“สองท่านเจ้าคุณ”สนทนาธรรมปัญหาร้อน“เงินวัด”กับ“พระสงฆ์”ถวายร้อยใช้ได้ร้อย ถวายล้านใช้ได้ล้าน

หากพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ว่าปัจจัยจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ พระสงฆ์ย่อมมีสิทธิ์ใช้ อีกอย่างองค์กรใดก็ตาม ถ้าไม่มีประโยชน์ต่อสังคม องค์กรนั้นก็จะตายไปเองโดยอัตโนมัติ http://winne.ws/n17825

1.3 พัน ผู้เข้าชม
“สองท่านเจ้าคุณ”สนทนาธรรมปัญหาร้อน“เงินวัด”กับ“พระสงฆ์”ถวายร้อยใช้ได้ร้อย ถวายล้านใช้ได้ล้าน

“พระพุทธศาสนาช่วงนี้ลักษณะเหมือนพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก มีข่าวทุกวันเราไม่เคยไปพูดถึงวัดที่ไม่มีสตางค์ ในต่างจังหวัด บางวัดแม้แต่ค่าน้ำค่าไฟชาวบ้านต้องเรี่ยไรกันออก แล้ววัดที่มีปัญหา ถามว่ามีปัญหาไหมอาตมาไม่เคยปฏิเสธว่าองค์กรใหญ่ไม่มีปัญหา”

“สองท่านเจ้าคุณ”สนทนาธรรมปัญหาร้อน“เงินวัด”กับ“พระสงฆ์”ถวายร้อยใช้ได้ร้อย ถวายล้านใช้ได้ล้าน

คำกล่าวข้างต้นของ“พระราชปริยัติมุนี” หรือ “เจ้าคุณเทียบ (สิริญาโณ)”ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามคงสะท้อนภาพของวงการพระพุทธศาสนาที่กำลังเผชิญกับคำถามจากสังคมได้เป็นอย่างดี

ประเด็นหลักที่สังคมคลางแคลงใจ คือพระสงฆ์จับเงินได้หรือไม่?, เงินที่บริจาคจากญาติโยมเป็นของวัดหรือของพระ?, การบริหารจัดการวัดทำอย่างไรให้โปร่งใส? ฆราวาสควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?

สําหรับประเด็นที่ว่าพระสงฆ์จับเงินได้หรือไม่นั้น

“พระธรรมวรนายก” (โอภาส นิรุตฺติเมธี)พระเถระผู้ใหญ่วัย 84 ปี ที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยาวนานที่สุดในประเทศไทยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลาถึง 38 ปี และเป็นผู้ที่วงการสงฆ์ให้การยอมรับว่ามีความรู้เรื่องหลักศาสนาลึกซึ้งท่านหนึ่ง

“สองท่านเจ้าคุณ”สนทนาธรรมปัญหาร้อน“เงินวัด”กับ“พระสงฆ์”ถวายร้อยใช้ได้ร้อย ถวายล้านใช้ได้ล้าน

อธิบายว่าในทางวินัยการถวายปัจจัยหรือถวายเงินแก่พระสงฆ์ย่อมทำได้ แทนการถวายปัจจัย 4 โดยให้ไวยาวัจกรเป็นผู้รับเก็บไว้เมื่อต้องการจะใช้สิ่งใดก็บอกกล่าวให้ไวยาวัจกรนำเงินไปซื้อหามา

แต่ในกรณีที่สังคมมองว่าพระสงฆ์ไม่ควรมีทรัพย์สินและเมื่อญาติโยมถวายปัจจัยก็ไม่ควรรับนั้นพระธรรมวรนายกมองว่า เป็น “สิ่งที่เกินไป” เพราะถ้าญาติโยมถวายเป็นส่วนตัวปัจจัยส่วนนั้นก็เป็น “ของส่วนตัว” ของพระสงฆ์ ถ้าญาติโยมถวายร้อยก็ใช้ได้ร้อยถวายแสนก็ใช้ได้แสน ถวายล้านก็ใช้ได้ล้าน เพราะเป็นของส่วนตัว

