิน ๒ - ๓ คน ก็พอ.. ส่วนกรรมการวัดมีหน้าที่ช่วยงานของวัด เจ้าอาวาสจะแต่งตั้ง เพื่อให้เกียรติเขาก็ได้ แต่เมื่อเขาทำผิด เขาอาจไม่ต้องรับโทษ.. แต่เจ้าอาวาสรับไปเต็ม ๆ.. มาตรา ๑๕๗

         แล้วไปเปิด /แก้ไขบัญชีเงินวัด ให้เจ้าอาวาสและไวยาวัจกร .. กำหนดให้ ๒ ใน ๓ เป็นผู้มีอำนาจสั่งเบิก.. โดยเฉพาะต้องมีเจ้าอาวาสลงนามเบิกด้วยทุกครั้ง… อีกคนแล้วแต่จะเอาไวยาวัจกรคนใด เป็นคนเซ็นเบิกร่วมก็ได้..

        แค่นี้ บัญชีวัดจะต้องกลับมาให้เจ้าอาวาส ได้ดูตลอดเวลาที่เบิก.. จะพัฒนาวัด ก็สะดวก..

        หากเบิก โดยไม่มีเจ้าอาวาสลงนามด้วย ก็ไม่สามารถเบิกได้.. ถ้าเบิกได้ ก็จะต้องผิดตาม พรบ. คณะสงฆ์ และมาตรา ๑๕๗ จึงแจ้งความจับได้.. อาจได้ของแถมเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ที่สมรู้ร่วมคิด ติดร่างแห ไปด้วยก็ได้..

        ส่วนการตรวจสอบตามข้อ ๒ ขอเสนอแนวทางให้เจ้าคณะจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กิจการการเงิน และผลงานของวัด โดยมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน เจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด (ที่ปกครองวัดนั้น ๆ) และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ตรวจสอบ ด้วย ในเวลา ๓ หรือ ๖ เดือน หรือ ๑ ปี ต่อครั้ง ตรวจเสร็จแล้ว ก็รายงานไปที่สำนักพุทธฯ จะตั้งกรรมการตรวจสอบกี่รูป/คน ก็ไม่มีปัญหา..

        เพียงเท่านี้ คณะสงฆ์สามารถทำได้ โดยไม่ต้องให้ฝ่ายบ้านเมือง เข้ามายุ่มย่ามจนเกินไป.. จนอาจกลายเป็นล้วงย่ามพระ หรือยกไปทั้งย่าม.. เข้ารัฐ..

ทุกจังหวัดทำอย่างนี้ ก็ไม่มีช่องว่าง ให้โจรมาขโมยของวัดไปได้..

ทำเถอะครับ.. จะได้ไม่เสียเปรียบ กับพวกที่เอาเปรียบพระ.. ไม่ใช่เรื่องยาก..

ถ้าวันนี้ทำถูก ก็ไม่ต้องวิตกผลที่จะเกิด..

เครติด.. ตามที่แสดงในภาพ

เรียบเรียงโดย : พิศาฬเมธ แช่มโสภา ป.ธ.๙

ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1745480899085059&id=100008694968507

เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??
เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??
เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??
เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??
เงินทอน.. ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัด : ตรรกะวิบัติ/เหตุผลอัปลักษณ์ ใช่หรือไม่??
แชร์