“แก้วชีวภาพ” ทางเลือกใหม่แก้ไขปัญหากระดูก

วงการแพทย์ในสหราชอาณาจักรกำลังเร่งพัฒนาแก้วชีวภาพ (Bioglass) วัสดุแห่งอนาคตซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนนิ่มยืดหยุ่น สามารถสลายตัวเข้าประสานรอยแตกร้าวและความเสียหายของกระดูกส่วนต่าง ๆ โดยไม่ทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้าน http://winne.ws/n17864

778 ผู้เข้าชม
“แก้วชีวภาพ” ทางเลือกใหม่แก้ไขปัญหากระดูก

วงการแพทย์ในสหราชอาณาจักรกำลังเร่งพัฒนาแก้วชีวภาพ (Bioglass) วัสดุแห่งอนาคตซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนนิ่มยืดหยุ่น สามารถสลายตัวเข้าประสานรอยแตกร้าวและความเสียหายของกระดูกส่วนต่าง ๆ โดยไม่ทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้าน ทั้งยังช่วยฆ่าเชื้อในบาดแผลได้อีกด้วย

ภาควิชาวัสดุศาสตร์ของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กำลังทดสอบใช้งานชิ้นแก้วชีวภาพรุ่นใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกบาศก์ขนาดเล็กที่มีโครงสร้างเป็นตาข่ายโปร่งและมีความยืดหยุ่นสูง โดยทดลองใช้สอดเข้าไปในกระดูกขาส่วนที่เสียหายเพราะแตกหักหรือเกิดโรคที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก เพื่อให้แก้วชีวภาพช่วยยึดไม่ให้กระดูกเคลื่อน รวมทั้งรองรับน้ำหนักแทนกระดูกส่วนที่เสียไป โดยไม่ต้องใช้วัสดุโลหะยึดตรึงจากภายนอก

“แก้วชีวภาพ” ทางเลือกใหม่แก้ไขปัญหากระดูก

นายจูเลียน โจนส์ หนึ่งในคณะผู้พัฒนาแก้วชีวภาพรุ่นล่าสุดบอกว่า วัสดุดังกล่าวจะค่อย ๆ สลายตัวในร่างกายโดยเชื่อมประสานรอยแตกร้าวในกระดูก ซึ่งพบว่าสามารถใช้งานได้แม้แต่ในกรณีที่รักษายากเช่นอาการบาดเจ็บในส่วนกระดูกอ่อน นอกจากนี้ แก้วชีวภาพยังปลดปล่อยโซเดียมไอออนซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อออกมาด้วย ทำให้อาการบาดเจ็บหายเร็วขึ้น

การรักษาด้วยแก้วชีวภาพยังทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวส่วนที่บาดเจ็บได้เร็ว โดยจะกระจายน้ำหนักจากกระดูกส่วนที่เสียหายไปยังกระดูกส่วนอื่น ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างมวลกระดูกใหม่มาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้มีการคิดค้นแก้วชีวภาพขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1969 โดยนายแลร์รี เฮนช์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกเวียดนามที่บาดเจ็บจนต้องสูญเสียแขนขา แต่นายเฮนช์ได้นำงานวิจัยดังกล่าวมาพัฒนาต่อที่กรุงลอนดอน ซึ่งทำให้ต่อมามีการพัฒนานวัตกรรมแก้วชีวภาพขึ้นเพื่อใช้ในวงการแพทย์และทันตกรรมของสหราชอาณาจักร

คณะผู้พัฒนาแก้วชีวภาพที่มีความยืดหยุ่นสูงของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้จะสามารถใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ ออกแบบและพิมพ์ชิ้นส่วนแก้วชีวภาพที่สอดรับกับความต้องการของคนไข้แต่ละคน โดยเป็นวัสดุพร้อมใช้ที่สามารถสอดเข้าไปในกระดูกส่วนที่เสียหายได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะผ่านการทดสอบในระดับคลินิกและพร้อมนำออกใช้กับคนทั่วได้ภายใน 10 ปีนี้


ที่มา http://www.bbc.com/thai/international-40843037?ocid=socialflow_facebook

แชร์