ญี่ปุ่นจะดันเมียนมา...ทวงแชมป์ส่งออกข้าว?

คนไทยจำนวนมากไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เมียนมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก และตอนนี้ เมียนมากำลังพยายามกลับมาทวงบัลลังก์ โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าไปช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าว http://winne.ws/n17328

1.1 พัน ผู้เข้าชม
ญี่ปุ่นจะดันเมียนมา...ทวงแชมป์ส่งออกข้าว?

สถิติการส่งออกข้าวของโลกในปัจจุบัน สถิติปี 2016 จากเว็บไซต์ WorldTopExports ระบุว่าผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกคืออินเดีย ตามด้วยไทย สหรัฐฯ เวียดนาม และปากีสถาน ไม่มีเมียนมาอยู่ใน 15 อันดับแรกของผู้ส่งออกข้าว แต่ถ้ามาดูสถิติของ USDA หรือกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ พบว่าประเทศผู้ผลิตข้าวอันดับต้นๆของโลก มีเมียนมารวมอยู่ด้วย โดยอยู่ในอันดับ 7 รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เวียดนาม และไทย โดยเทียบกันแล้ว ไทยผลิตข้าวได้ 18 ล้านตันต่อปี ส่วนเมียนมาผลิตได้ 12 ล้านตันต่อไป ถือว่าห่างกันไม่มากนัก เมื่อเทียบกับศักยภาพของไทยที่เหนือกว่าเมียนมาในทุกทาง โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมข้าว

สหพันธ์ข้าวเมียนมาเปิดเผยว่า ปัจจุบัน เมียนมาพยายามจะทวงคืนตำแหน่งผู้นำของอาเซียนด้านการส่งออกข้าว โดยตั้งเป้าว่าจะส่งออกข้าว 2 ล้านตันช่วงปี 2017 - 2018 จากปัจจุบันที่เมียนมาส่งออกข้าวปริมาณ 1.5 - 2 ล้านตันต่อปี และยังประเมินว่าภายในปี 2020 จะมีการส่งออกข้างมากถึง 4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบัน ถือเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานอย่างมาก แต่ก็มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากในปี 2011 เมียนมาส่งออกข้าวไม่ถึง 1 ล้านตัน แต่กลับขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีจนส่งออกได้ 2 ล้านตัน มากขึ้น 2 เท่าในเวลา 6 ปี

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังประเมินว่าอุตสาหกรรมข้าวในเมียนมามีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากจีนต้องการนำเข้าข้าวพม่าจำนวนมหาศาล และสหภาพยุโรปก็ให้สิทธิยกเว้นภาษีแก่สินค้าจากเมียนมา ทำให้ข้าวพม่าสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดยุโรปได้อย่างสูสีหรือแม้แต่ได้ เปรียบเพื่อนบ้านอย่างไทย

ญี่ปุ่นจะดันเมียนมา...ทวงแชมป์ส่งออกข้าว?

แต่การบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาดเป็นเรื่องยาก ทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา และปริมาณ เพราะแม้เมียนมาจะมีข้าวหลายสายพันธุ์ แต่ประเทศผู้นำเข้าข้าวไม่พอใจกับคุณภาพข้าวของเมียนมา หรือหากมีข้าวที่ได้มาตรฐานในการส่งออก แต่การจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ค่อยดีนัก ทั้งเรื่องการบำรุงรักษาถนน คลองชลประทาน และโรงสีข้าว

นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของเมียนมาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งธุรกิจส่งออกข้าวของเมียนมา โดยที่ผ่านมา หน่วยงานเกษตรกรรมและการวิจัยทางการเกษตร ยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ราคาข้าวในเมียนมาก็มีราคาสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้เกิดปรากฏการณ์การนำเข้าข้าวจากจีนมาขาย กลายเป็นการบ่อนทำลายและขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมียนมามีตัวช่วยที่ทรงอิทธิพลเข้ามากระตุ้นอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA จะเข้าไปลงทุนในโครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเมียนมาร่วมกับหน่วยงานเกษตรกรรม และการวิจัยทางการเกษตรเมียนมาเป็นเวลา 5 ปีตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2017 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023เพื่อแก้ปัญหาที่เมียนมาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ แม้จะมีนาข้าวมากถึง 43 ล้านไร่ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี

โครงการ นี้จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพในพื้นที่ 26 เขตในภูมิภาคอิรวดี และอีก 7 เขตในภูมิภาคสะกายน์ ทั้งเรื่องการผลิต ขยายพันธุ์ แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ และการส่งเสริมการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับข้าวพม่าให้มีคุณภาพดี และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จึงน่าจับตามองว่าข้าวสายพันธุ์ใหม่ของเมียนมา ที่จะส่งออกกขายในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้าน จากค่าแรงที่ถูกกว่าและการยกเว้นภาษี จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมส่งออกข้าวของโลก ที่ไทยและเวียดนามแข่งขันกันอยู่อย่างหนักได้หรือไม่



ขอบคุณข้อมูลจากhttp://news.voicetv.co.th/world/508630.html

แชร์