ถอดบทเรียน'แกรนด์เฟล' สู่ 10 มาตรการรับมือไฟไหม้อาคารสูง

วิธีป้องกันและปฏิบัติเมื่อเกิดไฟไหม้ http://winne.ws/n16651

1.2 พัน ผู้เข้าชม
ถอดบทเรียน'แกรนด์เฟล' สู่ 10 มาตรการรับมือไฟไหม้อาคารสูงthaitribune.org/contents/detail/336?content_id=28358&rand=1498340719

จากเหตุการไฟไหม้ที่อาคารแกรนด์เฟล ทาวเวอร์ สูง 24 ชั้น ทางตะวันตกของ กรุงลอนดอน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณกระตุ้นให้หน่วยงานทั่วโลกหันกลับมาตรวจสอบ"มาตรการความปลอดภัย" อาคารสูงภายในเมืองใหญ่ ต่อระบบป้องกันไฟและแผนอพยพว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ ?!?!

ไม่เว้นแต่กรุงเทพมหานคร(กทม.) หน่วยงานหลักมีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของประชาชนในอาคารสูง ตามภาระหน้าที่"บังคับใช้กฎหมาย" ต่อการสร้างอาคาร และระบบดูแลความปลอดภัยในแต่ละอาคาร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอาคารสูงเป็นจำนวนหลายพันแห่ง ทั้งที่เป็นอาคารเก่าและอาคารใหม่ รวมถึงอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งอาคารสูงบางส่วนมีการต่อเติม ดัดแปลง หรือก่อสร้างผิดแบบจากที่ได้ยื่นขออนุญาตจากกทม. จึง"สุ่มเสี่ยง" ต่อเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่ไฟไหม้ อาคารทรุดตัวได้ทุกเมื่อ

สำหรับ"คำนิยาม" อาคารสูงตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นอาคารที่สูงเกินกว่า 23 เมตร หรือ 8 ชั้นขึ้นไปโดยในกรุงเทพฯมีทั้งอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 และหลังปี 2535 รวม 2,810 อาคาร โดยเหตุไฟไหม้แกรนด์เฟล ทาวเวอร์ กทม.ได้รับ"สัญญาณเตือน" ให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจความปลอดภัยของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯให้เข้มข้นกว่าเดิม โดยเฉพาะแผนความปลอดภัยของอาคารว่า ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2535 หรือไม่ ตั้งแต่ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ระบบน้ำรองรับกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ป้ายบอกทางหนีไฟ ถังดับเพลิงขนาดเล็กต้องติดตั้งทุกชั้น  

ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอาคารสูง 2,810 อาคาร แบ่งเป็น อาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,033 อาคาร และอาคารที่ปลูกสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,777 อาคาร ซึ่งที่ผ่านมา 50 สำนักงานเขต ได้ลงพื้นที่"ตรวจสอบ" อาคารและระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารภายในพื้นที่เขต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง เพื่อส่งรายงานให้กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาทุกปี รวมถึงสำนักงานเขต สำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกตรวจการประจำปี หากพบข้อบกพร่องแต่ไม่ขัดกับกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย แต่หากพบ"ข้อบกพร่อง" และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานเขตพื้นที่จะออกคำสั่งให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน 

ที่สำคัญ กทม.ได้กำหนด "10 มาตรการ" ป้องกันและดูแลตัวเองหากเกิดเพลิงไหม้ โดยจะขอความร่วมมือให้อาคารสูงทุกแห่งติดป้าย 10 มาตรการดังกล่าว รวมถึงอาคารขนาดใหญ่อื่นๆประกอบด้วย 1.สอบถามความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ 2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉิน 3.เรียนรู้และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู วางกุญแจและไฟฉายที่เตียงนอน 4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ 5.หนีลงจากอาคารทันที เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณไหไหม้ 6.หนีออกมาแล้วปิดประตูห้องทันที ถ้าไฟไหม้ในห้องพักของท่าน แจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารโดยเร็ว 7..หนีออกจากห้อง โดยวางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ค่อยๆเปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด 8.หากประตูมีความร้อนอย่าเปิดประตู9.คลานให้ต่ำ หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ 10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้

ถอดบทเรียน'แกรนด์เฟล' สู่ 10 มาตรการรับมือไฟไหม้อาคารสูงLiekr.com

ขณะที่มาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารสูงก่อนประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 จะพิจารณาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ต้องมีรายละเอียดหลัก 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยกำหนดให้อาคารสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ เพิ่มจากบันไดหลักภายในอาคาร เพื่อให้สามารถลำเลียงคนทั้งหมดออกมานอกอาคารได้ภายใน1 ชั่วโมง 

