ทำไม..? คนเรา..ต้อง “พักตับ” ตับทำหน้าที่อะไร ?

องค์การอนามัยโลก ได้ออกมารายงานว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยส่งผลต่อโรค และการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อพูดถึงเรื่องการดื่มเหล้า อวัยวะในร่างกายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “ตับ” เพราะตับเปรียบเสมือนโรงงานกำจัดของเสีย http://winne.ws/n18060

941 ผู้เข้าชม
ทำไม..? คนเรา..ต้อง “พักตับ” ตับทำหน้าที่อะไร ?ขอบคุณภาพจาก : สสส.

ในปี 2559 ที่ผ่านมา สสส.รณรงค์เรื่อง “พักตับ” โดยชี้ให้ประชาชนเห็นถึงโทษและพิษภัยของเหล้าที่กระทบต่อตับที่เป็นอวัยวะสำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกาย ในปี 2560 นี้ ทาง สสส. จึงดำเนินการรณรงค์เรื่องการพักตับในช่วงเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่องในคอนเซป “พักตับ พักต่อ”

องค์การอนามัยโลก ได้ออกมารายงานว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยส่งผลต่อโรค และการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อพูดถึงเรื่องการดื่มเหล้า อวัยวะในร่างกายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “ตับ” เพราะตับเปรียบเสมือนโรงงานกำจัดของเสียในร่างกาย โดยพบว่า เมื่อตับรับแอลกอฮอล์เข้าไปมากเกินกว่าที่จะฟอกได้ แอลกอฮอล์จึงเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ต้องรอจนกว่าตับจะฟอกออกหมด ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า แทนที่ตับจะสามารถกำจัดแอลกอฮอล์ สารเคมีจากแอลกอฮอล์ก็จะทำลายเนื้อตับแทน และมีผลทำให้เกิดไขมันแทรกตับ, ตับอักเสบ, โรคตับแข็ง, หรือพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ เป็นต้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตับเราถูกทำลายไปเท่าไร

ในการตรวจเอนไซม์ตับ จะช่วยให้เรารู้ว่าเซลล์ตับถูกทำลายมากน้อยแค่ไหน โดยมีเอนไซม์ 4 ตัว คือ AST ALT GGL ALP การหาความผิดปกติ จะดูเอนไซม์ AST และ ALT ต้องไม่เกิน 35IU จากการตรวจกลุ่มตัวอย่างคนทำงานในสถานประกอบการ จ. น่าน ซึ่งเป็น จังหวัดที่มีประชากรดื่มสุราเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จากจำนวน 3752 คน อายุ 17-65ปี ระหว่างปี 2556-2558 พบว่า ผู้ชายมีค่าเอนไซม์ตับมากกว่า 35 IU จำนวน 840 คน ส่วนผู้หญิงพบ 59 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง

แต่เมื่อร่างกายได้เข้าระบบปรับพฤติกรรม เพื่อลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว สภาพตับจะดีขึ้น การพักตับ 3 เดือน ในช่วงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้ตับได้ฟื้นฟู และค่าเอนไซม์จะกลับสู่ภาวะปกติ

พักตับ พักต่อ

แนวทางในการรณรงค์งดเหล้าเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมาของภาคีเครือข่าย มีกรอบในการทำงาน 3 ด้านประกอบด้วยด้านการรณรงค์ เช่น การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าตลอดพรรษาและการงดเหล้าตลอดชีวิต มีข้อตกลงใจของบุคคล การจัดกิจกรรมทั้งก่อน ระหว่างและหลังออกพรรษา ด้านการพัฒนาจิตใจ โดยการใช้แนวทางการสนับสนุนทางจิตใจ เช่น แนวทางพุทธ แนวทางแพทย์แผนไทย และแนวทางด้านจิตวิทยา ด้านการสร้างเครือข่าย เช่นการสร้างเครือข่ายคนหัวใจหิน ชมรมคนหัวใจเพชร ในปี 2560 ได้ขยายเครือข่ายสู่ภาคประชาสังคมเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) โดยมียกระดับความร่วมมือและแสวงหาต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคประชาคมเครือข่ายงดเหล้าและระบบสุขภาพระดับอำเภอ

ในปี 2560 นี้ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เดินหน้ารณรงค์ “พักตับ พักต่อ” ชูชุมชนคนสู้เหล้า 2 ประเภท คือ ชมรมคนหัวใจหินและชมรมคนหัวใจเพชร โดยจะมีเวทีสร้างกระแสระดับประเทศ  “เปิดตัวชุมชนอำเภอต้นแบบเลิกเหล้าครบพรรษา และชมรมคนเลิกเหล้านักรณรงค์ (คนหัวใจเพชร)” เพื่อเป็นต้นแบบและกระตุ้นให้คนสามารถเลิกเหล้าได้ รวมไปถึง กิจกรรม “เวทีคนบวชใจงดเหล้าครบพรรษาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” จำนวน 89 คน และตั้งใจเลิกเหล้าต่อเนื่องไปจนถึงวันพ่อ 5 ธค.60 อีกด้วย

เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนงดเหล้าเข้าพรรษา ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 เห็นชอบกำหนดให้ วันเข้าพรรษา เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ สสส. เองก็มีภารกิจในการลดปัจจัยเสี่ยงด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ช่วยรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงอันตรายของการดื่มแอลกอฮอล์ โดยสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ในระดับประเทศเพื่อลดและแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา บุญประเพณีปลอดเหล้า ขับขี่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ ฯลฯ

ขอบคุณคลิปจาก : ThaiHealthMedia , https://www.youtube.com/watch?v=fdXItryPcx0

ขอบคุณเนื้อหาจาก : พัชรี  บอนคำ team content  www.thaihealth.or.th

แชร์