กรธ.และ 2 พรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' เห็นร่วมทบทวนชำแหละไพรมารีโหวต

ในหมวด 3 ว่าด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า ระบบไพรมารีโหวต http://winne.ws/n16740

970 ผู้เข้าชม
กรธ.และ 2 พรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' เห็นร่วมทบทวนชำแหละไพรมารีโหวตแหล่งภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

พรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย-กรธ. ยืนยันเห็นแย้งรูปแบบไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งที่ สนช.ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ท้ายที่สุดต้องไปชี้ขาดใน กมธ.วิสามัญ

หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้แก้ไขถ้อยคำสำคัญในหมวด 3 ว่าด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า ระบบไพรมารีโหวต

โดยร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดเพียงว่า พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งใดให้รับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

ฉบับของ สนช. ต่างจาก กรธ.คือ กำหนดผู้ลงสมัครต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกจากตัวแทนพรรคการเมืองก่อน

ขณะที่ฉบับ กรธ. กำหนดเพียงว่าให้เพียงรับฟังความเห็นตัวแทนพรรคการเมือง พร้อมคำนึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

ทำให้เกิดความเห็นแย้งแตกต่างกันระหว่าง กรธ.  สนช.  กกต. รวมไปถึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่สองพรรคและพรรคการเมืองขนาดกลาง

กรธ.และ 2 พรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' เห็นร่วมทบทวนชำแหละไพรมารีโหวตแหล่งภาพจาก สำนักข่าวทีนิวส์

'มีชัย'ชี้ไพรมารีโหวตส่อขัด รธน.

โดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ.ท้วงติงไปถึงการใช้ระบบดังกล่าวในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งว่าอาจมีผลทำให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติของพรรคการเมืองซึ่งมีผลต่อการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการที่ กกต.จะต้องเป็นผู้ให้ใบเหลือง ใบแดง กรณีมีการร้องเรียนว่ากระบวนการไพรมารีโหวตไม่มีความถูกต้อง

นายมีชัย ยังมองว่า อาจจะส่งให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้ จนทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา ถ้าเป็นเช่นนี้จะมีผลทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

'สมชัย' รับปฏิบัติยาก พร้อมทำตามกฎหมาย

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าการคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ และมองว่าพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กคงไม่ต้องการทำไพรมารีโหวต เพราะไม่มีสาขาพรรคทุกจังหวัด อีกทั้งสมาชิกพรรคก็ไม่พอ  ขณะที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีผลทำให้ลดทอนอำนาจของเจ้าของพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคในส่วนกลาง 

แม้ สนช.จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวให้เดินหน้าจัดทำไพรมารีโหวต แต่ "สมชัย"ก็ออกตัวว่า กกต.พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แม้การปฏิบัติจะยากลำบาก

ด้านความเห็นของพรรคการเมืองก็ทักท้วงถึงระบบดังกล่าว โดยส่งความเห็นไปยัง กรธ.และฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวน

กรธ.และ 2 พรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' เห็นร่วมทบทวนชำแหละไพรมารีโหวตแหล่งภาพจาก Pantip

'อภิสิทธิ์'หวั่นไพรมารีโหวตถูกร้องไม่โปร่งใส

เริ่มด้วยท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคทำจดหมายเปิดผนึกถึง กรธ.ประกอบการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง โดยย้ำว่า การลงคะแนนเบื้องต้นหรือไพรมารีโหวตนั้นย่อมมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการร้องเรียนถึงความชอบของความถูกต้องของกระบวนการความสุจริตเที่ยงธรรมในการลงคะแนน 

"หากยืนยันในการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นก็ควรให้ กกต.และรัฐให้การสนับสนุนตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้งการดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศสามารถลงคะแนนได้อย่างสะดวก" นายอภิสิทธิ์  

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังเสนอด้วยว่าควรยกเลิกการใช้ระบบลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในการจัดลำดับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวต้องมีความหลากหลายในเรื่องภาพสัดส่วนหญิงชายแทน

กรธ.และ 2 พรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' เห็นร่วมทบทวนชำแหละไพรมารีโหวตแหล่งภาพจาก Nation

'เพื่อไทย'ท้วงเสียเวลาไม่ทันรับสมัครเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ทำหนังสือถึงประธาน กรธ. ขอให้พิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยชี้ว่า ระบบไพรมารีโหวต มีกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง เพราะผู้สมัครต้องดำเนินการโดยสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดทุกแห่ง อาจทำให้เกิดปัญหาที่พรรคสรรหาผู้สมัครได้ไม่ทันกำหนดเวลารับสมัครของ กกต.

รวมทั้งอาจมีกรณีร้องเรียนว่าผู้สมัครไม่ได้รับการสรรหาที่ถูกต้อง  ซึ่ง กกต.อาจพิจารณาไม่รับผู้นั้นเป็นผู้สมัครทำให้พรรคต้องเสียโอกาสในการส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 

พรรคเพื่อไทยยังเห็นด้วยกับหลักการเดิมของ กรธ. เพราะมีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

เหล่านี้เป็นเพียงความเห็นของพรรคการเมือง เพราะท้ายที่สุด เมื่อ กรธ.เห็นแย้ง ก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่วมกันระหว่าง กกต. สนช. และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย


อ่านเพิ่มเติม - จดหมายเปิดผนึก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย

ที่มา: http://news.voicetv.co.th/thailand/502471.html

แชร์