2.ติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคารแต่ละชั้นหน้าลิฟท์ทุกแห่ง และบริเวณห้องโถงทุกชั้นของอาคารให้เห็นชัดเจน โดยแสดงตำแหน่งห้องต่างๆ ทุกห้อง รวมถึงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ประตูหรือทางหนีไฟของชั้นนั้นๆ อีกทั้งบริเวณชั้นล่างของอาคารต้องจัดให้มีแบบแปลนแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บรักษาไว้เพื่อการตรวจสอบโดยสะดวก  

3.ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่กำหนด โดยให้มี 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง 

4.ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ทุกชั้น ได้แก่ อุปกรณ์ส่งสัญญาณที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนอยู่ในอาคารได้ยินชัดเจน และอุปกรณ์แจ้งเตือนทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุด้วยมือ 

5.ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรองและป้ายบอกทางหนีไฟ เพื่อให้มีแสงสว่าง สามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเกิดไฟไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟบริเวณด้านในและด้านนอกประตูหนีไฟทุกชั้น 

6.ติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ได้แก่ เสาล่อฟ้า สายล่อฟ้า สายตัวนำ สายนำลงดิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

ส่วนมาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารสูงหลังประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 "ระบบความปลอดภัย" ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งสามารถจัดแบ่งเป็น 4 ระบบ ประกอบด้วย

1.ระบบป้องกันภัย เช่น ใช้วัสดุทนไฟในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร 

2.ระบบเตือนภัย เช่น ต้องมีสัญญาณเตือนภัย มี Smoke detector หรือเครื่องตรวจจับควันและเครื่องตรวจจับเปลวไฟ ฯลฯ 

3.ระบบระงับภัย เช่น ต้องมีระบบสปริงเกิ้ล (sprinkle system) ปั๊มน้ำ เครื่องปั่นไฟ ถังดับเพลิง สายน้ำดับเพลิง ฯลฯ และ 

4.ระบบหนีไฟ เช่น ต้องมีป้ายสะท้อนแสงบอกทางหนีไฟ มีไฟส่องสว่างฉุกเฉิน ประตูหนีไฟต้องไม่มีสิ่งของวางเกะกะกีดขวาง มีบันไดหนีไฟ รวมทั้งต้องมีการซ้อมหนีไฟ การจัดทำผังการทำงานและช่วยเหลือผู้ที่อยู่ภายในอาคาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งตามกฎกระทรวง ได้กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2555 ประกอบด้วย

1.สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มี"แผนป้องกัน"และระงับอัคคีภัย ประกอบด้วย การตรวจตรา การอบรม การณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ และการบรรเทาทุกข์ เพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัยที่มีมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างได้รับความปลอดภัยจากการทำงาน 

2.อาคารที่มีสถานประกอบกิจการหลายแห่งตั้งอยู่รวมกัน ให้นายจ้างทุกรายของสถานประกอบกิจการในอาคารนั้น มีหน้าที่ร่วมกันในการจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย 

3.ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคนฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อม"อพยพหนีไฟ" พร้อมกันอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง ซึ่งก่อนการฝึกซ้อมไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึนายจ้างจะต้องส่งแผนการฝึกซ้อมและดับเพลิงและอพยพหนีไฟ รวมทั้งรายละเอียดการฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อม นายจ้างต้องจัดทำรายงานผลการฝึกซ้อมยื่นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย  

4.หากสถานประกอบกิจการ มีจำนวนลูกจ้างไม่ถึง 10 คน ไม่จำเป็นต้องดำเนินการจัดฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ แต่หากอาคารดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการหลายแห่งตั้งอยู่รวมกัน สถานประกอบการทุกรายมีหน้าที่ร่วมกันในการจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งจัดทำแผนป้องกันฯ แม้จำนวนลูกจ้างของสถานประกอบการแต่ละรายจะมีจำนวนไม่ถึง 10 คนก็ตาม

"อัศวิน ขวัญเมือง" ผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า ได้กำชับให้สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดในการตรวจสอบอาคารต่างๆ รวมถึง"อาคารสูง" ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 กำหนดไว้ว่า เป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือสูงประมาณ 8 ชั้น และอาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯโดยให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบแจ้งเตือน และระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารให้สามารถใช้งานได้อย่างครบถ้วน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณีเพลิงไหม้ตึกแกรนด์เฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ทั้งหมดจึงเป็นมาตรการ"ขันน็อต" มาตรฐานความปลอดภัยและแผนป้องกันไฟไหม้ของอาคารสูงทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นอีก"ภัยใกล้ตัว" ที่ประชาชนต้องเรียนรู้และฝึกการเอาตัวรอด เพื่อเฝ้าระวังเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นได้ทุกนาที

ขอบคุณที่มา : www. thaitribune.org/contents/detail/336?content_id=28358&rand=1498340719

แชร์