อย่างไรก็ตามในการใช้เงินนั้นก็ต้องนึกถึงสถานภาพของตนเองเช่นกัน การไปเอง ซื้อเองถือเงินไปเป็นฟ่อน ทั้งที่อยู่ในสมณเพศ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

อีกแง่มุมหนึ่งจากคำถามที่ว่าพระสงฆ์รับเงินเหมาะสมหรือไม่ พระราชปริยัติมุนีสะท้อนว่าถ้าจะพูดถึงเรื่องไม่ให้พระสงฆ์รับปัจจัย เวลาพระสงฆ์เดินทาง ขึ้นรถเมล์ขึ้นแท็กซี่ ก็ยังต้องเสียเงินอยู่ หรือบางครั้งเมื่อพระสงฆ์ต้องการของใช้จำเป็นก็ยังต้องซื้อ

ฉะนั้นการถวายปัจจัยของญาติโยมก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ของตนเองโดยไม่ต้องเป็นภาระแก่ญาติโยมในทุกๆ เรื่อง

แต่ถ้าเห็นว่าพระสงฆ์ไม่ควรรับปัจจัยจริงๆเจ้าคุณเทียบมองว่าแบบนั้นก็ควรมีระบบรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นซึ่งจะตัดความจำเป็นในการใช้เงินส่วนนี้ของพระออกไป

พระราชปริยัติมุนียังอธิบายถึงเงินปัจจัยทำบุญที่ญาติโยมนำมาถวายว่าที่สุดแล้วเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ตอบแทนกลับคืนสู่สังคมในรูปแบบสาธารณประโยชน์ต่างๆ

เช่น กรณีของ “หลวงพ่อจรัญ”วัดอัมพวัน สิงห์บุรี หรือ “หลวงพ่อคูณ” วัดบ้านไร่ ที่ประชาชนทราบกันดีว่ามีคนทำบุญกับท่านปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาทแต่ไม่เคยมีใครคลางแคลงใจว่าเงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกเพราะรู้ว่าพระมหาเถระเหล่านั้นนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามในกรณีของพระบางรูปที่รับปัจจัยอย่างเดียว แต่ไม่เคยนำเงินกลับสู่สังคมผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ย่อมมีได้เนื่องด้วยองค์กรศาสนาเป็นองค์กรใหญ่ จะให้พระทุกรูปประพฤติเหมือนกันหมดก็ย่อมยากแต่ทั้งนี้พระประเภทดังกล่าวก็มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น

อีกหนึ่งคำถามใหญ่จากสังคมคือเรื่อง“เงินวัด” ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจากกรณีทั้งเรื่องที่ภาครัฐกำลังตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับ “เงินทอนวัด”รวมถึงการฆาตกรรม “สามเณรปลื้ม” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งและความไม่โปร่งใสเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินภายในวัด

ในมุมมองของพระราชปริยัติมุนีข้อสงสัยที่เกิดขึ้นเป็นการมองไปยังวัดที่มีปัญหาอย่างเดียวแต่ไม่เคยมองถึงวัดที่ไม่มีปัญหาหรือวัดที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างวัดต่างจังหวัดหลายแห่งที่ต้องเรี่ยไรเงินชาวบ้านไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

ส่วนวัดที่มีเงินหรือวัดที่มีปัญหาก็ต้องยอมรับว่าย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา แต่การแก้ปัญหาควรจะทำกับวัดที่เกิดปัญหาไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด

เจ้าคุณเทียบยกตัวอย่างการจัดการเงินภายในวัดโพธิ์ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวจนทำให้มีเงินเข้าวัดเป็นจำนวนมากว่าแม้เจ้าอาวาสจะมีอำนาจสูงสุด แต่วัดมีรูปแบบการบริหารงานอยู่ในรูปคณะกรรมการกรณีที่ต้องมีการเบิกจ่ายเงิน เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร ตัวแทนคณะกรรมการการเงิน 1ท่านจาก 7 ท่าน จะต้องรับทราบพร้อมกัน

