รอยเตอร์เผย!รัฐบาลไทยจ่อซื้อ ‘ซอฟต์แวร์แกะรอย’ ชาวเน็ต

รอยเตอร์เผยไทยเตรียมจ่ายกว่า 120 ล้านบาท ซื้อซอฟต์แวร์แกะรอยผู้ใช้สื่อโซเชียลนับล้าน พร้อมออกกฎหมายฉบับใหม่ เปิดทางดักข้อมูลทางมือถือได้ ไม่ต้องขออำนาจศาล http://winne.ws/n16612

839 ผู้เข้าชม
รอยเตอร์เผย!รัฐบาลไทยจ่อซื้อ ‘ซอฟต์แวร์แกะรอย’ ชาวเน็ต

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน ว่า กระทรวงดิจิทัลของไทยกำลังจะใช้เงินกว่า 128 ล้านบาท ซื้อซอฟต์แวร์ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อจับตาและแกะรอยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของผู้ใช้จำนวนกว่า 1 ล้านราย

“ซอฟต์แวร์ชนิดนี้จะกราดตรวจและเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมดบนโซเชียลมีเดียเพื่อวิเคราะห์และเฝ้าจับตา” นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการดิจิทัล เปิดเผยกับรอยเตอร์ และว่า รัฐบาลไทยกำลังจะเปิดประมูลเพื่อพิจารณาข้อเสนอขายซอฟต์แวร์ดังกล่าว

รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเสริมสร้างขีดความสามารถในการแกะรอยเครือข่ายสังคมออนไลน์ และออกกฎหมายเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการสอดส่องการสื่อสารส่วนบุคคล

รอยเตอร์เผย!รัฐบาลไทยจ่อซื้อ ‘ซอฟต์แวร์แกะรอย’ ชาวเน็ต

รายงานของเฟซบุ๊กระบุว่า ในปีนี้ รัฐบาลไทยมีคำขอไปยังเฟซบุ๊กแล้วราว 300 ครั้ง เพื่อให้ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาราว 300 โพสต์ในประเทศไทย นับว่าปริมาณคำขอได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาจากกลางปี 2557 จนถึงสิ้นปี 2559 ซึ่งมีรวมกัน 80 คำขอ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ คาดว่าจะผ่านสภาในปีนี้ แม้ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจวิตกว่าเป็นการให้อำนาจรัฐบาลในการสอดแนมประชาชน

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะล้วงลึกข้อมูลผู้ใช้ยิ่งกว่ากฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งแก้ไขเมื่อเร็วๆนี้

“กฎหมายฉบับนี้มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ เปิดทางให้รัฐเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่ต้องสงสัย” ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทจี-เอเบิล ซึ่งให้บริการแก่ภาคธุรกิจ กล่าว

รอยเตอร์เผย!รัฐบาลไทยจ่อซื้อ ‘ซอฟต์แวร์แกะรอย’ ชาวเน็ต

รอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ มีหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนให้ความร่วมมือในการสอบสวนสืบสวนคดีความมั่นคงทางไซเบอร์

บทบัญญัติสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อสอบถามข้อมูลหรือส่งมอบข้อมูล และยังมีอำนาจดักจับการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ได้เมื่อเกิด “กรณีฉุกเฉิน” โดยไม่ต้องขออำนาจศาล

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายกับรอยเตอร์ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องป้องกันอาชญากรรม และปฏิเสธว่า การซื้อซอฟต์แวร์และออกกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์นั้น ไม่ใช่การสอดแนมประชาชน “ไม่ใช่การละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่เป็นการคุ้มครองเครือข่าย”

อย่างไรก็ตาม พลตรี ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ซึ่งเฝ้าตรวจจับเนื้อหาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์บนอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการเอาผิดผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คนที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายไม่ต้องกลัวอะไร

“ไม่มีอะไรน่ากลัวถ้าคุณไม่ได้ทำผิด” พล.ต.ฤทธีกล่าวกับสำนักข่าวของอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ 

http://uk.mobile.reuters.com/article/idUKKBN19A12P


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

http://news.voicetv.co.th/thailand/500233

แชร์