กรมสุขภาพจิตเผย! ความเชื่อเลี้ยงลูกผิด ๆ ของพ่อแม่..เป็นการขัดขวางการพัฒนาไอคิว-อีคิวเด็ก

เร่งสร้างศักยภาพให้เด็กไทย มีความฉลาดทั้งเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว (IQ) ที่ดี ควบคู่กับการมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (EQ) ที่ดีด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ประสบผลสำเร็จมีชีวิตที่เป็นสุข http://winne.ws/n16455

1.0 พัน ผู้เข้าชม
กรมสุขภาพจิตเผย! ความเชื่อเลี้ยงลูกผิด ๆ ของพ่อแม่..เป็นการขัดขวางการพัฒนาไอคิว-อีคิวเด็กแหล่งภาพจาก nassarun2540.blogspot.com

กรมสุขภาพจิต เผยความเชื่อเลี้ยงลูกผิด ๆ ของพ่อแม่ เป็นการขัดขวางการพัฒนาไอคิว-อีคิวเด็ก

       นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตเร่งกระตุ้น ให้พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันลดลง จากเดิมเฉลี่ยวันละ 2,217 คน ในปี 2548 เหลือวันละ 1,861 คน ในปี 2558 จึงต้องเร่งสร้างศักยภาพให้เด็กไทย มีความฉลาดทั้งเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว (IQ) ที่ดี ควบคู่กับการมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (EQ) ที่ดีด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ประสบผลสำเร็จมีชีวิตที่เป็นสุข 

       ไอคิวเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นตัวทํานายความสามารถการเรียนรู้ การจํา การคิด ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและการสื่อสาร ส่วนอีคิวเป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ตนเอง เข้าใจตนเองและผู้อื่น ควบคุมและแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งทั้ง 2 คิวนี้ สามารถกระตุ้นและพัฒนาให้ดีขึ้นจากการเลี้ยงดู เริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ จนถึงเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอายุ 18 ปี หากเด็กได้รับเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง จะเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ใช้ความสามารถทางสติปัญญาตนเองได้อย่างเต็มที่

      ไอคิวและอีคิวมีบทบาทส่งเสริมการทํากิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน คนที่มีไอคิวสูงอย่างเดียวอาจไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร หากมีไอคิวธรรมดาแต่มีอีคิวสูงทําให้ประสบความสําเร็จ หรือ หากมีไอคิวและอีคิวสูงทั้งคู่ก็ยิ่งประสบความสําเร็จมาก การมีอีคิวสูงจะช่วยให้การเรียนรู้ในการดําเนินชีวิตดีขึ้น ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบว่าเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 มีไอคิวเฉลี่ย 98.23 จุด ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่กำหนดเฉลี่ย 100 จุด ส่วนอีคิวพบว่าร้อยละ 77 อยู่เกณฑ์ปกติ มีกลุ่มที่มีอีคิวต่ำ ต้องพัฒนาร้อยละ 23 กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าภายในพ.ศ. 2564 จะเพิ่มระดับไอคิวของเด็กเฉลี่ยให้ได้ 100 จุด และมีอีคิวระดับปกติไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 

กรมสุขภาพจิตเผย! ความเชื่อเลี้ยงลูกผิด ๆ ของพ่อแม่..เป็นการขัดขวางการพัฒนาไอคิว-อีคิวเด็กแหล่งภาพจาก google

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กไทยยังมีไอคิวและอีคิวไม่เต็มศักยภาพ 

       ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อผิด ๆ ในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมอื่น ๆ เช่นเชื่อว่าการรักลูกคือการเลี้ยงดูให้ลูกสุขสบาย พ่อแม่ทําทุกอย่างแทนลูก เชื่อว่าเด็กเล็กยังไม่จําเป็นต้องสอนอะไรมาก โตขึ้นเด็กจะเรียนรู้และคิดอะไรได้ด้วยตนเอง จึงมักปล่อยปละละเลยไม่จัดการอะไร เมื่อลูกทำสิ่งไม่ถูกต้อง หรือเชื่อว่าการให้ของทุกอย่างที่ลูกต้องการ คือการแสดงว่าพ่อแม่รัก หรือเชื่อว่าคนที่เก่งและประสบความสําเร็จในชีวิต คือคนที่เรียนดี จึงมุ่งให้ลูกเรียนอย่างเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ 

