ไขมันในเลือดสูง แม้ผอมหุ่นเพรียว .. ทำไม ?? อันตรายมั้ย?

สรุปเรื่องไขมันในร่างกาย http://winne.ws/n16717

1.4 พัน ผู้เข้าชม
ไขมันในเลือดสูง แม้ผอมหุ่นเพรียว .. ทำไม ?? อันตรายมั้ย?

คงมีหลายคนที่รูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอม แต่เมื่อตรวจร่างกายพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ทำให้สงสัยว่า ตรวจผิดหรือเปล่า มันไม่น่าเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนอยากเรียนว่า คนที่รูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอมก็มีไขมันในเลือดสูงได้ … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ??? 

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า การที่เราบอกว่าคนๆหนึ่งมีรูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอมนั้น เรามองจากรูปลักษณ์ภายนอก และประเมินด้วยสายตาว่าคนๆนั้นมีไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังในส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มาก แต่ไขมันในเลือดเป็นส่วนของไขมันที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด เป็นคนละส่วนกับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ฉะนั้นคนอ้วนจึงไม่จำเป็นต้องมีไขมันในเลือดสูงเสมอไป และ คนผอมก็อาจจะมีไขมันในเลือดสูง ได้ 

ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง 

ไขมันเหล่านี้มาจากไหนไขมันในร่างกายมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากอาหารที่บริโภคและ จากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ไขมันจะถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน นำไปสร้างฮอร์โมน นำไปสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมัน และ ใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเนื้อเยื่อของเซลล์ 

ไขมันในเลือด อยู่ในรูปไลโปโปรตีน คือ เป็นสารประกอบของไขมันและโปรตีน ซึ่งไลโปโปรตีนที่อยู่ในเลือดสามารถผสมเข้ากันกับส่วนประกอบต่างๆของเลือดได้ ส่วนของไขมันไลโปโปรตีนมีทั้งที่เป็น โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟลิปิด และ กรดไขมันอิสระ ไขมันแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างๆกัน คือ โคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ และได้รับจากอาหารที่รับประทาน ไขมันชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปสร้างน้ำดี เพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมันและใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้และได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง หรืออาหารที่มีรสหวาน ไขมันชนิดนี้เป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ใช้ ฟอสโฟลิปิดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่วนกรดไขมันอิสระเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย 

ไลโปโปรตีนแบ่งตามความหนาแน่นของโมเลกุลได้เป็นหลายชนิด แต่ที่เรารู้จักกันดี คือ

  • แอลดีแอล (Low density lipoprotein – LDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่มีโคเลสเตอรอลประกอบอยู่ถึง 60% ไลโปโปรตีนชนิดนี้จึงมีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอลไปยังเซลล์ที่ต้องการใช้โคเลสเตอรอล แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีโรคเบาหวานหรือมีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น
  • วีแอลดีแอล (Very low density lipoprotein – VLDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 45-60% จึงมีหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ไปเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเอมซัยม์ LPL จะสลาย ไตรกลีเซอไรด์ใน VLDL ให้เป็นกรดไขมันอิสระที่พร้อมจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ภาวะ VLDL ในเลือดสูงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน
  • เอชดีแอล (High density lipoprotein – HDL) เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย มีหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือที่เนื้อเยื่ออื่นๆไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง การออกกำลังกายทำให้ค่า HDL ในเลือดเพิ่มมากขึ้นได้

จะเห็นได้ว่าร่างกายมีทั้งกระบวนการสร้างและย่อยสลายไขมัน ตลอดจนกระบวนการนำไขมันที่สะสมในบริเวณที่ไม่สมควรกลับเข้าสู่ตับ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันภาวะไขมันในเลือดสูงจัดเป็นหนึ่งภาวะของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome ซึ่งประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ภาวะไขมันในเลือดสูง) ฉะนั้นคนอ้วน (สตรีที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ80 เซนตเมตร และผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกวาหรือ เท่ากับ 90เซนติเมตร) ก็น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดกลไกการเผาผลาญน้ำตาลที่ผิดปกติมากกว่าไขมันที่กระจายอยู่บริเวณอื่นในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น และเมื่อเป็นโรคเบาหวานก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย 

ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง เกิดจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หรือที่เห็นเป็นชั้นหนา ๆของไขมันบริเวณหน้าท้องนั่นเอง ไขมันชั้นนี้ไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากนัก เพราะเป็นไขมันที่สามารถกำจัดได้ง่ายกว่าไขมันในส่วนอื่น 

ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ก็เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนังเช่นกัน เกิดจากการสะสมตัวของสารอาหารประเภทไขมันในอาหารที่ร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานไม่หมด ทำให้ไปเกาะอยู่ตามบริเวณระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องในลักษณะแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่าง ๆ ฉะนั้นเมื่อมองจากภายนอกแล้วเห็นเป็นหน้าท้องยื่นออกมา แต่ถ้าหากลองอัลตร้าซาวด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงไขมันสีเหลือง ไขมันในช่องท้องเป็นไขมันที่อันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันบริเวณอื่นของร่างกาย เพราะไขมันชนิดนี้จะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ สามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ดังเช่นการไปสะสมที่ตับจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น นอกจากนี้ไขมันในช่องท้อง ยังเผาผลาญออกให้หมดยากกว่าไขมันในบริเวณอื่นด้วย ผลเสียที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือกรดไขมันอิสระในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้นจะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง 

จากชนิดต่างๆของไขมันจะเห็นได้ว่า การที่จะบอกว่าคนๆหนึ่งผอมหรืออ้วน ประเมินจากการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง แต่การจะบอกว่าคนๆหนึ่งมีไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น ไม่สามารถประเมินด้วยตาเปล่า ต้องรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่ 

นั่นคือ คนผอม หุ่นดีก็มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน 

ขอบคุณู้ค้นคว้าเรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล) ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาลดไขมันในเลือดได้จากบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง

ยาลดไขมันในเลือด

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.anamai.moph.go.th/occmed/hburee/lipidguideline.html access 26/04/20162.
  2. บทความจาก website สสส เรื่อง ไขมันช่องท้อง อันตรายอย่างไร access 26/04/2016
  3. บทความจาก website สสส เรื่อง ความรู้เรื่องไขมันในร่างกาย access 26/04/2016

ไขมันในเลือดสูง แม้ผอมหุ่นเพรียว .. ทำไม ?? อันตรายมั้ย?

สรุปข้อมูล

  สิ่งที่ต้องเคลียร์กันก่อนเป็นอย่างแรกคือ คำว่า “ไขมัน” ซึ่งในภาษาอังกฤษมีคำที่ใช้ต่างกันและทำให้ไม่สับสน คือ fat ที่หมายถึงไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังหรือหุ้มห่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ที่เป็นก้อนสีขาวๆ เหลืองๆ เช่น มันหมู นั่นแหละค่ะ ส่วนอีกคำหนึ่งคือ คำว่า lipid ที่แปลเป็นไทยว่าไขมันเหมือนกัน แต่ความหมายแตกต่างเพราะ lipid คือสารประกอบเคมีที่มีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำในที่นี้จึงหมายถึง สารประกอบประเภทไขมันที่ละลายล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด คนละอย่าง คนละส่วนกันกับไขมันใต้ผิวหนัง

ดังนั้น คนผอมที่เรามองเห็น คือ คนที่มีไขมัน (fat) ในร่างกายน้อยในขณะที่คนอวบ (ไม่ใช้คำว่าอ้วน เดี๋ยวสะเทือนใจใคร) คือ คนที่มีไขมัน (fat) ใต้ผิวหนังพอกพูนอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าของแบบนี้ดูจากภายนอกก็รู้ว่าใครมีไขมันน้อย ไขมันมาก และไขมันมากๆๆ เป็นต้น

 แต่พอพูดถึงไขมัน (lipid) ในเลือดแล้วดูจากภายนอกไม่มีใครบอกได้อย่างถูกต้องแน่นอนว่าใครไขมันในเลือดสูงหรือต่ำไม่ว่าจะดูคนผอมหรือคนอ้วน นอกจากคนนั้นจะมีดวงตาวิเศษเสมือนห้องปฏิบัติการมองทะลุทะลวงแล้ววัดระดับไขมันในเลือดได้ (เจอที่ไหนบอกด้วยหมอจะจ้างมาไว้หน้าห้องตรวจไม่ต้องเจาะเลือดไม่เปลืองค่าแล็บ)

