Grab ประกาศศักดา สกัด Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการสตาร์ทอัพทั่วโลก เพราะล่าสุด Grab แอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร ประกาศการระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ http://winne.ws/n17665

754 ผู้เข้าชม
Grab ประกาศศักดา สกัด Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการสตาร์ทอัพทั่วโลก เพราะล่าสุด Grab แอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร ประกาศการระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Didi Chuxing หรือ “Didi” บริษัทให้บริการรถโดยสารชื่อดังในจีน และ SoftBank บริษัทด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่นได้สำเร็จ และคาดว่าจะระดมทุนเพิ่มได้อีก 500 ล้านดอลลาร์จากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่

เงินก้อนใหญ่นี้จะทำให้มูลค่ากิจการของ Grab เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ หลังจาก Grab ระดมทุนไปได้ 750 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว ขณะที่คู่แข่งตลอดกาลอย่าง Uberซึ่งให้บริการประมาณ 570 เมืองทั่วโลก มีมูลค่ากิจการ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นศึก “ช้างชนช้าง” ระหว่างGrab กับ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการร่วมเดินทาง (ride-sharing) แบบไม่มีใครยอมใคร

Grab ถือกำเนิดจากความคิดของ Anthony Tan นักศึกษาหนุ่มชาวมาเลย์เซียที่ไปเรียนต่อที่ Harvard Business School เขาเห็นปัญหาของการให้บริการแท็กซี่ที่ผู้โดยสารต้องรอเป็นเวลานานและหลายครั้งถูกแท็กซี่ปฏิเสธ จึงร่วมกับ Hooi Ling Tan เพื่อนร่วมคลาส พัฒนาแอพฯ ให้สามารถเรียกแท็กซี่ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยเป็นโมเดลที่ “วิน-วิน” ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ไอเดียนี้สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขัน Harvard Business School Plan Contest 2010 จากนั้น Anthony และ Hooi ก็ทำแอพฯ นี้ต่อ และพัฒนาจนเกิดเป็นแอพฯ MyTeksi ที่มาเลย์เซียในปี 2555

เมื่อรูปแบบการเรียกแท็กซี่ดังกล่าวใช้ได้ผล ประกอบกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเจอปัญหาการเรียกแท็กซี่กันถ้วนหน้า MyTeksi จึงกลายเป็น Grab ให้บริการเรียกแท็กซี่ในหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในไทย ที่ จุฑาศรี คูวินิชกุล เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Anthony เป็นผู้นำเข้ามาให้บริการ ในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก Easy Taxi แอพฯ เรียกแท็กซี่สัญชาติบราซิลก็เข้ามาบุกตลาดเมืองไทย แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องโบกมือลาไปในที่สุด ขณะที่ Grab ยังอยู่ยืนยงมาถึงตอนนี้

ปัจจุบัน Grab ปักธงธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปได้แล้วกว่า 50 เมือง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ มาเลย์เซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า และอินโดนีเซีย (Uber ก็ให้บริการใน 7 ประเทศนี้ด้วยเช่นกัน) โดยมียอดดาวน์โหลดแอพฯ ไปแล้วกว่า 50 ล้านครั้ง มีคนขับที่เข้าร่วมกับ Grab ประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งนอกจากธุรกิจหลักจะเป็นการให้บริการเรียกแท็กซี่ Grab ยังแตกไลน์ให้บริการร่วมเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว (แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นมหากาพย์ในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ Grab และ Uber ต้องเผชิญ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ) มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ชัทเทิล บัส และคาร์พูลในบางประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าวิถีชีวิตและความต้องการใช้งานของแต่ละเมืองเป็นอย่างไร

เป้าหมายสำคัญในภูมิภาคที่ Grab หมายมั่นปั้นมือจะรักษาตลาดให้อยู่หมัดคือ อินโดนีเซีย ที่มีประชากรจำนวนมากและต้องการเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเดินทาง ซึ่ง TechCrunch เว็บไซต์วงในด้านเทคโนโลยี คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการร่วมเดินทางในอินโดนีเซียว่า ในปี 2568 จะมีมูลค่าเกินครึ่งของมูลค่าธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์

