พ.ร.บ.ยาสูบ กับ สังคมไทย

พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว... จะมีส่วนทำให้ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่...ปัญหาการสูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาทจะลดลงหรือไม่ http://winne.ws/n16936

991 ผู้เข้าชม
พ.ร.บ.ยาสูบ กับ สังคมไทยภาพ : nekuru.com

พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป นับว่า เป็นการออกกฎหมายมาบังคับใช้เกี่ยวกับ การขาย การบริโภค หรือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก กฎหมายฉบับแรก พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ออกมา เมื่อ 25 ปีก่อน 

ทั้งนี้ สาระสำคัญข้อบังคับทั้งคนขายและ คนสูบต้องรู้  สามารถดูรายละเอียดได้  ใน “พ.ร.บ.ยาสูบ เริ่มใช้ 4 ก.ค.นี้ สูบบุหรี่ผิดที่ปรับ 5,000 บาท” 

จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของ ข้อกฎหมาย ควบคุมบุหรี่ ครั้งนี้ มีความเข้มข้นมากขึ้น  เป็นนัยว่า จะต้องขจัดหรือลดการสูบบุหรี่ของคนไทยลงไปให้ได้   เป็นการใช้กฎหมายซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีความรุนแรงเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เพราะ มีสภาพบังคับให้กระทำหรือไม่กระทำตามกฎหมาย  ซึ่งมีโทษสำหรับผู้กระทำความผิดกำกับไว้ด้วย

 การที่รัฐ ออกกฎหมายที่รุนแรงขึ้น นั้นสะท้อนอะไรออกมาได้บ้าง..?   ตามความเข้าใจทั่วไปนั้นย่อมต้องหมายความว่า ปัญหามีความรุนแรงขึ้นใช่หรือไม่...?  เพราะ หากปัญหาลดลงมากอย่างเป็นนัยสำคัญ รัฐจะออกกฎหมายที่เข้มขึ้นมาแก้ไขทำไม..? 

และเมื่อลองค้นหา สืบเสาะดูข้อมูลข่าวสารดู  เหตุผลที่ออกกฎหมายใหม่ย้ำชัดว่า “ ทั้งนี้ ปัญหาการบริโภคยาสูบเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของประชาชนทำให้ป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร โดยคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงถึงปีละกว่า 5 หมื่นคน นอกจากนี้กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ยังทำให้นักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเป็นผู้เสพติดไปตลอดชีวิต รวมทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคเสพติดยาสูบ ทำให้สูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการสูบบุหรี่ สูงถึง 74,884 ล้านบาท”

คำถามที่น่าฉงน ดังที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ....แล้ว งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อให้องค์กรบางองค์กรทำหน้าที่หยุดยับยั้ง ไม่ให้เกิดสิงห์อมควัน  ลดจำนวนสิงห์อมควัน ในสัดส่วนต่อปีไม่ใช่น้อย คือ ตามกฎหมายจัดสรรให้ ในอัตรา 2 % ของรายได้จากภาษีที่จัดเก็บจากบุหรี่ ตกปี ละเป็นพันล้าน  การดำเนินการขององค์กรนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด...?

มีการยกถึงการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ชี้ถึงแนวโน้มว่า การสูบบุหรี่มีสัดส่วนลดลง   “โดย เมื่อปี 2534 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 38.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีคนสูบบุหรี่ 12.3 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจล่าสุด ปี 2558 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มเป็น 56.1ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นั่นคือ จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคนในระหว่างปี2534 - 2558ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน นั่นคือลดลงจาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534 ลดไป 1.4 ล้านคน”

สรุปว่า 23 ปี นับตั้งแต่ออกกฎหมายฉบับแรก สามารถลดจำนวนผู้สูบลงไปได้ 1.4 ล้านคน  เท่ากับเฉลี่ย 1 ปี นับตั้งแต่ออกกฎหมาย จัดสรรงบประมาณมารณรงค์ สามารถลดสิงห์อมควันลงได้  60,869.5  คน 

แล้วทำไมยังต้องออกกฎหมายที่มีความเข้มข้นออกมาอีก..?  เหตุผลในการออกกฎหมายทำไมถึงกล่าวอ้างว่า  ….นักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเป็นผู้เสพติดไปตลอดชีวิต …

ตามตรรกะที่ว่า มีผู้สูบบุหรี่ลดลง นั้น  สิ่งที่สะท้อนได้ส่วนหนึ่งควบคู่ไปกับการสำรวจฯก็คือ  เม็ดเงินจากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในแต่ละปี     หากมองย้อนกลับไปใน 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากยาสูบเป็นดังนี้

พ.ร.บ.ยาสูบ กับ สังคมไทย

จากตัวเลขจัดเก็บภาษี จะเห็นว่าทิศทางมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นในทุกปี  โดยปี 2556 ตัวเลขจัดเก็บมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นสูงเนื่องจาก มีการปรับอัตราภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น  ส่งผลให้ ปีต่อมา มีการจัดเก็บต่ำลง โดยเอกสารของ สศค.ระบุว่า เพราะ นักสูบหันไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกลง  แต่ ตามตัวเลขจะเห็นได้ว่า การจัดเก็บมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทุกปี  จนปี 2559  รายได้ขึ้นมาจนเกือบเท่ากับ รายได้ที่มีจำนวนสูงในปีที่ประกาศเพิ่มอัตราภาษีขึ้น ในปี 2556

ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนออกมาจากตัวเลขรายได้จากภาษีบุหรี่ จึงน่าฉงน  รายได้เพิ่มขึ้น สัดส่วนเม็ดเงินที่จัดสรรในอัตรา 2 % เพื่อไปรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ก็เพิ่มขึ้น  แต่แล้ว รายได้จากภาษีบุหรี่ก็ยังเพิ่มขึ้น....? 

วันนี้  พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว... จะมีส่วนทำให้ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่...ปัญหาการสูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาทจะลดลงหรือไม่ ต้องรอติดตามผลกันต่อไป

ที่มา : http://news.sanook.com/2661518/ ,เปลวไฟน้อย

แชร์