คำถาม"เงินทอนวัด"เงินร้อนของใครกัน ?

จากการติดตามข่าวปัญหาเงินทอนวัดที่ข้าราชการทำผิดแต่มาโยนความผิดให้พระสงฆ์ ทำให้มีคำถามตามมา 3 ประการ http://winne.ws/n17272

884 ผู้เข้าชม

จากการติดตามข่าวปัญหาเงินทอนวัดที่ข้าราชการทำผิดแต่มาโยนความผิดให้พระสงฆ์ ทำให้มีคำถามตามมา 3 ประการ  

1. กรณีปัญหาเงินทอนวัด ผู้เสียหายตามกฎหมายในเรื่องนี้เป็นใครได้บ้าง ชาวพุทธซึ่งเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาถือเป็นผู้เสียหายโดยตรงได้ด้วยหรือไม่ 

2. ที่ดินและทรัพย์สินของวัดหลายแห่ง เดิมทีเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ยกให้แก่วัดตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนมาถึงยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการทำโฉนดแยกออกจากที่ดินหลวงอย่างชัดเจน และมอบหมายให้ส่วนราชการเป็นผู้ดูแลแทนพระองค์ กรณีปัญหาเงินทอนวัดถือเป็นการใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบหรือไม่ 

3. ศาสนสมบัติกลางที่อยู่ในวัด ถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินส่วนพระมหากษตัริย์ กรณีปัญหาเงินทอนที่เกิดขึ้นกับศาสนสมบัติกลางที่อยู่ในวัดนั้น ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ 

จากคำถามสามข้อนี้ ทำให้นำไปสู่การค้นคว้าจากเอกสาร 2 เล่ม คือ 1) คู่มือการดูแลศาสนสมบัติสถานของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ 2) เอกสารเรื่องทรัพย์สินของแผ่นดินของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการยุติธรรม สำนักงานยุติธรรม ได้ข้อมูลมาดังนี้ 

[1] ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 มาตรา 33 ได้จัดหมวดหมู่ทรัพย์สินของวัด โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน โดยบัญญัติถึง

1. ที่วัด และที่ซึ่งขึ้นต่อวัด ดังนี้ คือ

1.1 ที่วัด คือที่ซึ่งตั้ งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

1.2 พื้นที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

1.3 ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ยกผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

2. ศาสนสมบัติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ คือ

2.1 ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของกรมการศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง

2.2 ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง 

โดยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลางให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนการดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติของวัดให้วัดเป็นผู้จัดการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ประกอบด้วย การดูแลจัดการและการจัดหาประโยชน์ในที่วัด ที่พื้นที่ใช้ประโยชน์ และศาสนสมบัติอื่นๆ ของวัด 

[2] มีปัญหาว่าทรัพย์สินทางศาสนาเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกับทรัพย์สินของรัฐหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นว่า

 

1. พระบรมราชโองการรัชกาลที่ 6 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2464 ที่ให้รวบรวมบรรดาที่หลวงในกระทรวงต่างๆ มาขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้ทางกระทรวงการคลังเสียทางเดียวเพื่อปกครองให้เป็นหลักฐานสืบไปนั้น มิได้กำหนดเรื่องที่วัดไว้เลย 

2. ซึ่งเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ รศ. 121 อันเป็นบทบัญญัติใช้บังคับในเวลาที่มีพระกระแสพระบรมราชโองการดังกล่าว ได้แยกที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่วัดร้างออกจากที่ดินในส่วนที่ดินหลวงประเภทอื่นไว้โดยชัดแจ้งแล้ว โดยถือว่าเป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา

3. ฉะนั้น เมื่อความกระแสพระบรมราชโองการฯ ได้กำหนดรวบรวมเฉพาะบรรดาที่ดินของหลวงมาขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้กับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ย่อมต้องไม่รวมถึงที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่วัดร้างแต่ประการใด 

4. สำหรับการคุ้มครองที่ดินวัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่วัดร้างนั้น เมื่อได้มีการจัดร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะกรรมการร่างกฎหมายก็ไม่ได้นำทรัพย์สินของวัดมารวมไว้แต่ประการใด ทั้งนี้อาจจะถือว่าทรัพย์สินประเภทนี้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของประชาชนที่เกิดจากความศรัทธาในศาสนาเป็นสำคัญ มิได้ถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐมาตั้งแต่ต้น 

5. นอกจากนี้วัตถุประสงค์ทรัพย์สินของวัด มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินโดยส่วนรวมอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นประโยชน์แก่บุคคลที่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัตถุประสงค์จำกัดเพื่อศาสนาพุทธเท่านั้น กฎหมายจึงมิได้กำหนดให้ทรัพย์สินประเภทนี้เป็นของรัฐด้วย  

6. แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินวัด ที่ดินธรณีสงฆ์ก็จะได้รับความคุ้มครองพิเศษกว่าทรัพย์สินของเอกชนโดยทั่วๆ ไป เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยหรือศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ กล่าวคือที่ดินวัดหรือธรณีสงฆ์ โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ห้ามยกอายุความขึ้นต่อสู้ หรือไม่อยู่ในการรับผิดแห่งการบังคับคดี

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ คงจะพอเป็นคำตอบของคำถาม 3 ข้อข้างต้นได้ระดับหนึ่ง จึงหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้ผู้รู้มีความชำนาญด้านกฎหมายได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อการปกป้องดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนาและวัด 40,000 แห่งทั่วประเทศเป็นจุดประสงค์สำคัญ

-----------------------------

18 กรกฎาคม 2560

16.30 น.

.

เอกสารอ้างอิง : 

[1] คู่มือการดูแลรักษาศาสนสถาน ฉบับปรับปรุงแก้ไข พุทธศักราช 2559 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

http://www.crownproperty.or.th/public/upload/media/Recommended%20Books/59-06-042_001-32672dpi_1.pdf

[2] ทรัพย์สินของแผ่นดิน : ศึกษากรณีปัญหาการได้มาและระงับสิ้นไปเกี่ยวกับที่ดินวัด โดยนางเมตตา ท้าวสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม

http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2557_13_19.pdf

[3] เครดิตภาพ : http://www.thousandwonders.net/Wat+Benchamabophit


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

https://m.facebook.com/photo.php?fbid=1692511794110949&id=100000564350128&set=a.1681732288522233.1073741831.100000564350128

คำถาม"เงินทอนวัด"เงินร้อนของใครกัน ?
แชร์