สาเหตุที่ว่าทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ต้นปีนี้ Grab ประกาศโครงการลงทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างและพัฒนาระบบให้บริการในอินโดนีเซีย และใช้เงินจำนวนนี้อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์ ไปกับการลงทุนและเข้าซื้อกิจการ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน Grab ก็เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพ Kudo บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาระบบให้บริการชำระเงิน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและต่อยอดการให้บริการในอินโดนีเซีย แต่ Grab ก็คงประมาทไม่ได้ เพราะคู่แข่งในพื้นที่อย่าง Go-Jek ซึ่งให้บริการในรูปแบบคล้ายกันและสามารถระดมทุนไปได้แล้วประมาณ 1.75 พันล้านดอลลาร์ คงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

หันมามองเจ้าบุญทุ่มรายสำคัญอย่าง Didi กันบ้าง บริษัทนี้ก่อตั้งโดย Cheng Wei ในปี 2555 ให้บริการแอพฯ ภาษาจีนสำหรับเรียกแท็กซี่ ลีมูซีน รถบัส ฯลฯ ตอบโจทย์ผู้โดยสารชาวจีนที่ต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทาง ภายในเวลาไม่กี่ปี Didi ก็สามารถโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่วายเจอ Uber มาเป็นคู่แข่งจนได้

Didi ต้องใช้กลยุทธ์ห้ำหั่นราคาและใช้ความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตชาวจีนทำสงครามกับ Uber ท้ายสุด Uber ก็ต้องยอมยกธงขาวและขายกิจการของตัวเองในจีนให้กับ Didi ปัจจุบัน Didi มีผู้ใช้งานเกือบ 400 ล้านคน ใน 400 เมืองทั่วจีน ระดมทุนไปได้แล้วกว่า 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มีมูลค่ากิจการกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวเลขเป็นรองธุรกิจเดียวกันก็แค่ Uber เท่านั้น

ด้าน Uber ซึ่งแม้จะไปได้สวยในหลายประเทศ แต่ก็ต้องเจออุปสรรคเช่นใน อินเดีย ตลาดสำคัญลำดับแรกๆ ของ Uber ในตลาดระดับโลก ที่มีเจ้าถิ่นอย่าง Ola ที่ล่าสุด (27 กรกฎาคมที่ผ่านมา) มีข่าวว่า Tencentบริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากจีน อยู่ในช่วงเจรจาที่จะลงทุน 400 ล้านดอลลาร์ ใน Ola ซึ่งจะทำให้มูลค่ากิจการของ Ola เพิ่มเป็น 4 พันล้านดอลลาร์ และจะช่วยให้แข่งขันกับ Uber ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของ Uber ก็ต้องหาทางดึงความนิยมมาจาก Lyft บริการในรูปแบบคล้ายคลึงกับ Uber ซึ่ง Lyft เพิ่งประกาศไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ว่ามียอดใช้บริการสูงสุด 1 ล้านเที่ยวต่อวัน และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา Lyft ก็มีอัตราการเติบโตแบบ 100% ทุกปี และยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ General Motors บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีกด้วย

Grab ประกาศศักดา สกัด Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โตไกลแบบGrab

  • “บริการที่หลากหลาย” โดยเฉพาะแท็กซี่ ที่ Grab จะช่วยให้คำแนะนำการใช้สมาร์ทโฟนและแอพฯ ให้คนขับ
  • “ช่องทางจ่ายเงิน” โดยรับทั้งเงินสดและบัตรเครดิต เพราะประชากรจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังถนัดใช้เงินสดมากกว่า
  • “จับมือ” กับหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ


ขอบคุณเนื่อหาข่าวจาก : workpointtv. , http://www.workpointtv.com/news/44603

แชร์