เจ้าอาวาสไม่สามารถเซ็นเบิกเงินได้รูปเดียวซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดปัญหาจากระบบดังกล่าวแต่อย่างใด

จากปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายเช่น นายไพบูลย์ นิติตะวันอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ออกกฎหมายเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินวัด

สอดคล้องกับข้อมูลจากผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ระบุว่า เมื่อปี 2559 วัดต่างๆส่งรายงานบัญชีให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถึง 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถ้านำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ก็จะช่วยเพิ่มกลไกตรวจสอบจากภาคประชาชน

ด้านหนึ่งแม้จะมีข้อเสนอต่างๆเพื่อช่วยเพิ่มกลไกการตรวจสอบการบริหารจัดการเงินของวัดให้โปร่งใสแต่ดูเหมือนรูปแบบการบริหารโดยมีคณะกรรมการ ยังคงตอบโจทย์การบริหารจัดการเงินภายในวัดได้อย่างไม่มีปัญหา

ในเรื่องนี้พระธรรมวรนายกอธิบายว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นของวัดต้องบริหารจัดการโดยกรรมการของวัด ซึ่งกรรมการของวัดจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้จำนวนกรรมการควรมีความเหมาะสมกับยอดเงิน แต่ถ้าเป็นกรณีเบิกจ่ายเก็บรักษาแทนเงินวัด ต้องเป็นหน้าที่ของไวยาวัจกรเท่านั้น

ไวยาวัจกรอาจเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของวัดหรือไม่ก็ได้แต่พระธรรมวรนายกเห็นว่าถ้าไวยาวัจกรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยน่าจะสะดวกกว่า

เช่นเดียวกับพระราชปริยัติมุนีที่มองว่าการบริหารจัดการวัด โดยเฉพาะวัดที่มีรายได้มากและเป็นที่จับตาของสังคมควรอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการจะเหมาะสมที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นกรรมการวัดไม่จำเป็นจะต้องมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เข้ามาตรวจสอบ

เจ้าคุณเทียบให้เหตุผลว่ากรรมการหรือไวยาวัจกรที่ผ่านการแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสก็สามารถไว้ใจได้แล้ว และถ้ามัวแต่ไม่ไว้วางใจตรงจุดนี้ ก็จะมีแต่การจ้องจับผิดกัน

อย่างไรก็ดีเพื่อความโปร่งใสและง่ายต่อการตรวจสอบผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แสดงความเห็นว่าระบบบัญชีของวัดใหญ่ๆ ที่มีรายได้เยอะควรจะจัดจ้างนักบัญชีมืออาชีพเข้ามาทำบัญชีให้โดยตรง

ท้ายสุดทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนผ่านมุมมองของพระสงฆ์ผู้กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม

แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เป็นปัญหาที่ก่อตัวและถกเถียงกันมาหลายยุคสมัย

หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนคำกล่าวของพระธรรมวรนายกที่ว่า ถ้าญาติโยมถวายส่วนตัวไม่ว่าปัจจัยจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ พระสงฆ์ย่อมมีสิทธิ์ใช้รวมถึงคำกล่าวจากพระราชปริยัติมุนีที่ว่า องค์กรใดก็ตาม ถ้าไม่มีประโยชน์ต่อสังคมองค์กรนั้นก็จะตายไปเองโดยอัตโนมัติ

อาจแสดงให้เห็นถึงนัยยะแห่งการคลี่คลายตัวของข้อถกเถียงดังกล่าวได้บ้างไม่มากก็น้อย

ที่มา https://www.matichonweekly.com/column/article_47952

แชร์