ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คืออะไร

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน http://winne.ws/n17508

1.0 พัน ผู้เข้าชม

อาการออฟฟิศซินโดรม (office syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานกายภาพบำบัดจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คืออะไร

อาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานที่พบได้บ่อยและสามารถดูแลโดยนักกายภาพบำบัด

กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)

เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)

ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)

กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)

ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De Quervain’s tendonitis)

นิ้วล็อก (trigger finger)

เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)

ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)

หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คืออะไร

-การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

-ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป

-สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม

-สภาพร่างกายที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ภาวะเครียดจากงาน การอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียดปราศจากการผ่อนคลาย

แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม

-การรักษาด้วยยา

-การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง

-การปรับสถานีงาน พื้นที่การทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

-การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม

-การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย

          ความสำคัญของกายภาพบำบัดต่อการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงกรณีที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวันหรือก่อให้เกิดความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

         นักกายภาพบำบัดยังมีหน้าที่ในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมามีอาการเหล่านี้อีก โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินโครงสร้างร่างกายพร้อมปรับแก้โครงสร้างร่างกายให้เกิดความสมดุลและปกติ รวมถึงให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงาน การปรับสภาพแวดล้อมของเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล แนะนำการยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พร้อมรับสภาวะการทำงานที่อาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับออฟฟิศซินโดรมด้วย

เป้าหมายในการดูแลทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม

-ลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ/เอ็นกล้ามเนื้อ

-ลดการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นๆ (immobilization) ด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ รวมถึงถ้ายังจำเป็นต้องใช้งานต่อเนื่องจากภาระงาน

-ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อลด/หลีกเลี่ยงการใช้งานบริเวณที่มีการอักเสบ

-ให้ความรู้ในการแก้ไขปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ได้แก่

        1.การปรับท่าทางให้ถูกต้อง

        2.การปรับหรือแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย

        3. การลดการกดทับของกล้ามเนื้อหรือการหดสั้นของกล้ามเนื้อ

        4.การปรับสภาพแวดล้อมของเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล

        5. การออกกำลังกายเพื่อการป้องกันและส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ

             5.1 การยืดกล้ามเนื้อ

             5.2 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

             5.3 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อและระบบหัวใจและหลอดเลือด

             5.4 การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย

             5.5 การออกกำลังกายเพื่อปรับการทรงท่า (postural correction)

          อย่างไรก็ดี การรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีต่างๆ นั้นเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบหรือรักษาพังผืดในกล้ามเนื้อ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง รวมถึงการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่จะมาบั่นทอนคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร


ที่มา: google.com

แชร์