      ความเชื่อเหล่านี้จะทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับการพัฒนา ทำให้เด็กปรับตัวได้ยาก ไม่รู้จักการเป็นผู้ให้ เมื่อพบความผิดหวังในการเรียนหรือทำงาน จะไม่สามารถปรับตัวได้ โดยความรักที่ถูกต้องของพ่อแม่คือการเลี้ยงดูให้ลูกช่วยเหลือตนเองและพึ่งพิงตนเองได้ จะทําให้เด็กเป็นอิสระมีความภาคภูมิใจตนเอง และเข้าใจคนอื่น เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างสุขสบาย จะขาดความอดทน ขาดความเข้าใจเห็นใจคนที่ยากลำบาก ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น

      ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า วิธีการเลี้ยงลูกอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีไอคิวเต็มศักยภาพ พ่อแม่ต้องใช้วิธีฝึกดังนี้ 

      1. ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต เช่นฝึกให้จำแนกความเหมือนความต่างของสิ่งของต่าง ๆ การสังเกตจะช่วยดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กออกมาให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้แก้ปัญหาหรือการหาทางเลือกที่เหมาะสม 
      2. ฝึกให้เด็กถ่ายทอดจินตนาการความรู้สึกนึกคิดออกมา ให้เด็กเกิดทักษะการใช้ภาษาสื่อสารที่ถูกต้อง 
      3. ฝึกให้เด็กคิดเชื่อมโยงเหตุผลความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆหรือสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆตัว 
       4. ฝึกการทำงานประสานกันของประสาทสัมผัสระหว่างมือและตา ซึ่งมีความสำคัญในการแสดงความสามารถทางสติปัญญาในการเรียนรู้ การคิด และการใช้เหตุผลแก้ปัญหา

การพัฒนาอีคิว มีดังนี้

       1. ต้องฝึกให้เด็กรู้จักอารมณ์ตัวเองและการควบคุมอารมณ์ เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันและไม่เก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ จะช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีเมื่อโตขึ้น รวมทั้งฝึกการควบคุมการเอาชนะความอยาก เช่น อดใจไม่รับประทานอาหารที่ทําให้เสียสุขภาพ 
       2. ฝึกให้เรียนรู้ระเบียบวินัยง่าย ๆในชีวิตประจำวัน ให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด การยอมรับผิด พ่อแม่ควรพูดคุยเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในชีวิตประจําวันกับเด็กทุกวัน อาจนำสุภาษิตคําพังเพยในอดีตมาใช้ก็ได้ เด็กจะค่อยๆซึมซับคำสอนเหล่านั้น 
       3. ฝึกให้เด็กได้เล่นตามวัยไม่ว่าจะเล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อน เด็กจะสนุกสนาน มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ดี

กรมสุขภาพจิตเผย! ความเชื่อเลี้ยงลูกผิด ๆ ของพ่อแม่..เป็นการขัดขวางการพัฒนาไอคิว-อีคิวเด็กแหล่งภาพจาก สสส.

เด็กโต การฝึกทั้งไอคิวและอีคิวในเด็กโตจนถึงวัยรุ่น 

       ขอให้พ่อแม่ใช้หลัก 4 ฉลาด คือ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดใจ และฉลาดสัมพันธ์ โดยฉลาดคิด ฝึกให้เด็กรู้จักการคิดหลากหลายวิธีและเห็นผลที่ตามมา ฉลาดทำพ่อแม่ต้องมอบหมายงานให้เด็กรับผิดชอบเช่นทำงานบ้าน เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนทำงานให้สำเร็จ ซึ่งเป็นการสร้างความขยัน พากเพียร มีวินัยควบคุมตนเองและเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ฉลาดใจโดยการโอบกอดลูก เด็กจะมีพลังใจ เข้าใจและรู้วิธีดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มีคุณธรรมมองโลกในแง่ดี ส่วนฉลาดสัมพันธ์โดยผ่านกระบวนการเล่น 

      ทั้งเล่นกับเพื่อนหรือพ่อแม่เล่นกับลูก เพื่อให้เด็กรู้กติกา ได้รับความสนุกสนาน จิตใจร่าเริงแจ่มใส เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แบ่งปันช่วยเหลือ เข้าใจและรู้วิธีดูแลอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งนี้ขอให้พ่อแม่ทุกคนพึงตระหนักว่าลูกไม้ย้อมหล่นไม่ไกลต้น นั่นคือพ่อแม่คือบุคคลสําคัญที่ลูกจะลอกเลียนแบบ ทั้งการพูดการกระทําของพ่อแม่ จะเป็นตัวถ่ายทอดความคิดและค่านิยมแทบทุกเรื่องลงสู่ลูกโดยไม่รู้ตัว

ที่มาภาพ : กรมสุขภาพจิต

อ่านเพิ่มได้ที่: http://news.voicetv.co.th/thailand/499762.html

แชร์