ด้วยคำอธิบายที่แสนจะง่ายดังกล่าวคุณก็คงเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่ว่าจะผอมหรืออวบระดับไขมันในเลือดก็อาจจะสูงหรือปกติก็ได้เพียงแต่คนที่อวบกว่ามีโอกาสที่จะมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าคนผอมเท่านั้นเอง แต่พอเกิดเหตุกรณีแบบนี้ขึ้นมา

คนผอมไขมันในเลือดสูง  , คนนอวบ(อ้วน)ไขมันในเลือดปกติ  , คนชอบกินอาหารมันๆ ไม่เห็นจะอวบ(อ้วน) แถมไขมันในเลือดก็ไม่สูง

 ก็จะสร้างความคลางแคลงใจให้กับคนผอมและสร้างความโล่งใจปนฮึกเหิม (ในทางที่ผิด) ให้กับคนอวบกล่าวคือ คนผอมจะเฝ้าถามตัวเองว่า “มันสูงได้ยังไง (กันฟะ)?” คนอวบก็จะบอกตัวเองว่า “รอดแล้วตู ไขมันไม่สูง หลังจากนี้ก็โซ้ยแหลกได้ สบายใจจริง...”

 เรามาปรับความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า

   ไขมันที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดมีสองชนิดที่ควรรู้จักคือ คอเลสเตอรอล กับ ไตรกลีเซอไรด์คอเลสเตอรอลจะผูกสมัครรักใคร่กับโปรตีนจับกันเป็นอนุภาคเล็กๆ เรียกว่า ไลโปโปรตีน แบ่งเป็นหลายชนิดขึ้นกับอัตราส่วนของปริมาณคอเลสเตอรอลกับโปรตีนในแต่ละอนุภาค :

Low density lipoprotein (LDL) ที่เรียกกันว่า คอเลสเตอรอลที่ไม่ดี/ที่ร้าย/ที่เลว
แล้วแต่จะเรียกที่ถูกตราหน้าเช่นนี้เพราะไขมันตัวนี้แหละที่ไปเกาะตามผนังหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำให้หลอดเลือดตีบตัน

High density lipoprotein (HDL) ตรงกันข้ามตัวนี้เรียกกันว่า คอเลสเตอรอลที่ดี/ที่แสนดี อะไรก็ว่ากันไปเพราะช่วยขัดขวางไม่ให้ LDL ที่ชั่วร้ายมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดเป็นจอมยุทธฝ่ายธรรมะนั่นเอง ดังนั้นใครที่มีระดับ HDL ต่ำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่ายเช่นกัน

Very low density lipoprotein (VLDL) เป็นฝ่ายอธรรมเช่นกัน แถมยังสร้างพันธมิตรกับเจ้าไตรกลีเซอไรด์ ตัวร้ายอีกตัว

ส่วนไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งและอย่างที่บอก VLDL จะเป็นตัวพาไตรกลีเซอไรด์ให้ล่องลอยไปในเลือด สร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดและอวัยวะเช่นกัน

เวลาตรวจเลือดเราก็มักจะได้รับผล คอเลสเตอรอลรวม ที่เกณฑ์ทั่วไปไม่ควรเกิน 200 มก/ดล. นั่นล่ะค่ะ ซึ่งก็คือ เป็นระดับของ LDL, HDL, และ VLDL รวมกันส่วนไตรกลีเซอไรด์ก็ต่างหากเกณฑ์ทั่วไปไม่ควรเกิน 150 มก./ดล. แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ตายตัวเท่ากันทุกคนนะคะ ถ้ามีโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง ฯลฯ ร่วมด้วยแล้ว เกณฑ์ของระดับไขมันในเลือดที่ต้องควบคุมก็จะต้องต่ำกว่านี้

 ขณะเดียวกัน คนทั่วไปมักจะรู้สึกว่าคอเลสเตอรอลเป็นตัวโกงประจำเรื่องเสียทุกทีไป แล้วทำไมตับของเราจึงต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยในเมื่อมันเป็นผู้ร้าย? เหตุผลก็คือ ร่างกายต้องการคอเลสเตอรอลจำนวนหนึ่งเพื่อใช้สร้างฮอร์โมนที่จำเป็น ใช้สร้างกรดน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมันที่เรากินเข้าไปและช่วยในการสร้างวิตามินดียังไงเราก็ขาดคอเลสเตอรอลไม่ได้แต่ปัญหาคือ เรามักจะมีมันมากเกินความต้องการ

