เปลี่ยน 9 ไลฟ์สไตล์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

สิ่งที่ดีต่อสุขภาพหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลัง ควบคุมน้ำหนัก การควบคุมความดันโลหิต และรักษาโรคเบาหวาน จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อมได้ เช่นเดียวกับการลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง http://winne.ws/n17402

872 ผู้เข้าชม

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ หากคนเราหันมาดูแลสมองกันมากขึ้น

               ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในระดับสากล ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเดอะ แลนเซท ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ หากคนเราหันมาดูแลสมองกันมากขึ้น

               รายงานผลการศึกษาดังกล่าว กำลังถูกนำเสนอต่อที่ประชุมโรคอัลไซเมอร์นานาชาติ Alzheimer's Association International Conference ในกรุงลอนดอน ระบุปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมไว้ 9 ข้อ ในจำนวนนี้คือการขาดการศึกษา การสูญเสียการได้ยิน การสูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย

               ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 47 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 131 ล้านคน

               ศ.กิลล์ ลิฟวิงสตัน จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน หัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานกล่าวว่า แม้ภาวะสมองเสื่อมมักถูกตรวจพบในผู้ที่มีอายุมาก แต่ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงในสมองพัฒนาขึ้นหลายปีก่อนหน้านั้น การลงมือทำตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัวดีขึ้นได้ และจะช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตของสังคมด้วย

               รายงานฉบับนี้เขียนขึ้นจากการรวบรวมผลงานวิจัยและศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ 24 ฉบับจากทั่วโลกได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิต มีบทบาทหลักในการเพิ่ม หรือลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อมได้

ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีผลต่อความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม แค่ไหน?    

               -   ภาวะสูญเสียการได้ยิน 9% 

               -   เรียนไม่จบมัธยม 8%      

               -   การสูบบุหรี่ 5%        

               -   ภาวะซึมเศร้า 4%         

               -   การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย 3%          

               -   การตัดขาดจากสังคม 2%          

               -   ภาวะความดันโลหิตสูง 2%       

               -   โรคอ้วน 1%          

               -   โรคเบาหวานชนิดที่สอง 1%       

               -   ปัจจัยเสี่ยงซึ่งเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ รวมแล้วคิดเป็น 35% ส่วนปัจจัยเสี่ยง                         อีก 65% อยู่นอกเหนือการควบคุม


"คลังการรับรู้"

               รายงานยังศึกษาประโยชน์ที่เกิดจากการสร้าง "คลังการรับรู้" หมายถึงการเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายการรับรู้ในสมอง เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ในช่วงที่ผู้ป่วยอายุมากขึ้น แม้มีสมองบางส่วนได้รับความเสียหายก็ตาม

               ผลการศึกษาที่ชี้ว่าการเรียนไม่จบมัธยมเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอันดับต้นๆ ทำให้ผู้เขียนรายงาน เสนอแนวคิดที่ว่าการพยายามเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต จะมีโอกาสสร้างคลังการรับรู้ได้มากขึ้น

               อีกปัจจัยเสี่ยงคือการสูญเสียการได้ยินในช่วงวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้การรับรู้ลดลง และนำไปสู่การถูกโดดเดี่ยวจากสังคม รวมถึงภาวะซึมเศร้าได้

               นอกจากนี้ สาระสำคัญของรายงานยังรวมถึงข้อคิดที่ว่า สิ่งที่ดีต่อสุขภาพหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลัง ควบคุมน้ำหนัก การควบคุมความดันโลหิต และรักษาโรคเบาหวาน จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อมได้ เช่นเดียวกับการลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง

ที่มา         :         คณะกรรมการป้องกันภาวะสมองเสื่อม การช่วยเหลือแต่เริ่มแรก และการ                                ดูแลผู้ป่วย, วารสารแลนเซท (Lancet Commission on dementia                                            prevention, intervention and care)

โดย          :         BBC ไทย         /         20 กรกฎาคม 2560

การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมอง

เปลี่ยน 9 ไลฟ์สไตล์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
เปลี่ยน 9 ไลฟ์สไตล์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
เปลี่ยน 9 ไลฟ์สไตล์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
เปลี่ยน 9 ไลฟ์สไตล์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
แชร์