การเปลี่ยนระบบหมายเลขรถเมล์ 269 สาย ดีต่อรถเมล์ไทย อย่างไร ?

15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการทดสอบเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามแผนปฏิรูป ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาพักใหญ่ในเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบหมายเลขและแบ่งโซนสีที่ดูเหมือนจะสร้างความยุ่งยาก ให้กับผู้ใช้บริการรถเมล์มากยิ่งขึ้น http://winne.ws/n18015

827 ผู้เข้าชม
การเปลี่ยนระบบหมายเลขรถเมล์ 269 สาย ดีต่อรถเมล์ไทย อย่างไร ?ภาพ : workpointtv

15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการทดสอบเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามแผนปฏิรูป ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาพักใหญ่ในเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบหมายเลขและแบ่งโซนสีที่ดูเหมือนจะสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้บริการรถเมล์มากยิ่งขึ้น

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแผนปฏิรูปดังกล่าว รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาคุยถึงที่มาที่ไป พร้อมทั้งไขข้อสงสัยในการปรับเปลี่ยนโครงข่ายรถเมล์ครั้งนี้

ใจความสำคัญของการปฏิรูปรถเมล์คืออะไร

ภาพรวมของการปฏิรูปรถเมล์ในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพในการให้บริการรถเมล์ ทั้งในแง่ของการให้ใบอนุญาตประกอบการ การกำกับดูแล และการระบุเส้นทางในการเดินทางหรือเราเรียกว่าเส้นทางโครงข่ายรถเมล์ เมื่อลงมาดูในรายละเอียดปัญหา จะพบว่าในเชิงสิทธิการให้บริการ แต่เดิมมี  ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ทว่า ขสมก. เองไม่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงมีรถร่วมเอกชนเข้ามาให้บริการ

ปัญหาตอนนี้อยู่ที่การกำกับดูแลคุณภาพลงไปไม่ถึงระดับการบริหารจัดการส่วนของรถร่วมเอกชน ประกอบกับลักษณะการวางแผนเส้นทางการบริการ รวมทั้งการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่ผ่านมา ทำให้เกิดสภาวะที่ผู้ให้บริการไม่สามารถทำรายได้เพียงพอที่จะคงไว้ซึ่งคุณภาพที่ดีได้ ประชาชนจึงต้องเป็นผู้รับผลกระทบไป ทั้งเรื่องรถเมล์มาช้า ความไม่ปลอดภัย ไม่สะดวกสบาย

เพิ่ม 269 เส้นทาง ลดปัญหาการทับซ้อน

เมื่อวิเคราะห์โครงข่ายรถเมล์ในปัจจุบันจะพบว่า รถเมล์ไทยมีเส้นทางทับซ้อนเยอะมาก จากการแข่งขันของผู้บริการหลายเจ้า ซึ่งผู้ให้บริการสามารถกำหนดช่วงเวลาบริการเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเหตุการณ์รถเมล์มาซ้ำกันหรือขาดระยะ ได้  อีกส่วนหนึ่งคือการวางเส้นทางที่ยาวไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาลากเส้นทางทับของตัวเอง ส่งผลให้การบริการไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้น เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรที่จะสร้างภาวะในการให้บริการได้ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีวิธีในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มกำไรหรือจัดการเรื่องความแน่นอนในการให้บริการได้บ้าง แต่เส้นที่หายไปมีน้อยมาก เพราะโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ 200 กว่าสาย ตอนนี้เปลี่ยนเป็น 269 เส้นทาง โดยเส้นที่เพิ่มขึ้นมาคือเส้นทางด่วนที่มีตัว E อยู่ข้างหลัง ย่อมาจาก Express way

การเปลี่ยนระบบหมายเลขรถเมล์ 269 สาย ดีต่อรถเมล์ไทย อย่างไร ?ภาพ : workpointtv

หมายเลขรถเมล์ไทยแบบเดิม ไม่มีความหมาย

การกำหนดเลขรถเมล์แบบเดิมจะไม่มีการบ่งชี้ ถึงพื้นที่ให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น รถเมล์สาย 93 กับ สาย 96 แม้ว่าจะเลขใกล้กัน แต่ไม่ได้ให้บริการในโซนที่ใกล้กันเลย อันนี้คือกลุ่มวิธีการกำหนดเลขแบบเก่า ที่กำหนดเลขลำดับการเปิดเส้นทางว่าเส้นไหนมาก่อนมาหลัง เพราะฉะนั้นระบบเก่าเป็นระบบ ที่เหมือนกับอ้างอิงตามรายการบัญชีในการเปิดใช้บริการ แต่ระบบใหม่ ทุกเส้นทางก็จะมีการอ้างอิงถึงพื้นที่หลักหรือโซนในการให้บริการ  

ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เพิ่มความเข้าใจ หรือ สร้างความยุ่งยาก

จากการศึกษาและเก็บของมูล พบว่า ผู้ที่ใช้รถขนส่งมวลชนหรือรถเมล์ มากกว่า 95% มีการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป เพราะฉะนั้น การที่เพิ่มตัวอักษรจึงไม่น่าจะสร้างความซับซ้อนวุ่นวายมากนักในการจำ และถ้าหากใช้เลขเป็นตัวนำหน้าเหมือนกันก็อาจจะทำให้สับสนมากกว่า นอกจากนี้ การใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษจะมีความแตกต่างจากระบบเดิมอย่างชัดเจน ทั้งยังสะดวกต่อผู้ที่ใช้บริการหลากหลายเชื้อชาติอีกด้วย

การแบ่งโซนเป็น4 สี เคยมีแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า

ก่อนหน้านี้ไม่เคยแบ่งเฉดสี แต่แบ่งเป็นเขตการเดินรถ ซึ่งของเดิม ขสมก. มีทั้งหมด 8 เขต ในการปฏิรูปครั้งนี้จึงใช้วิธีควบรวม 2 เขตการเดินรถเป็น 1 โซน แล้วระบุสีแทน ส่วนที่มาที่ไปของสีก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมาก เพราะเป็นแม่สีหลักที่คนคุ้นเคยกันดี มีสีที่ต่างกันชัดเจน คือ แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีความคลาดเคลื่อนหรือสับสนระหว่างสีน้ำตาลกับสีส้มแน่นอน

ทำไมการเปลี่ยนระบบหมายเลขถึงสำคัญกว่าการแก้ปัญหาคุณภาพและบริการ

แผนการปฏิรูปรถเมล์มีไทม์ไลน์และมีนัยสำคัญในการเดินเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนระบบหมายเลขก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิรูปครั้งนี้ เนื่องจากเราดำเนินการเปลี่ยนโครงข่ายเส้นทาง จึงต้องการระบบหมายเลขที่สอดคล้องกับเส้นทางใหม่ด้วย แม้ว่าการปรับเปลี่ยนหมายเลขอาจไม่ได้ทำให้รถเมล์สะอาดหรือคุณภาพดีขึ้น แต่ก็ถือเป็นการบ่งชี้ว่า นี่คือรถเมล์ในกลุ่มเส้นทางใหม่ ที่อยู่ภายใต้ผู้ประกอบการรายใหม่ และถูกกำกับดูแลอย่างชัดเจนโดยกรมการขนส่งทางบก  

การเพิ่มสีและเปลี่ยนเลขสายจะช่วยให้คุณภาพรถเมล์ไทยดีขึ้นจริงหรือ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนระบบหมายเลขไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่จะยกประสิทธิภาพหรือคุณภาพของรถเมล์ขึ้นมาได้ แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการส่งแบบการประเมินผลความสะอาด การให้บริการ และความปลอดภัย ทุกๆ 4 เดือน รวมทั้งส่งข้อมูลตำแหน่งรถและจำนวนผู้โดยสารผ่านระบบไอทีให้กรมการขนส่งทางบกดูแลอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขสมก. เองจะมีเอกชนมาเทียบเคียงเป็น benchmark ด้านมาตรฐาน ทำให้ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพตัวเองตลอด

การเปลี่ยนระบบหมายเลขรถเมล์ 269 สาย ดีต่อรถเมล์ไทย อย่างไร ?ภาพ : รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี workpointtv

“ผมว่าก็เป็นเรื่องดีนะครับที่ตอนนี้ทุกคนสนใจเรื่องรถเมล์ ต้องมองว่า สภาพหรือสภาวะการให้บริการรถเมล์ของกรุงเทพและปริมณฑล ที่เรามีอยู่มันอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ควรจะเป็นมานานแล้ว ถือว่าเป็นข้อดีข้อที่หนึ่งเลย ที่เรามาพูดถึงรถเมล์กัน แต่ผมอยากจะชวนให้มองข้ามความกลัว ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะทุกขั้นตอนผ่านการคิดทบทวนมาอย่างดีแล้ว ไม่ใช่ในบริบทของผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ในมิติของการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากด้วย” 

ขอบคุณภาพและเนื้อหาข่าวจาก : workpointtv, http://www.workpointtv.com/news/47041

แชร์