 ไขมันในเลือดเหล่านี้มาจากไหน? จำง่ายๆ ค่ะ หนึ่ง สร้างจากตับของเราเอง (ประมาณร้อยละ 80 เชียวนะคะ) สอง เรากินเข้าไป (อีกประมาณร้อยละ 20) ดังนั้นไขมันในเลือดจะสูงได้ก็จากเหตุผลทั้งสองประการดังกล่าวคือ ตับของเราสร้างไขมันออกมาสู่กระแสเลือดมากเกินไปหรือเรากินอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้หมด หรือ ทั้งสองเหตุผลร่วมกันเลยก็ได้

........คนอวบอาจจะไม่ติดใจสงสัยเท่าไรนัก ตราบใดที่เธอยังมีความสุขกับการกินของเธอได้โดยที่ผลที่ได้จากการตรวจเลือดออกมาเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามเธอก็ควรตระหนักเอาไว้บ้างว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดคือ.........

- อาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัว หรือคอเลสเตอรอลปริมาณสูงไม่ว่าจะผอมเป็นนางแบบหรืออวบแบบราชินีช้าง กินเข้าไปมากๆ ร่างกายเผาผลาญไม่หมด ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็นิดเดียวทีนี้ก็สะสม เจาะเลือดตรวจทีไรคอเลสเตอรอลก็สูงลอยเกิน 200 ทุกทีไป ส่วนอาหารที่มีแคลอรีสูงไขมันท่วมท้นน้ำตาลหวานๆ รวมทั้งแอลกอฮอล์ (กระทบใจดำใครบางคนแน่ๆ) ถ้าลืมตัวกินจนเพลินร่างกายจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นไตรกลีเซอไรด์ที่ทั้งลอยอยู่ในกระแสเลือดและถูกนำไปเก็บไว้ในเซลไขมันทั่วร่างกายไว้เป็นพลังงานสะสมหากแต่คนไม่ใช่หมีที่ต้องจำศีลตลอดฤดูหนาวไขมันสะสมเหล่านี้จึงไม่จำเป็นสำหรับเราเลย

- น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก็จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวและไตรกลีเซอไรด์สูง ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดดีก็จะต่ำได้

- กิจกรรมประจำวันและการออกกำลังกายคนที่วันๆ เอาแต่ออกกำลังกายด้วยการเดินไปมา ระหว่างตู้เย็น-หน้าจอทีวี-โต๊ะกินข้าว-เก้าอี้เอนนอนย่อมมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าคนที่ทำงานใช้แรงงานแน่ๆ แม้ว่าคนกลุ่มหลังจะรับประทานอาหารปริมาณมากหรืออาหารนั้นมีไขมันสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดก็ตามและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็เป็นวิธีหลักวิธีหนึ่งในการลดระดับไขมันในเลือด โดยจะลดคอเลสเตอรอลตัวร้ายหรือ LDL รวมทั้งไตรกลีเซอไรด์ และจะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี HDL ได้ระดับหนึ่ง

- อายุ และเพศ เมื่ออายุเยอะขึ้น ระบบเผาผลาญของร่างกายลดลงตามวัยน้ำหนักเพิ่มง่ายขึ้น ระดับไขมันในเลือดก็มีแนวโน้มที่จะสูงตามยิ่งอยู่ดีกินดีลูกหลานเลี้ยงดูสุขสบายโอกาสที่ไขมันในเลือดจะสูงก็มากขึ้น ขณะเดียวกันสาวๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีระดับไขมันในเลือดต่ำกว่าหนุ่มๆ แต่พอย่างเข้าวัยทองอะไรๆ ก็ไม่เป็นใจถึงตอนนี้สาว(เหลือ)น้อยทั้งหลายก็จะมีระดับไขมันในเลือดสูงได้ทัดเทียมกับฝ่ายชายอย่าไปอิจฉาอุ๋มอิ๋มเลยค่ะ อีกหน่อยพอเธออายุมากขึ้นปัญหาก็จะมารบกวนเธอเป็นชุด นอกจากระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นแล้วเบาหวานเอย ความดันโลหิตสูงเอย โรคข้อเสื่อมอีกมาแน่ๆ ไม่ต้องห่วง

- พันธุกรรม อันนี้สำคัญ ถ้าคุณพ่อและ/หรือคุณแม่มีระดับไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะเริ่มสูงตั้งแต่อายุ (ของพ่อแม่) ยังน้อย คุณลูกทั้งหลายก็มีโอกาสได้รับมรดกตกทอดนี้ด้วย (รู้อย่างนี้ขอเปลี่ยนเป็นมรดกที่ดินดีกว่า) อธิบายจากกลไกของยีน (ที่ต้องถือว่าเป็นยีนผิดปกติตัวหนึ่ง) ที่ควบคุมการสร้างไขมันในตับนั่นเอง

 อย่าสับสนเชียวนะคะปัจจัยแต่ละข้อก็ส่งผลมากน้อยแตกต่างไปในคนแต่ละคนค่ะ ดังนั้นคนอวบอ้วนอาจจะมีไขมันในเลือดไม่สูงหรือทั้งอวบทั้งสูง คนแก่อาจจะไขมันในเลือดต่ำกว่าคนหนุ่มสาว ผู้หญิงแก่อ้วนอาจจะไขมันในเลือดกำลังดีฯลฯ แต่ถ้าจะอธิบายว่าทำไมคนผอมจึงมีไขมันในเลือดสูงก็อาจจะเป็นดังต่อไปนี้ค่ะ คนๆ นั้นอาจมีประวัติครอบครัวที่มีระดับไขมันในเลือดสูงแบบนี้แสดงว่าไขมันที่มากมายนั้นสร้างมาจากตับของเจ้าตัวเองที่ขยันขันแข็งเกินเหตุ เนื่องเพราะยีนที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น ควบคุมให้ตับสร้างไขมันออกมามากเกินความจำเป็นคนผอมคนนั้นอาจจะออกกำลังกายอยู่ประจำหนำซ้ำไม่กินอาหารไขมันสูงเลยก็ได้ แต่มีโรงงานผลิตไขมันอยู่ในตัวเองทำให้ตรวจเลือดแล้วพบว่าสูงคนกลุ่มนี้การควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายอาจจะช่วยลดระดับไขมันได้ไม่มากนักส่วนใหญ่แล้วต้องกินยาที่ไปออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างที่ตับโดยตรง

ในขณะที่คนอวบแม้จะมีไขมันใต้ผิวหนังพอกอยู่จนตัวอวบกลม (ไม่ได้น่าชื่นชมหรอกนะคะ) แต่เธอไม่มียีนที่ผิดปกติตัวที่ว่าตับของเธอสร้างไขมันในปริมาณพอดี แถมกลไกร่างกายเธอยังเผาผลาญอาหารที่กินเข้าไปได้ดีพอควรผลเลือดของเธอวันนี้จึงทำให้เธอสบายใจอยู่โดยคอเลสเตอรอลไม่สูง ส่วนไตรกลีเซอไรด์เริ่มไต่ระดับแต่สุดท้ายแล้วเธอก็ต้องเผชิญปัญหาที่เป็นผลตามมาจากความอวบอ้วนอยู่ดี

สรุปว่า ใครๆ ก็มีไขมันในเลือดสูงได้ไม่เกี่ยงว่าตัวใหญ่ตัวเล็กตัวอวบตัวผอมและถ้าเป็นเช่นนั้นบทจะเกิดโรคที่เป็นผลจากไขมันในเลือดสูงขึ้นมาก็โดนกันถ้วนทั่วไม่เลือกหน้า    ทางที่ดีถ้าตรวจเจอว่าสูงก็จงขวนขวายทำให้มันต่ำลงถ้าตรวจพบว่ายังปกติอยู่ก็อย่าได้ประมาทไขมันในเลือดนี่ละตัวดี(สูง) ขึ้นไม่ยากแถม(ทำให้) ลงลำบาก

ขอบคุณที่มา : พญ.คุณหญิงมัลลิกา วรรณไกรโรจน์  ( อายุรกรรม,อายุรกรรมโรคหัวใจ)rukjai.com/blog

แชร์